xs
xsm
sm
md
lg

ดาราศาสตร์บน "ด้านมืดของดวงจันทร์" ตอนที่ 1

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทะเลแห่งความสงบเงียบ (Sea of Tranquility) คือ พื้นที่ ๆ ค่อนข้างราบเรียบประดุจผิวน้ำทะเลยามสงบ ซึ่งอยู่บนดวงจันทร์ด้านที่หันเข้าหาโลกตลอดเวลา ในอดีตเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ปี 1969 คือ เมื่อ 54 ปีก่อน ยานอวกาศ Apollo 11 ได้นำมนุษย์อวกาศ Neil Armstrong (1930-2012) และ Buzz Aldrin (1930-ปัจจุบัน) ไปเหยียบย่างเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และ ณ บริเวณที่อยู่ห่างจาก “ทะเล” นี้ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 380 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของที่ราบสูงชื่อ Descartes ซึ่งเป็นสถานที่ ๆ ยาน Apollo 16 ได้นำมนุษย์อวกาศ John Young (1930-2018) กับ Charles Duke (1935-ปัจจุบัน) ไปเยือนดวงจันทร์บ้าง เมื่อวันที่ 24 เมษายน ปี 1972 ครั้นเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจที่ NASA มอบหมายมนุษย์อวกาศทั้งสองคนได้ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดเล็กกล้องหนึ่งไว้ในบริเวณนั้น นี่จึงเป็นกล้องโทรทรรศน์กล้องแรกที่มนุษย์ได้นำไปติดตั้งบนต่างดาว


บุคคลสำคัญที่รับผิดชอบในการออกแบบสร้างกล้องโทรทรรศน์กล้องนั้น คือ George Carruthers (1939-2020) แห่งห้องปฏิบัติการ Naval Research Laboratory (NRL) ที่ Washington D.C. เพื่อรับรังสีอัลตราไวโอเลต UV (ultraviolet) โดยเฉพาะ เพราะ NASA มีความประสงค์จะรู้ว่าก้อนเมฆขนาดใหญ่ที่ลอยเคว้งคว้างอยู่นอวกาศ ประกอบด้วยอะตอมไฮโดรเจน หรือโมเลกุลไฮโดรเจน ซึ่งสสารทั้งสองจะปล่อยแสง UV ที่มีความยาวคลื่นแตกต่างกันออกมา


ผลการวิเคราะห์ภาพถ่าย 178 ภาพ ที่ทั้งสองมนุษย์อวกาศนำกลับมาโลกยืนยันว่า ก้อนเมฆในอวกาศประกอบด้วยโมเลกุลไฮโดรเจน กล้องยังได้ถ่ายภาพบรรยากาศของโลกที่เป็นชั้น ionosphere พายุสุริยะ แสงเหนือ และกระจุก galaxy ที่เปล่งแสง UV ออกมาได้เป็นครั้งแรกด้วย

ซึ่งความสำเร็จทางดาราศาสตร์ที่กล้องโทรทรรศน์วิทยุได้ทำไปในครั้งนั้นได้สร้างความประทับใจให้แก่บรรดานักดาราศาสตร์มาก จนถึงระดับที่ตระหนักได้ว่า มนุษย์จะต้องกลับไปเยือนดวงจันทร์อีก โดยนำอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ดีกว่าเก่า และใหญ่กว่าเก่าไปด้วย เพื่อจะได้เปิดเผยความลับ และปริศนาต่าง ๆ ที่ยังซ่อนเร้นอยู่บนดวงจันทร์ ระบบสุริยะ และเอกภพ


ดวงจันทร์เป็นดาวบริวารหนึ่งเดียวของโลกที่มีแต่ความแห้งแล้ง เพราะปราศจากอากาศ จะมีก็แต่ความสงบเงียบ เพราะแทบจะไร้ปรากฏการณ์แผ่นดินไหวใด ๆ สภาพทางภูมิศาสตร์มีบริเวณที่ราบ (ทะเลหรือ mare) ที่กว้างใหญ่มากมาย จึงเหมาะสำหรับการติดตั้งอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ได้เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดมโหฬาร เพราะความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงของดวงจันทร์มีค่าประมาณ 1/6 ของความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงบนโลก ดังนั้นวัตถุที่หนักมากบนโลกจะมีน้ำหนักค่อนข้างน้อยบนดวงจันทร์ การเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ต่าง ๆ บนดวงจันทร์จึงทำได้ง่ายกว่าการเคลื่อนย้ายของสิ่งเดียวกันบนโลก ในเมื่อบนดวงจันทร์ไม่มีเมฆและหมอกเลย ท้องฟ้าจึงใส ปราศจากสิ่งรบกวนทัศนวิสัยของกล้อง การเห็นดาวต่าง ๆ จึงสามารถกระทำได้ และการถ่ายภาพก็สะดวก เพราะดวงจันทร์หมุนรอบตัวเองช้ามาก คือ หนึ่งรอบโดยใช้เวลา 27.3 วัน (ประมาณ 1 รอบในหนึ่งเดือน) ดังนั้นการเปิดหน้ากล้องนานเพื่อบันทึกภาพ จึงไม่เป็นอุปสรรคแต่อย่างใด เหตุผลอีกประการที่นับว่าสำคัญ คือ ปรากฏการณ์แผ่นดินไหวบนดวงจันทร์แทบไม่ปรากฏเลย ดังนั้นเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์ที่จะทำงานบนดวงจันทร์จึงมีเสถียรภาพมาก ทำให้สามารถเห็นวัตถุอวกาศได้ชัดและไกล และเหตุผลสำคัญมากอีกเหตุผลหนึ่ง คือ การติดตั้งกล้องโทรทรรศน์วิทยุบนดวงจันทร์ด้านที่หันหน้าออกจากโลก จะทำให้กล้องโทรทรรศน์นั้นปราศจากคลื่นวิทยุใด ๆ จากโลกมารบกวน ภาพที่ถ่ายได้ จึงเป็นภาพที่บริสุทธิ์ ปราศจากการรบกวนของคลื่นจากมลวัตถุใดๆ

เมื่อเหตุและผลเป็นดั่งที่กล่าวมา ตลอดเวลาร่วม 50 ปีที่ผ่านมานี้ นักดาราศาสตร์จึงใฝ่ฝันจะมีกล้องโทรทรรศน์วิทยุติดตั้งบนดวงจันทร์สักกล้อง แต่ก็ยังไม่ประสบความสมหวังเลย เพราะค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการติดตั้งจำเป็นต้องใช้บุคลากรและเงินมากมหาศาล ดังนั้นจึงมีเพียง 3 ชาติเท่านั้น คือ รัสเซีย อเมริกา และจีนที่ได้ประสบความสำเร็จในการส่งยานไปลงจอดบนดวงจันทร์


เมื่อถึงปัจจุบัน ดวงจันทร์กำลังเป็นดินแดนที่ชาติต่าง ๆ กำลังแข่งขันกันเดินทางไปให้ถึง เพื่อแสดงความสามารถทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนถึงการหวังผลทางเศรษฐกิจ และจิตวิทยา เช่น เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ปี 2013 จีนได้ส่งยาน Chang'e 3 ไปร่อนลงบนดวงจันทร์ที่ “ทะเล” Mare Imbrium โดยมีกล้องโทรทรรศน์รับแสงรับแสง UV ติดไปด้วย เพื่อรับแสงที่มีความยาวคลื่น 200-280 นาโนเมตร ด้วยเลนส์ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 15 เซนติเมตร จาก quasar และ supernova แล้ว ส่งข้อมูลทั้งหมดกลับมาที่โลก เพื่อวิเคราะห์ นี่เป็นเรื่องที่ Carruthers เองก็ไม่เคยคิดว่า กล้องโทรทรรศน์ UV สามารถทำได้

ตามปกติ quasar จะปล่อยรังสี UV และรังสีเอกซ์ออกมาพร้อม ๆ กัน ซึ่งรังสีทั้ง สองชนิดนี้จะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วแสง แต่รังสีเอกซ์มีพลังงานมากกว่ารังสี UV ดังนั้นรังสีเอกซ์จึงมีอันตรกิริยากับสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า ทำให้สามารถเดินทางผ่านตัวกลาง เช่น อากาศได้เร็วกว่า ด้านรังสี UV เมื่อปะทะกับแก๊สไฮโดรเจนที่มีอยู่ในอวกาศ แก๊สจะดูดกลืนรังสี UV ที่มีพลังงานต่ำเข้าไป อะตอมไฮโดรเจนจึงแตกตัว ทำให้อิเล็กตรอนแยกตัวจากโปรตอน การแตกตัวจะดำเนินไปเรื่อย ๆ ทำให้เกิดพลาสมาในบริเวณรอบ quasar

จีนเป็นชาติที่มีโครงการอวกาศก้าวหน้ามากชาติหนึ่งของโลก เพราะมีโครงการจะส่งมนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์ในปี 2030 และสร้างห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์บนดวงจันทร์ก่อนรัสเซีย แต่อาจจะหลังอเมริกา เพราะจีนสามารถส่งมนุษย์ขึ้นโคจรในอวกาศได้ตั้งแต่ปี 2003 อีกทั้งมีจรวดที่ทรงพลังมาก คือ จรวด Tiangang สำหรับความมุ่งหวังระยะยาวของจีน คือ ถ้าประความสำเร็จบนดวงจันทร์แล้ว ความมุ่งหวังขั้นต่อไป คือ การส่งยานเดินทางไปลงจอดบนดาวอังคาร


ในปี 2019 จีนได้เคยส่งยาน Chang'e 4 ไปลงบนด้านมืด (ด้านที่หันหน้าออกจากโลก) ของดวงจันทร์แล้ว และตั้งความหวังจะให้มนุษย์อวกาศไปปักธงจีนบนดวงจันทร์ในปี 2030

ด้านองค์การ International Lunar Observatory Association (ILOA) ที่ Hawaii ของสหรัฐฯ ก็ได้ตั้งความหวังว่าในปีนี้ จะส่งจานรับคลื่นวิทยุที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 2 เมตร ไปติดตั้งที่บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ คือ บนยอดเขา Malapert ที่สูง 5,000 เมตร เพราะเป็นบริเวณที่สามารถรับแสงอาทิตย์ได้ตลอดเวลา ดังนั้นกล้องโทรทรรศน์วิทยุของอเมริกาก็จะสามารถทำงานได้ โดยใช้เซลล์สุริยะช่วย

ด้านรัสเซียก็ได้ยิงจรวด Soyuz-2 จากฐานยิงที่ Vostochny Cosmodrome ในรัสเซีย เพื่อนำยาน Luna-25 ไปดวงจันทร์เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมปีนี้ หลังจากที่ได้หยุดการส่งยานไปดวงจันทร์ตั้งแต่เมื่อ 47 ปีก่อน และเมื่อถึงวันที่ 16 สิงหาคม ยาน Luna-25 ก็เข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์ เพื่อเตรียมตัวลงจอดที่บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ในวันที่ 21 สิงหาคม โดยวางแผนจะทำงานนาน 1 ปี แต่เมื่อถึงวันที่ 20 สิงหาคม ก็ปรากฏว่า ยานได้ตกจากวงโคจรในอวกาศพุ่งกระทบผิวดวงจันทร์ และจบความหวังในการใช้แขนกลที่ยาว 1.6 เมตร เก็บหินและดินบนดวงจันทร์มาวิเคราะห์


ด้านอินเดียก็ได้ส่งยานอวกาศ Chandrayaan-3 เข้าสู่วงโคจรรอบดวงจันทร์แล้ว และมีแผนจะนำยาน Vikram ลงจอดใกล้ขั้วใต้ของดวงจันทร์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมปีนี้ กล้องโทรทรรศน์บนยานที่จะรับแสง UV ซึ่งได้รับการออกแบบโดยสถาบัน Indian Institute of Astrophysics (IIA) ที่เมือง Bengaluru และเมื่อถึงวันดังกล่าว ขณะเวลาใกล้ 6 โมงเย็นตามเวลาท้องถิ่น ชาวอินเดียทั้งประเทศได้เฝ้าจ้องดูที่จอโทรทัศน์ ซึ่งกำลังแสดงภาพของยานอวกาศ Chandrayaan-3 นำยานสำรวจ Vikram ที่สูง 2 เมตร และหนัก 1,700 กิโลกรัม ลงจอดได้อย่างนิ่มนวล ที่บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่ยังไม่มีมนุษย์หรือยานยนต์ใด ๆ เคยไปสำรวจมาก่อน เพื่อค้นหาน้ำแข็ง ฮีเลียม-3 และธาตุหายาก ซึ่งถ้าพบน้ำแข็งจริง เราก็สามารถแยกน้ำแข็งออกเป็นออกซิเจนและไฮโดรเจน สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงและหายใจ ส่วนฮีเลียม-3 นั้น สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในเตาปฏิกรณ์ fusion และธาตุหายาก ก็จะเป็นประโยชน์ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

ความสำเร็จนี้ ได้ทำให้อินเดียเป็นชาติมหาอำนาจทางอวกาศ ชาติที่ 4 ของโลก ทีได้ส่งยานไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้อย่างปลอดภัย ตามหลังรัสเซีย อเมริกา และจีน ซึ่งแม้แต่ชาติมหาอำนาจ เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน และญี่ปุ่น ก็ยังทำไม่ได้เลย และเมื่อยานได้ลงจอดเรียบร้อยแล้ว ท่านนายกรัฐมนตรี Narendra Modi ของอินเดีย ก็ได้ประกาศให้วันที่ 23 สิงหาคม เป็นวันอวกาศแห่งชาติ ความสำเร็จนี้ได้ทำให้คนอินเดียรู้สึกยินดี และภาคภูมิใจในความเป็นชาวอินเดียอย่างที่สุด


บริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์ เป็นบริเวณที่น่าสนใจมากที่สุด เพราะตั้งแต่เมื่อ 25 ปีก่อน นักดาราศาสตร์อเมริกันได้ใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุที่ Arecibo ใน Puerto Rico ส่งคลื่นเรดาร์จากโลกไปกระทบผิวดวงจันทร์ แล้ววิเคราะห์คลื่นที่สะท้อนกลับมา เพื่อให้รู้สภาพภูมิศาสตร์ที่บริเวณขั้วใต้ ทำให้ได้เห็นรายละเอียดของวัตถุที่มีขนาดใหญ่ ตั้งแต่ 300 เมตรขึ้นไป เพราะคลื่นเรดาร์สามารถเจาะทะลุดินและฝุ่นลงไปได้ลึกหลายเมตร (ยานยนต์ Pragyan ที่ยาน Vikram นำไปด้วยสามารถสำรวจผิวดินได้ลึกประมาณ 10 เซนติเมตร) การสำรวจครั้งนั้นได้พบว่าบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์มีหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ ที่ไม่มีแสงอาทิตย์สาดส่องถึงก้นหลุมเลยตลอดเวลาหลายล้านปี ดังนั้นจึงอาจจะมีน้ำแข็งหลงเหลืออยู่ได้ (บนดวงจันทร์ในบริเวณนั้น ไม่มีน้ำเหลว เพราะอุณหภูมิต่ำมาก) และน้ำแข็งที่มีก็ได้สะท้อนคลื่นเรดาร์กลับออกมา โดยแหล่งกำเนิดน้ำแข็งที่สำคัญอาจจะมาจากดาวหาง หรือดาวเคราะห์น้อยที่พุ่งชนดวงจันทร์ หรือเป็นน้ำที่ได้จากลมสุริยะ ซึ่งประกอบด้วยอนุภาคโปรตอนจำนวนมากพุ่งชนหิน basalt บนดวงจันทร์ แล้วรวมกับออกซิเจนในหินเกิดเป็นน้ำก็ได้

สำหรับอเมริกาเองก็มีโครงการ Artemis 1 ซึ่งได้ส่งยานอวกาศที่ไม่มีคนไปโคจรรอบดวงจันทร์ตั้งแต่ 2022 แล้ว และเมื่อถึงเดือนพฤศจิกายนปี 2024 NASA ก็จะส่งยานอวกาศที่มีมนุษย์อวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ในโครงการ Artemis 2 เพื่อทดลองการก่อสร้างอาคารบนดวงจันทร์ ด้วยเทคโนโลยีการควบคุมระยะไกล ถึงปี 2025 โครงการ Artemis 3 ก็จะมีมนุษย์อวกาศสตรีคนแรก และคนผิวสีคนแรกที่จะเดินทางไปดวงจันทร์ เพื่อเตรียมการทำให้ดวงจันทร์เป็นสถานีอวกาศกลางทาง สำหรับการเดินทางไปดาวอังคารต่อไปในอนาคต

แม้จะมีมนุษย์อวกาศและกล้องโทรทรรศน์บนดวงจันทร์แล้ว แต่ความต้องการของนักดาราศาสตร์ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะพวกเขายังต้องการจะมีกล้องโทรทรรศน์ที่มีขนาดใหญ่มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อจะได้ให้เห็นดาวฤกษ์ดวงแรก ๆ ของเอกภพ และเห็นรายละเอียดทางภูมิศาสตร์ของดาวเคราะห์ที่อยู่นอกระบบสุริยะ (exoplanet) ซึ่งจะสามารถทำได้ ถ้ากล้องโทรทรรศน์บนดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่ากล้องโทรทรรศน์ที่ใหญ่ที่สุดบนโลก


อันที่จริงความคิดที่จะมีหอสังเกตการณ์บนดวงจันทร์นี้ ได้มีมานานร่วม 200 ปีแล้ว นับตั้งแต่วันที่มีนักดาราศาสตร์ชาวเยอรมัน Wilhelm Beer (1797-1850) และ Johann Heinrich von Mädler (1794–1874) ได้วาดแผนที่ภูมิศาสตร์ของดวงจันทร์อย่างละเอียดเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1830 หลังจากที่ตระหนักได้ว่า ดวงจันทร์ไม่มีบรรยากาศห่อหุ้ม ดังนั้นนักทำแผนที่จึงสามารถเห็นลักษณะพื้นผิวได้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ จนกระทั่งถึงปี 1990 นักดาราศาสตร์ส่วนใหญ่ จึงมีความเห็นพ้องกันว่า สถานที่ดีที่สุดในระบบสุริยะที่นักดาราศาสตร์จะใช้เป็นที่สังเกตเอกภพ คือ ดวงจันทร์ เพราะท้องฟ้าเหนือด้านมืดของดวงจันทร์ แทบปราศจากสิ่งรบกวนใดๆ

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น นักดาราศาสตร์ก็ได้ส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศขึ้นไปโคจรรอบโลก เช่น กล้อง Hubble, Spitzer และ Chandra ขึ้นถ่ายภาพวัตถุอวกาศแล้ว เพราะนั่นเป็นการลงทุนน้อยที่คุ้มค่ากว่าการจะขนกล้องโทรทรรศน์ไปติดตั้งบนดวงจันทร์ อันเป็นเรื่องที่สิ้นเปลืองมาก

กระนั้นก็มีนักดาราศาสตร์วิทยุหลายคนที่ยังต้องการจะมีกล้องโทรทรรศน์วิทยุบนดวงจันทร์อยู่ดี เพราะตระหนักว่าบนโลกมีสัญญาณทีวีและคลื่นวิทยุรบกวนตลอดเวลา ทำให้ภาพที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์วิทยุไม่คมชัด โดยเฉพาะถ้าเป็นกรณีคลื่นวิทยุที่มีความถี่ต่ำกว่า 50 megahertz (MHz) เพราะที่ความถี่นี้ บรรยากาศชั้น ionosphere ของโลก ซึ่งมีประจุไฟฟ้ามากมาย และมีบรรยากาศที่จะหักเห กระจาย หรือดูดกลืนคลื่นวิทยุไปจนหมด ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับยุคมืดของเอกภพต้องสูญหายไปด้วย


Heino Falcke (1966-ปัจจุบัน) แห่ง Radboud University ที่เมือง Nijmegen ในเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมีเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์วิทยุความถี่ต่ำ (Low-Frequency Array; LOFAR) ที่ใช้สำรวจเอกภพด้วยการรับคลื่นวิทยุที่มีความยาวคลื่น 21 เซนติเมตรได้ย้ำว่า หลังจากที่เอกภพได้ขยายตัวมาเป็นเวลา 13,000 ล้านปีอนุภาคแสง (photon) ที่ถูกส่งออกมาจากยุคมืดของเอกภพได้เดินทางมาถึงโลก โดยมีความถี่ต่ำกว่า 50 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และต้องเผชิญกับคลื่นวิทยุต่าง ๆ บนโลก เช่น คลื่นสื่อสารทางไกล และคลื่นคมนาคมต่าง ๆ ซึ่งมีมากจน LOFAR ไม่สามารถแยกแยะคลื่นที่มาจากยุคมืดของเอกภพได้ เมื่อความยากลำบากเป็นเช่นนี้ Falcke กับนักดาราศาสตร์คนอื่น ๆ จึงต้องการจะมีกล้องโทรทรรศน์วิทยุบนดวงจันทร์เป็นอย่างมาก

หลังจากที่เวลาผ่านไป 35 ปี เมื่อถึงปี 2008 NASA ก็ได้อนุมัติโครงการ LUNAR เพื่อสร้างเครือข่ายเสาอากาศจำนวนนับร้อยบนดวงจันทร์ อีก 5 ปีต่อมามนุษย์อวกาศที่ทำงานอยู่บนสถานีอวกาศลอยฟ้า (International Space Station; ISS) ก็ได้ทดลองสร้างเครือข่ายกล้องโทรทรรศน์บนโลกก่อน โดยใช้เทคโนโลยีสื่อสารทางไกลควบคุมการติดตั้งด้วยหุ่นยนต์ เพื่อว่าในอนาคตเวลา NASA ส่งยานอวกาศไปโคจรรอบดวงจันทร์ตามโครงการ Moon-Orbiting Lunar Gateway มนุษย์อวกาศในยานจะสามารถใช้หุ่นยนต์บังคับและควบคุมการก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุบนดวงจันทร์ได้

ติดตามตอนที่ 2 : ดาราศาสตร์บน "ด้านมืดของดวงจันทร์"  .... ได้ใน วันศุกร์หน้า


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น