xs
xsm
sm
md
lg

กรมโยธาธิการและผังเมืองเร่งบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเดินหน้ากำจัดผักตบชวา เปิดทางน้ำรับฤดูฝนปี 66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เตรียมพร้อมและเฝ้าระวังในการรับมือฤดูฝน เร่งบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมเครื่องมือ เครื่องจักร และเรือเข้าดำเนินการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชทั่วประเทศ เพื่อไม่ให้กีดขวางทางระบายน้ำ ป้องกันการเกิดอุทกภัย และน้ำท่วมขัง พร้อมสนับสนุนเรือกำจัดผักตบชวาและวัชพืชเข้าช่วยเหลือทุกพื้นที่ที่ประสบปัญหาผักตบชวาและวัชพืชสะสมหนาแน่น

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาผักตบชวา จึงได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาผักตบชวาที่กีดขวางทางน้ำในแม่น้ำสายหลัก แหล่งน้ำปิดขนาดใหญ่ แหล่งน้ำเชื่อมโยง และในแหล่งน้ำปิดสาธารณะ

ทั้งนี้ ได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมา 3 คณะ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา ได้แก่ 1.คณะกรรมการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นกรรมการและเลขานุการ 2.คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาผักตบชวา โดยมี ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน และมีอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นคณะอนุกรรมการและเลขานุการ และ 3.คณะทำงานเพื่อปฏิบัติการแก้ไขปัญหาผักตบชวา ระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีโยธาธิการและผังเมืองจังหวัด เป็นคณะทำงานและเลขานุการ ซึ่งตามมติที่ประชุมได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ
ทั้งกรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า กรุงเทพมหานคร จังหวัด อำเภอ ท้องถิ่นทุกแห่ง หน่วยงานทหาร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน ร่วมมือกันทำงานแบบ “ประชารัฐ” โดยแม่น้ำสายหลัก และลุ่มน้ำภาคกลางมอบหมายให้กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า และกรุงเทพมหานคร ดูแลรับผิดชอบในแม่น้ำสายต่างๆ โดยมีหน่วยงานทหาร เข้ามาร่วมบูรณาการ แหล่งน้ำปิดและแหล่งน้ำเชื่อมโยง มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่มีเครื่องจักร เช่น อบจ. กรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานทหารร่วมกันดำเนินการ

สำหรับพื้นที่รับผิดชอบของกรมประกอบด้วยแม่น้ำสายหลัก 2 สาย คือ แม่น้ำแม่กลอง รับผิดชอบตั้งแต่ใต้เขื่อนแม่กลอง ผ่านจังหวัดราชบุรี และจังหวัดสมุทรสงคราม ลงสู่อ่าวไทย (ระยะทางประมาณ 94 กิโลเมตร) แม่น้ำท่าจีน ใต้ประตูโพธิ์พระยา ลงมาอ่าวไทย ผ่านจังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร ลงสู่อ่าวไทย (ระยะทางประมาณ 200 กิโลเมตร) กรมชลประทานรับผิดชอบแม่น้ำท่าจีน ตั้งแต่ประตูระบายน้ำพลเทพ ถึงประตูระบายน้ำโพธิ์พระยา (ระยะทางประมาณ 120 กม.) แม่น้ำน้อย ตั้งแต่ประตูระบายน้ำบรมธาตุ ถึงประตูระบายน้ำผักไห่ (ระยะทางประมาณ 97 กม.) แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำบางปะกง และพื้นที่รับชอบตามกฎหมาย กรมเจ้าท่ารับผิดชอบแม่น้ำเจ้าพระยา (ระยะทางประมาณ 160 กม.) และแม่น้ำน้อย ตั้งแต่ใต้ประตูระบายน้ำผักไห่ ถึงจุดเชื่อมต่อแม่น้ำเจ้าพระยาที่อําเภอบางไทร (ระยะทางประมาณ 42 เมตร) และแม่น้ำลพบุรี กรุงเทพมหานคร รับผิดชอบแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และแหล่งน้ำในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำหรับแหล่งน้ำปิด และแหล่งน้ำเชื่อมโยง มอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่มีเครื่องจักร เช่น อบจ. กรมโยธาธิการและผังเมือง และหน่วยงานทหาร ร่วมกันดำเนินการ

อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมในฐานะเลขานุการคณะกรรมการอำนวยการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาผักตบชวา ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมในการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำมาโดยตลอดทั้งช่วงฤดูแล้ง และฤดูน้ำหลาก พร้อมทั้งติดตามผลการดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ กรมยังได้ดำเนินการตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2566 ตามมติเห็นชอบของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ในมาตรการที่ 7 การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำด้วย

นอกจากนี้ ยังได้สนับสนุนเรือกำจัดผักตบชวาและวัชพืช บูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาผักตบชวาและวัชพืช ดังนี้ 1.ลำน้ำจาง ต.หัวเสือ อ.แม่ทะ จ.ลำปาง 2.แม่น้ำน้อย ต.ช้างน้อย อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ร่วมกับกรมเจ้าท่า 3.คลองวัว คลองเชื่อมจากแม่น้ำเจ้าพระยา ต.บางกระสั้น อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา ร่วมกับกรมเจ้าท่า กรมชลประทาน องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา 4.บึงแม่หนอง ต.ดงตะงาว อ.ดอนพุด จ.สระบุรี ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสระบุรี และจังหวัดอื่นๆ จำนวน 31 จังหวัด ตามการร้องขอความอนุเคราะห์ เพื่อเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลากและปริมาณฝนที่จะตกชุกหนาแน่นในช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม 2566

ในส่วนของการดำเนินการเตรียมพร้อมและเฝ้าระวังในการรับมือฤดูฝนปี 2566 ตามมาตรการที่ 7 การเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ กรมได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาผักตบชวา ด้วยการนำข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมที่มีการสะสมของผักตบชวาและวัชพืชในลุ่มน้ำภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคตะวันออก ทั้งหมด 33 จังหวัด มาวางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งกำจัดผักตบชวาและวัชพืชด้วยการบูรณาการด้านเครื่องจักร เครื่องมือในการกำจัดผักตบชวา วัชพืช และขยะที่กีดขวางทางน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่หน้าตัดแม่น้ำ ลำคลอง เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ทันต่อสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น และเพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัย จึงให้ 43 จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ เร่งกำจัดผักตบชวาและวัชพืช ตามแผนงาน ประจำปี 2566 ทั้งนี้ การดำเนินการแก้ไขปัญหาผักตบชวาจะมีความยั่งยืนได้ ส่วนที่สำคัญที่สุด คือ การได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน ร่วมกันเฝ้าระวังไม่ให้ปริมาณผักตบชวาในพื้นที่สะสมจนเกิดเป็นปัญหา และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลและตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินการแก้ไขปัญหาผักตบชวาอย่างจริงจัง เมื่อประชาชนทราบและเข้าใจแล้ว ความร่วมมือจากภาคประชาชนย่อมเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นการช่วยสนับสนุนหน่วยงานภาครัฐในการแก้ไขปัญหาผักตบชวาและวัชพืชที่กีดขวางทางน้ำอีกทางหนึ่งด้วย

ซึ่งจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมของ GISTDA ที่พบการสะสมของผักตบชวาในพื้นที่ 33 จังหวัด ตามรอบดาวเทียมทุก 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 2566 ถึง 12 กรกฎาคม 2566 พบการสะสมผักตบชวา จำนวน 650,042 ตัน กรมได้แจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบและเร่งดำเนินการกำจัดผักตบชวาให้ทันต่อสถานการณ์ ปัจจุบันผลการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชในแหล่งน้ำเปิด แหล่งน้ำเชื่อมโยง และในแหล่งน้ำปิดสาธารณะทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ถึงมิถุนายน 2566 สามารถกำจัดผักตบชวาไปแล้ว จำนวนทั้งสิ้น 7,297,816 ตัน โดยกรมโยธาธิการและผังเมือง กำจัดได้จำนวน 1,025,185 ตัน กรมชลประทาน จำนวน 4,661,074 ตัน กรมเจ้าท่า จำนวน 486,815 ตัน กรุงเทพมหานคร จำนวน 188,232 ตัน คณะทำงานระดับจังหวัด จำนวน 703,180 ตัน และกรมประมง จำนวน 233,330 ตัน

ปัจจุบันกรมมีเครื่องจักรในการกำจัดผักตบชวาและวัชพืช ทั้งหมดจำนวน 49 ลำ แบ่งเป็น เรือกำจัดผักตบชวาแบบสายพานลำเลียงจำนวน 34 ลำ เรือกำจัดผักตบชวาแบบตักหน้า จำนวน 10 ลำ และเรือพอนทูนบรรทุกรถขุด จำนวน 5 ลำ ดูแลรับผิดชอบในพื้นที่แม่น้ำแม่กลอง และแม่น้ำท่าจีน รวมทั้งให้การสนับสนุนเครื่องจักรในแหล่งน้ำสาธารณะกว่า 64 แห่งทั่วประเทศ หากพี่น้องประชาชนประสบปัญหาเกี่ยวกับผักตบชวาและวัชพืช สามารถแจ้งเข้ามาได้ที่กองบูรณะและบำรุงรักษา กรมโยธาธิการและผังเมือง (ส่วนกลาง) หมายเลขโทรศัพท์ 0-2299-4393 หรือสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ












กำลังโหลดความคิดเห็น