xs
xsm
sm
md
lg

วว. อวดโฉมนิทรรศการ “สะแกราชโมเดล” ต้นแบบการเรียนรู้ ฟื้นฟูป่า สู่ธนาคารธรรมชาติ งานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) อวดโฉมนิทรรศการ “สะแกราชโมเดล” ต้นแบบการเรียนรู้ ฟื้นฟูป่า สู่ธนาคารธรรมชาติ โดย ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมคณะ เยี่ยมชมนิทรรศการ ซึ่ง วว. นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งชุมชน เพื่อรับมือวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก ในกรอบการบริหารพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราชอย่างยั่งยืน สนับสนุนการวิจัยโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เนื่องในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023) ซึ่ง วช. จัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์ ภายใต้แนวคิด “วิจัยไทยก้าวไกล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน” โอกาสนี้ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. พร้อมคณะผู้บริหารและนักวิจัย ร่วมให้การต้อนรับและบรรยายรายละเอียดผลงานที่นำมาจัดแสดง ณ ชั้น 22 โซนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG 


นิทรรศการ “สะแกราชโมเดล” ต้นแบบการเรียนรู้ ฟื้นฟูป่า สู่ธนาคารธรรมชาติ วว. นำเสนอการดำเนินงานบริหารพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราชอย่างยั่งยืนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG และผลการดำเนินงานที่ประกอบด้วยองค์ความรู้และฐานข้อมูลจากงานวิจัยทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการปรับตัวและเสริมสร้างอาชีพของชุมชนโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG จากความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพในป่าสะแกราช ซึ่งจะเป็นโมเดลต้นแบบสู่การขยายผลในพื้นที่อื่นๆ เพื่อการพัฒนาพื้นที่สงวนชีวมณฑลอย่างยั่งยืน ภายใต้การดำเนินงาน 3 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าสงวนสะแกราชรองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนทรัพยากรธรรมชาติ 2) โครงการอนุรักษ์พื้นที่ชีวมณฑลสะแกราชและการปรับตัวของชุมชนด้วยการส่งเสริมอาชีพอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยใช้องค์ความรู้จากป่าสะแกราช และ 3) โครงการการสำรวจและพัฒนาฐานข้อมูลพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราชเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน โดย ศูนย์เชี่ยวชาญพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม วว. เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี


การดำเนินโครงการดังกล่าวมุ่ง 2 ด้านหลัก ได้แก่

1. การตั้งรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยติดตามพลวัตป่าไม้ธรรมชาติและป่าฟื้นฟู เพื่อการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนในพื้นที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช วว. จังหวัดนครราชสี นำมามาพัฒนาฐานข้อมูลชีวภาพของพื้นที่ป่าไม้ ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมพัฒนาแบบจำลองเพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและความหลากหลายทางพืชพรรณจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราชและส่งเสริมการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนของชุมชน

2. โครงการการพัฒนาชุมชนโดยรอบพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช โดยการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้มีค่าแบบผสมผสานในพื้นที่เกษตรกรรมและป่าเสื่อมโทรม การใช้ประโยชน์เห็ดป่าในอนาคต เพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมของไม้มีค่าในพื้นที่ป่าสะแกราชที่ใกล้จะสูญพันธุ์ อบรมให้ความรู้แก่ชุมชนในการเพาะเชื้อเห็ดเอคโตไมคอร์ไรซา ในกล้าไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ สนับสนุนกล้าไม้แก่ชุมชน จัดตั้งศูนย์การเพาะเชื้อเห็ดในพื้นที่ พร้อมจัดทำแปลงสาธิตพืชกินได้

เนื่องจากป่าในสะแกราชเป็นตัวแทนของป่า 2 ประเภทหลักๆ ประกอบด้วย ป่าไม่ผลัดใบ (ป่าดิบแล้ง) และป่าผลัดใบ (ป่าเต็งรัง) จากการศึกษาข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจาก GISTDA ซึ่งเป็นข้อมูลภาพถ่ายของสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชและพื้นที่โดยรอบในระยะ 2 กิโลเมตร เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่าจากอดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่า พื้นที่ป่าเต็งรังมีเนื้อที่ลดลงจาก 38.63% เป็น 27.63% และ ป่าดิบแล้งมีเนื้อที่เพิ่มขึ้นจาก 31.77 % เป็น 41.44%


นอกจากนี้จากการวิเคราะห์มวลชีวภาพและการกักเก็บคาร์บอน (Biomass and Carbon storage) ของต้นไม้ในสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราชและพื้นที่โดยรอบในระยะ 2 กิโลเมตร โดยใช้สมการแอลโลเมตรีอ้างอิงตาม Ogawa et al. (1965) และ Komiyama et al. (1987) พบว่า พื้นที่ป่าไม้บริเวณสถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สามารถกักเก็บคาร์บอนเหนือพื้นดินได้ทั้งหมด 2,770,281.26 ตันคาร์บอน โดยป่าดิบแล้งมีการกักเก็บคาร์บอนได้สูงที่สุด จำนวน 2,024,929.27 ตันคาร์บอน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของพื้นที่ด้านบริการของระบบนิเวศ (ecosystem services) ที่สำคัญ


“การอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้รวมไปถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวจากการปลูกป่า มีความสำคัญอย่างมากต่อการลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากป่าไม้จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญในการการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หากระบบนิเวศป่าไม้ถูกทำลายไป จะส่งผลให้ศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูญเสียไป มากไปกว่านั้นยังทำให้ปริมาณคาร์บอนที่สะสมไว้ถูกปลดปล่อยคืนสู่บรรยากาศและก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนมากยิ่งขึ้น” .... ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวสรุป






กำลังโหลดความคิดเห็น