สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ GISTDA เผยข้อมูล ใช้ระบบการจัดการจราจรอวกาศ หรือ ZIRCON ที่พัฒนาจากนักวิจัยและวิศวกรจากศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ หรือ Space Technology Research Center ของ GISTDA ในการติดตามวัตถุอวกาศ พบว่า จะมีวัตถุอวกาศ IRIDIUM 33 DEB (35921) เข้าใกล้ดาวเทียมไทยโชต (33396) ในวันอังคารที่ 12 กันยายน 2566 (ตามเวลาประเทศไทย) และมีความเป็นไปได้สูงมากที่จะเกิดการชนกันระหว่างดาวเทียมไทยโชตกับวัตถุอวกาศชิ้นนี้ โดยมีระยะใกล้สุด 91 เมตร
ทาง GISTDA ได้เตรียมปรับวงโคจรให้สูงขึ้น 55 เมตร เพื่อเลี่ยงวัตถุอวกาศ ทั้งนี้ ภายหลังการปรับวงโคจรแล้ว ดาวเทียมจะสามารถทำงานได้ตามปกติ อย่างไรก็ตาม จะต้องตรวจสอบข้อมูลความเสี่ยงต่างๆ ด้วยระบบ ZIRCON อีกครั้ง เพื่อให้แน่ใจว่าดาวเทียมอยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัยและไม่เสี่ยงต่อการชนกับวัตถุอวกาศ
วัตถุอวกาศ IRIDIUM 33 DEB (35921) เป็นดาวเทียมสื่อสารที่ชื่อ IRIDIUM (อิริเดียม) ของอเมริกาที่หมดอายุการใช้งานแล้ว และเป็นขยะที่ลอยเคว้งคว้างในอวกาศ
สำหรับ ดาวเทียมไทยโชต (Thaichote หรือ ดาวเทียมธีออส (THEOS: Thailand Earth Observation Satellite) เป็นดาวเทียมสำรวจข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing) เพื่อใช้สำรวจทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย โดยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศส ดำเนินงานโดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ. หรือ GISTDA) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ บริษัท อี เอ ดี เอส แอสเตรียม (EADS Astrium) ประเทศฝรั่งเศส ด้วยงบประมาณ 6,000 ล้านบาท นับเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้