“สร้างความเข้มแข็งให้ SMEs และชุมชนผ่านระบบนิเวศนวัตกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน” คือ วิสัยทัศน์ ของ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
วิสัยทัศน์ดังกล่าว สอดคล้องกับนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2563 – 2570 ซึ่งเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาระบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อให้เกิดเป็นพลังในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ ตามทิศทางของยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท และนโยบายของรัฐบาล ซึ่งระบุว่า “ เตรียมคนไทยแห่งศตวรรษที่ 21 พัฒนาเศรษฐกิจที่กระจายโอกาสอย่างทั่วถึง สังคมที่มั่นคง และสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยสร้างความเข้มแข็งทางนวัตกรรมระดับแนวหน้าในสากล นำพาประเทศไปสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว”
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวเน้นย้ำในกรอบการดำเนินงานของ วว. ที่มีความสอดคล้องกับนโยบายดังกล่าวว่า วว. เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบการนำ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปส่งเสริมผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในมิติต่างๆ
วว.ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ SMEs ผ่านกรอบการดําเนินงาน 4 แนวทางหลัก (4 Guiding Principles)
1. การสนับสนุน BCG Model มุ่งสร้างการเติบโตของอุตสาหกรรมเกษตร อาหาร การแพทย์ และพลังงาน
2. การดําเนินงานดาน Appropriate technology นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม
3. การดําเนินงานดาน Total Solutions ตอบโจทย์ทุกภาคส่วนในยุคดิจิทัล พร้อมให้บริการแบบเบ็ดเสร็จ โดย วว. ให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมมากกว่า 200,000 รายการต่อปี มีจำนวนลูกค้ามากกว่า 10,000 ราย ช่วยผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายในการส่งตัวอย่างไปทดสอบต่างประเทศได้มากกว่า 50% ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน รวมทั้งให้บริการวิจัยและพัฒนาแก่ OTOP วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร ผู้ประกอบการ SMEs Startup ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพิ่มมูลค่า ช่วยแก้ไขปัญหาการประกอบการด้วย วทน. มีโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ
4. การดําเนินงานดาน Area based มุ่งเน้นตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนและประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเชิงพื้นที่ (area based) ร่วมกับหน่วยงานและสถาบันการศึกษาในพื้นที่ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปแบบของรายได้ที่เพิ่มขึ้นให้แก่ชุมชนและผู้ประกอบการที่ได้รับการพัฒนามากกว่า 300 ล้านบาทต่อปี
วว. พร้อมบริการ ส่งเสริม สนับสนุน ผู้ประกอบการ SMEs ให้เข้มแข็ง ผ่าน “ระบบนิเวศนวัตกรรม”
โรงงานบริการนวัตกรรมอาหาร (Food Innovation Service Plant : FISP) มุ่งสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ ที่ต้องการพัฒนานวัตกรรมผลิตภัณฑ์อาหารออกสู่ตลาด ตั้งแต่การพัฒนาแนวคิดผลิตภัณฑ์ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตระดับห้องปฏิบัติการ และการบ่มเพาะเทคโนโลยีการผลิต บริการสายการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมบริโภค เครื่องดื่ม วิเคราะห์ทดสอบ ประเมินอายุเก็บรักษาผลิตภัณฑ์อาหาร ด้วยมาตรฐาน GMP
โรงงานนำทางสายการผลิตอาหารแห้ง บริการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ อาทิ ทุเรียน ขนุน กล้วย สับปะรด ฟักทอง มันเทศ กระเจี๊ยบ ฯลฯ ด้วยนวัตกรรมเครื่องทอดสุญญากาศ
Co-working food space ศูนย์เรียนรู้เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านมาตรฐานการผลิต แปรรูปอาหาร ด้วยมาตรฐาน GMP ให้แก่ผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน กลุ่มเกษตรกร
ศูนย์นวัตกรรมหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (Innovative Center for Production Industry microorganisms : ICPIM 1) วิจัยพัฒนา ผลิต บริการ ด้วยมาตรฐาน GMP ด้านอาหารและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากโพรไบโอติก/พรีไบโอติก ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับคนไทย บริการห้อง Bioprocess เครื่องทำแห้งแบบแช่เยือกแข็งและธนาคารโพรไบโอติก
ศูนย์นวัตกรรมหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (Innovative Center for Production Industry microorganisms : ICPIM 2) บริการครบวงจรวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์จุลินทรีย์ใหม่เพื่อการเกษตรในระดับห้องปฏิบัติการและทดสอบกระบวนการผลิต ขยายจุลินทรีย์ในระดับกึ่งอุตสาหกรรม สามารถผลิตสารชีวภัณฑ์ได้จำนวน 3 รูปแบบ ได้แก่ หัวเชื้อเหลว หัวเชื้อน้ำและหัวเชื้อผง
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านสาหร่าย (Algal Excellent Center : ALEC) มุ่งเน้นการผลิตชีวมวลสาหร่ายเพื่อเป็นวัตถุดิบ ในการนำไปใช้ประโยชน์ด้านเกษตร อาหาร เภสัช สิ่งแวดล้อม พลังงาน อย่างยั่งยืน วิจัย พัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี นวัตกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์และการบริการที่เกี่ยวข้องกับสาหร่ายอย่างครบวงจรทั้งในและต่างประเทศ
ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ (Expert Center of Innovative Agriculture : InnoAg) มุ่งสู่ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีเกษตรชุมชน บริการวิจัยพัฒนาด้านการเกษตร ครอบคลุมเทคโนโลยีชีวภาพด้านการเกษตร ผัก ผลไม้พื้นบ้าน เห็ด การอารักขาพืช เทคโนโลยีปัจจัยการผลิตพืช เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้บริการเศรษฐกิจและสังคมอย่างครบวงจร
ศูนย์บริการนวัตกรรมเวชสำอางครบวงจร (Innovative Cosmetic Services Center : ICOS) ให้บริการเบ็ดเสร็จ ครบวงจร ด้านการผลิตเครื่องสำอางให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs Startup วิสาหกิจชุมชน เพื่อต่อยอดงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน เสริมแกร่งเศรษฐกิจประเทศ
อาคารเภสัชวิทยาและพิษวิทยา บริการทดสอบทางพิษวิทยาอย่างครบวงจรในผลิตภัณฑ์ยา ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร food additive สารชีวภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ ผลการทดสอบจาก วว. นำไปขึ้นทะเบียน อย. และส่งออกได้
ศูนย์ทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพ (Biodegradability Testing Laboratory : BioD) บริการวิจัย/ วิเคราะห์ทดสอบการสลายตัวทางชีวภาพตามมาตรฐานสากล การสลายตัวทางชีวภาพในเบื้องต้นของวัสดุทั่วไปในปุ๋ยหมัก ดิน น้ำ การบำบัดสารอันตรายตกค้างในสิ่งแวดล้อมโดยกระบวนการทางชีวภาพ ห้องปฏิบัติการมาตรฐานระบบ ISO/IEC 17025 (สาขาเคมี พลาสติกสลายตัวได้) จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ISO 17088 จากสถาบัน DIN CERTCO ประเทศสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ขึ้นทะเบียนห้องปฏิบัติการทดสอบด้านพลาสติกชีวภาพตามมาตรฐาน ISO 17088 กับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
ศูนย์ทดสอบมาตรฐานระบบขนส่งทางราง (Railways Transportation System Testing Center : RCCT) มุ่งให้บริการทดสอบสมรรถนะ ความปลอดภัยชิ้นส่วนระบบราง รับรองผลิตภัณฑ์ด้านระบบราง ทดสอบและประเมินความปลอดภัยด้านการสั่นสะเทือน ทดสอบและพัฒนาวัสดุ ผลิตภัณฑ์ระบบห้ามล้อ ทดสอบโบกี้และพัฒนาชิ้นส่วนประกอบโบกี้ พัฒนาวัสดุและอุปกรณ์ในงานทาง ตรวจติดตามเสริมสมรรถนะงานซ่อมบำรุง ให้คำปรึกษา พัฒนาผู้ประกอบการ ครอบคลุมรถไฟทุกระบบ รวมทั้งรองรับเทคโนโลยีระบบรางได้ทุกค่าย
ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ (Expert Center of Innovative Industrial Robotics and Automation : InnoRobot) มุ่งเน้นวิจัยและพัฒนา บริการ ถ่ายทอดเทคโนโลยี การผลิตหุ่นยนต์และยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างธุรกิจที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ พัฒนาบุคลากรด้าน Mechatronics เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรอัจฉริยะของประเทศ
ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม (Expert Center of Innovative Clean Energy and Environment : InnoEn) มุ่งวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยี นวัตกรรม ด้านพลังงานสะอาดจากชีวมวล รวมน้ำเสีย ของเหลือทิ้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และขยะชุมชน มุ่งเน้นความเป็นเลิศด้านพลังงานทดแทน การจัดการสิ่งแวดล้อม การจัดการทรัพยากรที่เกี่ยวข้องกับพลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อบูรณาการสู่เศรษฐกิจและสังคมสีเขียวของประเทศอย่างยั่งยืน
ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีประยุกต์สู่ SMEs เขตเศรษฐกิจพิเศษ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี จ.ปทุมธานี สนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ รองรับการลงทุนด้านการวิยพัฒนา เชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมกับภาคการวิจัย โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น การผลิตชิ้นส่วนระบบราง การผลิตชิ้นส่วนรถไฟฟ้าหรือยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมและบริการเพื่อสุขภาพ อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต อุตสาหกรรมเกษตรสมัยใหม่ อุตสาหกรรมชีวภาพ รวมถึงอุตสาหกรรมพลังงานและสิ่งแวดล้อม ผู้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ของ วว. จะได้รับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติ คือ ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 เพิ่มเติมอีก 5 ปี หรือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 2 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทกิจการ
นอกจากนี้ยังมีแพลตฟอร์มระบบบริการลูกค้าออนไลน์ “วว. JUMP” ที่สะดวก รวดเร็ว ตอบโจทย์ลูกค้า และช่วยลดขั้นตอนดำเนินงาน ซึ่งจะเป็นช่องทางสำคัญในการเชื่อมโยง วว. กับ SMEs ในการประสานงาน-รับโจทย์-ตอบโจทย์ โดย วว. เปิดให้บริการแก่ผู้ประกอบการ SMEs ผ่านเว็บไซต์ www.tistr.or.th (https://tistrservices.tistr.or.th/) เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วในการให้บริการแก่ลูกค้า โดยเฉพาะการใช้บริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครสมาชิก การเลือกใช้บริการ การขอใช้บริการ การขอใบเสนอราคา การรับใบแจ้งเก็บเงินการใช้บริการ การรับใบเสร็จ/ใบกำกับภาษี
งานบริการ SMEs วว. ครบวงจรดังกล่าว ช่วยเพิ่มมูลคาสินคาและบริการของธุรกิจ SMEs ที่ได้นํา วทน. ของ วว. ไปประยุกต์ใช้ ช่วยเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการเทคโนโลยี นวัตกรรม ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแขงขันอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน