ปรากฏการณ์พระจันทร์เต็มดวงนั้น ในช่วงเวลาปกติในหนึ่งเดือนพระจันทร์จะเต็มดวง 1 ครั้งเท่านั้น ทำให้ 1 ปี เราจจะสามาถเห็นพระจันทร์จะเต็มดวงได้ 12 ครั้ง แต่เมื่อใดในเดือนนั้นมีปรากฏการณ์พระจันทร์เต็มดวงเกิดขึ้นสองครั้ง จันทร์เพ็ญครั้งที่สองในเดือนนั้นจะเรียกว่า “บลูมูน” (blue moon) หรือ ทุติยเพ็ญ
ดวงจันทร์ที่เป็นดาวบริวารเพียงหนึ่งเดียวของโลกนั้น ใช้เวลาโคจรรอบโลก 1 รอบใช้เวลา 29.53 วันเมื่อเทียบกับตำแหน่งของดวงอาทิตย์ ขณะที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก 1 รอบ ใช้เวลา 27.3 วันเมื่อเทียบกับตำแหน่งของดาวฤกษ์ หรือ 1 เดือนจันทรคติ โดยเป็นระยะห่างระหว่างวันเพ็ญหนึ่งกับวันเพ็ญถัดไป ซึ่งสั้นกว่า 1 เดือนสุริยคติ 30-31 วันตามปฏิทินปัจจุบัน และช่วงเวลาที่เหลื่อมกันนี่เอง ทำให้เดือนที่มีพระจันทร์เต็มดวงช่วงต้นเดือน มีโอกาสที่จะเกิดพระจันทร์เต็มดวงในปลายเดือนได้อีกครั้ง
และในบางปีที่อาจมีบลูมูนเกิดขึ้นถึง 2 ครั้ง จึงเรียกว่า “ดับเบิลบลูมูน” (Double Blue Moons) เช่น ปี 2542 และ ปี 2561 ซึ่งมีดวงจันทร์เต็มดวง 2 ครั้งในเดือนมกราคมและมีนาคม
ปรากฏการณ์พระจันทร์เต็มดวงบลูมูน ทำให้หลายคนเข้าใจผิดไปว่า พระจันทร์บนท้องฟ้าในช่วงกลางคืนนั้นจะกลายเป็นสีน้ำเงิน แต่ในความเป็นจริงแล้ว บลูมูนก็คือพระจันทร์เต็มดวง หรือที่เรามักเรียกกันว่า “จันทร์เพ็ญ” ซึ่งความสวยงามของดวงจันทร์นั้น ยังคงสวยงามเหมือนในทุกๆ คืน ที่พระจันทร์เต็มดวงมาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าดวงจันทร์จะไม่เคยเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน เพราะมันเคยเกิดขึ้นแล้วในปี 1883 หลังจากที่ภูเขาไฟกรากะตัว (Krakatoa) ประเทศอินโดนีเซีย เกิดการระเบิดขึ้น เศษฝุ่นละอองจากการระเบิดได้ลอยฟุ้งกระจายในอากาศ
ทำให้เกิดการกระเจิงของแสง และมองเห็นพระจันทร์เป็นสีน้ำเงินหรือเขียวเกือบทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์อื่นๆ เช่น ไฟป่า พายุรุนแรง ที่เป็นสาเหตุให้เรามองเห็นดวงจันทร์เป็นสีน้ำเงินได้ด้วยเช่นกัน
ในปี 2566 นี้ ในคืนวันที่ 30 ถึงเช้าวันที่ 31 สิงหาคม 2566 เราจะมีโอกาสชม 2 ปรากฏการณ์ของดวงจันทร์ ได้แก่ ซูเปอร์ฟูลมูน (Super Full Moon) หรือ ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี มีระยะห่างจากโลกประมาณ 357,334 กิโลเมตร และในคืนดังกล่าวยังเป็นดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือน หรือ บลูมูน (Blue Moon) จึงเรียกปรากฏการณ์ในครั้งนี้ว่า “ซูเปอร์บลูมูน" (Super Blue Moon)
ในคืนดังกล่าวดวงจันทร์เต็มดวงจะมีขนาดปรากฏใหญ่กว่าปกติเล็กน้อยหากเปรียบเทียบกับดวงจันทร์เต็มดวงช่วงเวลาปกติ จะมีขนาดใหญ่กว่าประมาณ 7% และความสว่างเพิ่มขึ้นประมาณ 15% เวลาที่เหมาะสมในการสังเกตปรากฏการณ์เกี่ยวกับดวงจันทร์ในครั้งนี้ คือช่วงเย็นวันที่ 30 สิงหาคม 2566 ตั้งแต่เวลาประมาณ 18:09 น. เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้า ของวันที่ 31 สิงหาคม 2566 ดูได้ด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก นอกจากนี้ ยังมีดาวเสาร์ปรากฏสว่างเคียงข้างดวงจันทร์อีกด้วย
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ NARIT