xs
xsm
sm
md
lg

ความสำคัญของ Neutrino ในเอกภพวิทยา ธรณีวิทยา และนิวเคลียร์วิทยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นิวตรีโน (neutrino) เป็นอนุภาคชนิดหนึ่งที่ได้ถือกำเนิดในโลกฟิสิกส์เป็นครั้งแรก เมื่อปี 1930 จากจินตนาการของ Wolfgang Pauli (1900-1958) เจ้าของรางวัลโนเบลฟิสิกส์ ปี 1945 หลังจากที่ได้วิเคราะห์ปรากฏการณ์สลายตัวของอนุภาค neutron ไปเป็นอนุภาค proton กับ electron โดย Pauli ได้พบว่า อนุภาคทั้งสองที่เกิดหลังการเปลี่ยนแปลงของ neutron มีพลังงานทั้งหมด และโมเมนตัมทั้งหมดไม่เท่ากับพลังงานและโมเมนตัมทั้งหมดของ neutron เมื่อเริ่มต้น ซึ่งนั่นก็หมายความว่า พลังงานและโมเมนตัมบางส่วนได้สูญหายไป

การได้ข้อสรุปเช่นนี้เป็นเรื่องร้ายแรงระดับคอขาดบาดตาย เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาหลายร้อยปี กฎทรงพลังงานและกฎทรงโมเมนตัมได้ทรงความเป็นจริง เวลานำไปใช้อธิบายปรากฏการณ์ทุกปรากฏการณ์ที่เกิดในธรรมชาติ ดังนั้นถ้าในการสลายตัวของ neutron กฎทรงพลังงานและกฎทรงโมเมนตัมไม่เป็นจริงอีกต่อไป นั่นจึงหมายความว่า กฎทั้งสองข้อนี้ก็ใช้ไม่ได้ในระบบอะตอม


วิกฤตการณ์ทางปัญญาที่เกิดในครั้งนี้ ได้ชักนำให้ Niels Bohr (1885-1962) เจ้าของรางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1922 ต้องออกมาแถลงว่า กฎอนุรักษ์พลังงานและกฎอนุรักษ์โมเมนตัม มิสามารถนำมาใช้อธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในอะตอมได้
แต่ Pauli กลับมีความเห็นต่าง เพราะเขาคิดว่า กฎอนุรักษ์พลังงานและกฎอนุรักษ์โมเมนตัมสามารถใช้อธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติได้ทุกกรณี และการที่พลังงานกับโมเมนตัมส่วนหนึ่งได้หายไปนั้น ก็เพราะมีอนุภาคตัวหนึ่ง ซึ่งไม่มีมวล และไม่มีประจุไฟฟ้าได้เกิดขึ้นด้วย และอนุภาคที่ยังไม่มีใครเคยเห็นนี้ ได้นำพลังงานและโมเมนตัมที่พร่องหายไป ติดตัวมันไปด้วย

การ save กฎอนุรักษ์พลังงานและกฎอนุรักษ์โมเมนตัมตามแนวคิดของ Pauli ยังไม่ได้ชักนำให้นักฟิสิกส์พยายามค้นหาอนุภาคลึกลับในทันทีทันใด เพราะดูเผิน ๆ มันเป็นอนุภาคที่ไม่มีมวลและไม่มีประจุ จึงมีสมบัติเหมือนอนุภาคแสง (photon)


จนกระทั่งปี 1934 Enrico Fermi (1901-1954) เจ้าของรางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1938 ได้นำหลักการของ Pauli ไปสร้างทฤษฎีปรากฏการณ์กัมมันตรังสีแบบ beta ที่ต้องอาศัยอันตรกิริยาอย่างอ่อน (weak interaction) และ Fermi ได้เรียกชื่อของอนุภาคลึกลับนั้นว่า neutrino (ซึ่งเป็นคำในภาษาอิตาเลียน ที่แปลว่า อนุภาคขนาดเล็กที่ไม่มีประจุไฟฟ้า แล้วได้ส่งงานวิจัยไปลงเผยแพร่ในวารสาร Nature แต่ถูกกองบรรณาธิการปฏิเสธไม่รับลงพิมพ์ โดยอ้างว่า neutrino เป็นอนุภาคทิพย์ ที่ยังไม่มีใครเคยเห็น ดังนั้นนักฟิสิกส์ทั่วไปก็คงไม่สนใจจะอ่านบทความ sci-fi ทำนองนี้ Fermi จึงส่งงานวิจัยไปลงเผยแพร่ไปในวารสาร Ricerca Scientifica ของอิตาลี และได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษ ภายใต้ชื่อเรื่องว่า “Tentative Theory of Beta-Radiation” Fermi ยังได้แปลงานวิจัยชิ้นนั้นออกเป็นภาษาเยอรมันด้วย เพื่อให้นักฟิสิกส์ทั่วโลกได้อ่าน


การปฏิเสธผลงานของ Fermi ในครั้งนั้น นับเป็นความผิดพลาดระดับมหาฉกรรจ์ แห่งคริสต์ศตวรรษที่ 20 ของบรรณาธิการวารสาร Nature เพราะผลงานชิ้นนั้น ทำให้ Fermi ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ประจำปี 1938 เมื่อทฤษฎีของ Fermi ให้ผลที่สอดคล้องกับผลการทดลองดีเยี่ยม ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมานักฟิสิกส์ส่วนใหญ่จึงเชื่อว่า neutrino มีจริง และการที่ยังไม่มีใครเคยเห็นมัน เพราะมันเป็นอนุภาคที่สังเกตเห็นได้ยาก จากการที่มันมีอันตรกิริยากับอนุภาคอื่น ๆ น้อยมาก คือ มันเป็นอนุภาค antisocial ระดับรุนแรง


จนกระทั่งถึงปี 1956 Frederick Reines (1918–1998) กับ Clyde Lorrain Cowan (1919-1974) ก็ได้ประสบความสำเร็จในการพบอนุภาค neutrino เป็นครั้งแรก (แต่เป็นอนุภาค antineutrino ชนิด electron) โดยใช้เครื่องตรวจจับขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรหนึ่งลูกบาศก์เมตร ซึ่งวางอยู่ห่างจากเตาปฏิกรณ์ปรมาณู ที่แม่น้ำ Savannah ในรัฐ Georgia ของสหรัฐอเมริกา เป็นระยะทางประมาณ 10 เมตร การตรวจพบ neutrino ใกล้เตาปฏิกรณ์ปรมาณู จึงแสดงให้เรารู้ว่า การติดตามหา neutrino ที่ทะลักออกมาจากเตา สามารถจะบอกให้เรารู้สภาพการทำงานของเตาปฏิกรณ์นั้นว่าเป็นปกติ หรือใกล้จะระเบิดเพียงใด

ทันทีที่พบ neutrino Reines กับ Cowan ก็ได้ส่งโทรเลขแจ้งข่าวไปถึง Pauli ซึ่งในเวลานั้นกำลังอยู่ที่ CERN ในสวิสเซอร์แลนด์ และ Pauli ก็ได้ตอบกลับมาว่า “ขอบใจมากที่ส่งข่าวดี เพราะผมรู้ดีว่า ทุกสิ่งทุกอย่างจะมาหาคนที่รู้วิธีคอย”

ผลงานนี้ทำให้ Reines ได้รับครึ่งหนึ่งของรางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1995 (Cowan ไม่ได้รับ เพราะได้เสียชีวิตไปก่อนปี 1995) ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของรางวัลตกเป็นของ Martin L. Perl (1927–2014) ซึ่งเป็นผู้พบ electron ชนิด tau (tau electron)


นอกจากการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสี จะเป็นแหล่งกำเนิดให้อนุภาค neutrino แล้ว ธรรมชาติก็ยังมีแหล่งกำเนิดชนิดอื่นอีกด้วย เช่น ในปี 1969 Raymond Davis Jr. (1914–2006) ได้พบว่า ดวงอาทิตย์เป็นอีกแหล่งกำเนิดหนึ่งของ neutrino เมื่อเขาได้ทดลองในห้องปฏิบัติการที่อยู่ใต้ดิน ณ เหมืองตะกั่วชื่อ Homestake ในรัฐ South Dakota ของสหรัฐอเมริกา โดยได้ใช้หลักการว่า เวลาอนุภาค neutrino จากดวงอาทิตย์พุ่งชนนิวเคลียสของ chlorine ในสารละลาย carbon tetrachloride จะทำให้ได้ argon-37 ซึ่งเป็นอะตอมกัมมันตรังสีพร้อมอนุภาค neutrino ที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วกว่าความเร็วแสงในสารละลาย carbon tetrachloride และเปล่งรังสี Cherenkov ออกมา ซึ่งสามารถจะรับได้ โดยใช้ photomultiplier


แต่ผลการทดลองของ Davis ยังมีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า จำนวนอนุภาค neutrino ที่มาจากดวงอาทิตย์มีเพียง 1 ใน 3 ของจำนวนที่ทฤษฎีทำนาย และในเวลาต่อมาผลการทดลองของ Davis ก็ได้รับการยืนยันว่าถูกต้อง โดย Masatoshi Koshiba (1926-2020) แห่งญี่ปุ่น ผลการค้นพบนี้ ทำให้ Davis กับ Koshiba ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ประจำปี 2002

การพบความแตกต่างระหว่างจำนวน neutrino ที่ได้จากการทดลองกับค่าที่ได้จากทฤษฎี จึงแสดงให้เห็นว่า อนุภาค neutrino จากดวงอาทิตย์ เมื่อเดินทางถึงโลก ได้มีอนุภาคจำนวนหนึ่ง หายไป

วิกฤตการณ์ทางปัญญาจึงเกิดอีกครั้งหนึ่งในประเด็นว่า อนุภาค neutrino หายไปได้อย่างไร เพราะอุปกรณ์ของ Davis วัดผิด หรือทฤษฎีปฏิกิริยานิวเคลียร์ในการสร้างพลังงานของดวงอาทิตย์ผิด หรือว่าผิดทั้งสองกรณี

ในปี 1998 Takaaki Kajita (1959-ปัจจุบัน) กับคณะได้แสดงให้เห็นว่า ธรรมชาติมี neutrino อีกชนิดหนึ่ง คือ ชนิด muon (muon neutrino) ที่จะเกิดเวลารังสี cosmic จากอากาศพุ่งชนโมเลกุลของออกซิเจนและไนโตรเจนในบรรยากาศโลก แล้วทำให้ได้ neutrino ชนิด muon ซึ่งจะพุ่งสู่พื้นดิน และ neutrino ชนิดนี้ได้เปลี่ยนไปเป็น neutrino ชนิดอื่นตามทฤษฎีของ Bruno Pontecorvo (1913-1993)


การค้นพบนี้ได้รับการยืนยันในปี 2001 โดย Arthur McDonald (1943-ปัจจุบัน) กับคณะ ซึ่งได้ทดลองเรื่องการสั่นแกว่ง (oscillation) ของ neutrino ที่ห้องปฏิบัติการ Sudbury Neutrino Observatory (SNO) ที่เมือง Sudbury ในแคนาดา

การค้นพบของนักวิจัยทั้งสอง คือ Kajita กับ McDonald จึงแสดงให้เห็นว่า อนุภาค neutrino มีการเปลี่ยนรูปไป-มาจริง และผลงานนี้ทำให้คนทั้งสองได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ประจำปี 2015 ร่วมกัน


ในปี 2014 ได้มีรายงานการวิจัยของการทดลองที่เหมืองสังกะสี Kamioka ในญี่ปุ่น โดยนักฟิสิกส์ 500 คน จากสถาบันวิจัยร่วม 60 แหล่งทั่วโลก ได้ข้อสรุปว่า neutrino มี 3 ชนิด คือ ชนิด electron neutrino, muon neutrino และ tau neutrino ที่สามารถเปลี่ยนจากชนิดหนึ่งไปเป็นอีกชนิดหนึ่งได้ เพราะอนุภาคทั้ง 3 มีมวลแตกต่างกัน จึงสามารถเปลี่ยนชนิดกลับไป-กลับมาได้ การกวัดแกว่งของมวลในลักษณะนี้เป็นที่รู้จักในนาม oscillation

ความสามารถพิเศษชนิดนี้ เกิดจากการที่ neutrino ทั้งสามชนิดมีมวลไม่เท่ากัน จึงมีความยาวคลื่นไม่เท่ากัน ดังนั้นเวลา neutrino เคลื่อนที่ไป คลื่นที่มีความยาวคลื่นแตกต่างกัน จะแทรกสอดกันแบบเสริมกันบ้าง และทำลายล้างกันบ้าง ทำให้มันมีมวลค่าหนึ่ง ณ เวลาหนึ่ง และมีมวลอีกค่าหนึ่งในเวลาต่อมา ความไม่แน่นอนของค่ามวลจึงเกิดขึ้น ตามหลักความไม่แน่นอนของ Heisenberg

เพราะทฤษฎีการกลายรูปของ neutrino โดย Pontecorvo–Maki–Nakagawa–Sakata มี parameter ทั้งหมด 6 ตัว โดยที่ 3 ตัว สามารถบอกค่าความแตกต่างระหว่างมวลของ neutrino ทั้ง 3 ชนิด และมุมปน (mixing angle) อีก 3 มุม การรู้ค่าทั้ง 6 อย่างแม่นยำจะสามารถพัฒนาทฤษฎี Standard Model ให้สมบูรณ์และถูกต้องยิ่งขึ้น (ในทฤษฎี Standard Model ฉบับแรกนั้น อนุภาค neutrino ไม่มีมวล แต่บัดนี้อนุภาค neutrino มีมวลแล้ว) ข้อมูลที่ได้ ณ วันนี้ คือ ธรรมชาติมี neutrino ชนิดหนัก 2 ชนิด และชนิดเบา 1 ชนิด หรือชนิดเบา 2 ชนิด และชนิดหนัก 1 ชนิด เพราะมวลทั้ง 3 มีค่าใกล้เคียงกันมาก จึงทำให้เกิดความไม่แน่นอนในการรู้ค่ามวลที่แท้จริง

ดังนั้นการรู้ค่ามวลที่ถูกต้องของ neutrino แต่ละชนิด จึงมีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้นักฟิสิกส์สามารถตอบคำถามได้ว่า มวลของ neutrino เกิดจากสาเหตุใด จากอันตรกิริยากับอนุภาค Higgs boson หรือไม่ หรือเกิดจากกลไกอื่นใดที่เรายังไม่รู้จัก และธรรมชาติมี neutrino ทั้งหมดกี่ชนิด (ชนิด sterile หรือชนิด Majorana) และมวลทั้งหมดของ neutrino ในเอกภพจะช่วยตอบคำถามได้หรือไม่ว่า วาระสุดท้ายของเอกภพจะมีการขยายตัวต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด หรือเอกภพจะยุบตัว


ดังนั้นนักฟิสิกส์ทั่วโลกที่สนใจ neutrino จึงได้ทุ่มเทวิจัยเรื่องธรรมชาติของ neutrino เช่น ที่ห้องปฏิบัติการ Rutherford Appleton ในอังกฤษ ที่ห้องปฏิบัติการ Super-Kamiokande ณ เมือง Hida ในญี่ปุ่น ซึ่งมีห้องทดลองอยู่ใต้ภูเขา Ikeno ในมณฑล Gifu ที่ระดับลึก 1,000 เมตร ในรัสเซียก็มีห้องปฏิบัติการใต้น้ำในทะเลสาบ Baikal และที่ห้องปฏิบัติการที่ CERN ในสวิสเซอร์แลนด์ ตลอดจนถึงห้องปฏิบัติการ San Grasso ในอิตาลี และที่ขั้วโลกใต้ก็มีห้องปฏิบัติการ IceCube ส่วนที่แคนาดาก็มีห้องปฏิบัติ Sudbury Neutrino Observatory (SNO) และสุดท้ายที่ Fermi Lab ณ เมือง Chicago ในสหรัฐอเมริกา ก็มี Lab ทดลองเรื่อง neutrino เช่นกัน


สำหรับนักฟิสิกส์จีนก็มีความสนใจจะวัดมวลของ neutrino จึงได้สร้างห้องปฏิบัติการขึ้นที่ Daya Bay ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของเตาปฏิกรณ์ปรมาณู และเรียกชื่อการทดลองว่า “Daya Bay Reactor Neutrino Experiment” ซึ่งถ้าจีนทำได้สำเร็จ นักฟิสิกส์จีนก็อาจจะได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์เป็นครั้งแรก (นักฟิสิกส์ญี่ปุ่นได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ไปแล้ว 9 คน) ความสำเร็จของจีนในเรื่องนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นศักดิ์ศรีสำหรับนักฟิสิกส์จีนมาก


ดังนั้น เมื่อเดือนมกราคม ปี 2014 จีนจึงได้อนุมัติโครงการสร้างห้องปฏิบัติการวัดมวลของ neutrino ที่เมือง Jiangmen ในมณฑล Guangdong ซึ่งมีอุปกรณ์ตรวจจับ neutrino ที่ดีที่สุดในโลก โดยอุปกรณ์อยู่ใต้ภูเขาที่ระยะลึก 700 เมตร โครงการนี้มีชื่อย่อว่า “JUNO” จากคำเต็ม Jiangmen Underground Neutrino Observatory ที่มูลค่า 10,000 ล้าน
บาท
โครงการนี้ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2015 โดยได้เริ่มทำงานเมื่อปี 2021 และจะรายงานผลงานวัดครั้งแรกในปี 2029

อุปกรณ์ JUNO จะอยู่ห่างจากเตาปฏิกรณ์ปรมาณู 2 เตา เป็นระยะทาง 55 กิโลเมตรเท่ากัน เพื่อให้ลำอนุภาค neutrino พุ่งมาสู่อุปกรณ์ตรวจจับที่เป็นทรงกลม ซึ่งมีผนังทำด้วยแก้ว และมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 38 เมตร โดยมีของเหลว alkylbenzene หนัก 20,000 ตัน บรรจุอยู่ภายใน ของเหลวชนิดนี้จะเปลี่ยนพลังงานจลน์ของ neutrino ที่มาพุ่งชนอะตอมในของเหลวให้เป็นพลังงานแสง เพื่อให้หลอด photomultiplier ที่อยู่เรียงรายบนผนังแก้ว บันทึกภาพได้

นักทฤษฎีได้คาดคะเนว่าจาก neutrino จำนวน 10^21 อนุภาค จะมี neutrino เพียง 60 อนุภาคเท่านั้นที่จะชนอะตอม หลังจากที่ 70% ของ neutrino ทั้งหมดได้กลายรูปแล้ว

การวัดพลังงานต่าง ๆ ของอนุภาค neutrino หลังการชน จะช่วยให้รู้มวลของ neutrino แต่ละชนิดได้

นอกจาก neutrino จะมีแหล่งกำเนิดจากเตาปฏิกรณ์ปรมาณู เป็น reactor neutrino จากดวงอาทิตย์ เป็น solar neutrino จากบรรยากาศ เป็น atmospheric neutrino จากรังสี cosmic และจาก supernova เป็น cosmic / supernova neutrino จากแหล่งกัมมันตรังสีใต้ดิน เป็น geoneutrino แล้ว นักฟิสิกส์ยังสงสัยว่า เอกภพจะมีแหล่งกำเนิดให้อนุภาค neutrino อื่นใดอีกหรือไม่

และอนุภาค neutrino มีประโยชน์อย่างไร


ดังได้กล่าวมาแล้วว่า neutrino ทุกชนิดไม่มีอันตรกิริยาไฟฟ้า และอันตรกิริยานิวเคลียร์แบบเข้ม (strong interaction) กับอนุภาคอื่น ๆ อีกทั้งยังมีมวลน้อยกว่าอิเล็กตรอนประมาณ 1 ล้านเท่า แต่มันก็สามารถจะบอกให้เรารู้ว่า เหตุการณ์อะไรได้เกิดขึ้นบนดาว supernova ที่กำลังระเบิด ตลอดจนถึงการช่วยให้เรารู้ตำแหน่งของแร่กัมมันตรังสีทอเรียม-230 ยูเรเนียม-234 และพลูโตเนียม-238 ที่อยู่ใต้โลก ซึ่งเวลาสลายตัวจะให้พลังงานความร้อนใต้พิภพแก่โลก ดังนั้นจึงสามารถจะบอกได้ว่า แหล่งแร่กัมมันตรังสีอยู่ ณ ที่ใด และมีมากเพียงใด และประเด็นสุดท้ายก็คือ การรู้จำนวนและความเร็วของ neutrino ที่ทะลักออกมาจากเตาปฏิกรณ์ปรมาณู ยังช่วยให้เราสามารถควบคุมการทำงานของเตาปฏิกรณ์ปรมาณูให้เป็นปกติได้ด้วย

โลกของเราอาจจะพิจารณาเป็นดาวที่ให้กำเนิดอนุภาค antineutrino จำนวนมากมหาศาล เพราะในเวลา 1 วินาที จะมีอนุภาค antineutrino จำนวน 6 ล้านอนุภาค พุ่งผ่านพื้นที่ 1 ตารางเซนติเมตร ที่ผิวโลกตลอดเวลา ดังนั้น โลกของเราจึงอาจจะเป็น antineutrino star ก็ได้

การวัด neutrino ที่มาจากใต้ดิน (geoneutrino) ซึ่งเกิดจากการสลายตัวของ uranium-234 และ thorium-230 ที่อยู่ลึกใต้โลกได้ ก็สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานความร้อนใต้พิภพได้ นี่เป็นการตอบคำถามที่ Lord Kelvin (1824–1907) ได้เคยถามเมื่อ 160 ปีก่อนว่า อะไรคือแหล่งกำเนิดความร้อนใต้พิภพ และอะไรเป็นปัจจัยที่ช่วยในการเคลื่อนย้ายเปลือกทวีป (plate tectonics)

เมื่อวันที่ 22 กันยายน ปี 2017 ห้องปฏิบัติการ IceCube ที่ขั้วโลกใต้ ได้มีรายงานการเห็น neutrino และนักดาราศาสตร์ที่นั่น ได้รายงานการเห็นนี้ให้โลกดาราศาสตร์รู้ที่มาของ neutrino ดังกล่าว เมื่อกล้องโทรทรรศน์อวกาศ Fermi ของ NASA ได้ติดตามการระเบิดของ supernova และพบว่า แหล่งกำเนิดของ neutrino นั้น มาจาก blazar ซึ่งเป็นหลุมดำขนาดอภิมโหฬาร (supermassive black hole) รายงานนี้ได้ปรากฏในวารสาร Science, doi.org/gdthzn, doi.org/ cr 55 นี่เป็นการค้นพบครั้งแรกที่แสดงว่า neutrino มาจากหลุมดำได้ด้วย แม้หลุมดำนั้น จะอยู่ห่างจากโลกออกไปถึง 4,000 ล้านปีแสงก็ตาม

ที่ San Grasso ในอิตาลี ก็มีการศึกษา neutrino เพื่อให้รู้ชัดว่า เอกภพมีมิติเกิน 4 เป็น 5, 6,… 10,11…

นี่จึงเป็นการทดลองที่แสดงบทบาทของอนุภาคขนาดจิ๋ว แต่เป็นอนุภาคที่ทรงอิทธิพลมากในเอกภพ

อ่านเพิ่มเติมจาก
“2020 Global reassessment of the neutrino oscillation picture” ใน Journal of High Energ. Phys., 71 (2021)


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น