สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เตรียมโชว์ “สะแกราชโมเดล วว.” ต้นแบบการเรียนรู้ ฟื้นฟูป่า สู่ธนาคารธรรมชาติ นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งชุมชน เพื่อรับมือวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก ในงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023) ซึ่ง สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กำหนดจะจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “วิจัยไทยก้าวไกล ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน” ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ฯ เซ็นทรัลเวิลด์ โดย วว. จะจัดแสดงนิทรรศการผลงาน“สะแกราชโมเดล” ต้นแบบการเรียนรู้ ฟื้นฟูป่า สู่ธนาคารธรรมชาติ โดยนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างความเข้มแข็งชุมชน เพื่อรับมือวิกฤตสิ่งแวดล้อมโลก ในกรอบการบริหารพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราชอย่างยั่งยืน สนับสนุนการวิจัยโดย วช. ณ บูธ AL 1 ในโซนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชตชวลิต ผู้ว่าการ วว.กล่าวว่า วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม (ศนพ.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี บูรณาการสร้างองค์ความรู้จากงานวิจัยทางด้านทรัพยากรธรรมชาติ ภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการปรับตัวและเสริมสร้างอาชีพของชุมชนโดยใช้โมเดลเศรษฐกิจ BCG จากความหลากหลายของทรัพยากรชีวภาพในแหล่งสงวนชีวมณฑลสะแกราช ซึ่ง วว. โดย สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช ศนพ. เป็นหน่วยงานกำกับดูแล จำนวน 3 โครงการ ได้แก่
1. โครงการพัฒนาพื้นที่ป่าสงวนสะแกราชรองรับสภาวะการเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืนทรัพยากรธรรมชาติ
2. โครงการอนุรักษ์พื้นที่ชีวมณฑลสะแกราชและการปรับตัวของชุมชนด้วยการส่งเสริมอาชีพอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยใช้องค์ความรู้จากป่าสะแกราช
3. โครงการการสำรวจและพัฒนาฐานข้อมูลพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราชเพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
“ผลการดำเนินงานโครงการฯ ดังกล่าว วว. และพันธมิตรบูรณาดำเนินงานใน 2 ด้านหลัก คือ 1) การตั้งรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ติดตามพลวัตป่าไม้ธรรมชาติและป่าฟื้นฟู เพื่อการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนในพื้นที่สถานีวิจัยฯ พัฒนาฐานข้อมูลชีวภาพของพื้นที่ป่าไม้ ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมพัฒนาแบบจำลองเพื่อวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินและความหลากหลายทางพืชพรรณจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราชและส่งเสริมการอนุรักษ์อย่างยั่งยืนของชุมชน และ 2) โครงการการพัฒนาชุมชนโดยรอบพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช โดยการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้มีค่าแบบผสมผสานในพื้นที่เกษตรกรรมและป่าเสื่อมโทรม การใช้ประโยชน์เห็ดป่าในอนาคต เพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมของไม้มีค่าในพื้นที่ป่าสะแกราชที่ใกล้จะสูญพันธุ์ อบรมให้ความรู้แก่ชุมชนในการเพาะเชื้อเห็ดเอคโตไมคอร์ไรซา ในกล้าไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ สนับสนุนกล้าไม้แก่ชุมชน จัดตั้งศูนย์การเพาะเชื้อเห็ดในพื้นที่ พร้อมจัดทำแปลงสาธิตพืชกินได้ โดย วว. และพันธมิตร ดำเนินงานในพื้นที่ 9 หมู่บ้าน โดยรอบแหล่งสงวนชีวมณฑลสะแกราชา ในเขตอำเภอวังน้ำเขียว อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งจะเป็นโมเดลต้นแบบสู่การขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป เพื่อการพัฒนาพื้นที่สงวนชีวมณฑลอย่างยั่งยืนต่อไป” ... ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.ประทีป วงศ์บัณฑิต รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน วว. กล่าวถึงผลการดำเนินงานจากโครงการฯ ว่า ประกอบด้วย องค์ความรู้และฐานข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนา ดังนี้ 1) องค์ความรู้ของผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีต่อการปรับตัวของพรรณไม้และการสืบต่อพันธุ์พืชในระบบนิเวศป่าไม้ 2) องค์ความรู้ทางด้านอุทกวิทยาที่บ่งชี้การลดลงของปริมาณน้ำท่า 45-59% ในอีก 10 ปีข้างหน้า ในระบบนิเวศป่าไม้สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช เพื่อการเตรียมรับมือกับภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ 3) องค์ความรู้ชนิดพรรณไม้ในระบบนิเวศป่าไม้ที่ทนทานต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมในการฟื้นฟูและเพิ่มพื้นที่สีเขียว 4) องค์ความรู้ทางด้านการผลิตกล้าไม้เศรษฐกิจและไม้ยืนต้นกินได้ผสมเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซาที่สามารถรับมือจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 5) องค์ความรู้ในการส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจผสมเชื้อเห็ดไมคอร์ไรซาในบ้านเรือนและพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร 6) ฐานข้อมูลมวลชีวภาพ การกักเก็บคาร์บอน และการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ในระบบนิเวศป่าไม้ 7) ฐานข้อมูลความหลากหลายทางชีวภาพในระบบนิเวศป่าธรรมชาติและป่าฟื้นฟูในป่าสะแกราช ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG 8) ฐานข้อมูลแหล่งเมล็ดพันธุ์ไม้วงศ์ยางและพันธุ์ไม้มีค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อเป็นแหล่งในการเก็บเมล็ดพันธุ์ไม้เพื่อเพาะกล้าไม้ส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่สีเขียว และ 9) ธนาคารสายพันธุ์เห็ดและเมล็ดพันธุ์ไม้เพื่อเป็นการอนุรักษ์สายพันธุ์เห็ดและเมล็ดพันธุ์ไม้นอกถิ่นกำเนิด (ex situ) อันเป็นหลักประกันแหล่งเชื้อพันธุ์เห็ดและเมล็ดพันธุ์ไม้ภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
นายเฉลิมชัย จีรพันธุ์ ผู้อำนวยการ ศูนย์เชี่ยวชาญพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม วว. กล่าวว่า ผลการศึกษาจากโครงการฯ และแนวทางการพัฒนาพื้นที่ป่าสะแกราชในอนาคต มีดังนี้
ระยะสั้น : วว. นำองค์ความรู้ที่ได้มาจัดทำเป็นนโยบายและผลักดันการดำเนินงานในการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืนในพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช
ระยะปานกลาง-ยาว :
1.จัดทำแผนยุทธศาสตร์การวิจัยของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ปี พ.ศ. 2566–2570 ที่มุ่งเน้นการพัฒนาชุมชนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ในพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช อันเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ซึ่งสอดคล้องกับแผนปฏิบัติการลิมา (Lima Action Plans) ที่เป็นเป้าหมายในการดำเนินงานของพื้นที่สงวนชีวมณฑลขององค์การยูเนสโก
2.ผลักดันให้สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช เป็นพื้นที่ต้นแบบในการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพในถิ่นกำเนิด (in situ) และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างยั่งยืนภายใต้โมเดลเศรษฐกิจ BCG
3.จัดตั้งศูนย์การติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประเมินผลกระทบ และการแจ้งเตือนในการป้องกันและรับมืออันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ระยะยาว : พัฒนาศักยภาพ คุณค่า และนิเวศบริการ ของพื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนในระดับนานาชาติ ภายใต้กรอบการดำเนินงานของของพื้นที่สงวนชีวมณฑลขององค์การยูเนสโก