สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย วว. เป็นประธานเปิดการสัมมนา โครงการเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมเวชสำอางและสมุนไพรสู่ตลาดต่างประเทศ ร่วมกับ ร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ศลช. และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เสริมแกร่งผู้ประกอบการไทย ด้วยนวัตกรรมเวชสำอางสมุนไพรสู่สากล
นายสายันต์ ตันพานิช ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานเปิดการสัมมนา โครงการเชื่อมโยงธุรกิจนวัตกรรมเวชสำอางและสมุนไพรสู่ตลาดต่างประเทศ ประจำปี 2566 Cosmeceutical and Herbal Innovation with Business Link (CIB) 2023 โดย วว. ร่วมมือกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ศลช. และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อผลักดันและส่งเสริมศักยภาพของผู้ประกอบการไทย กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องสำอางหรือเวชสำอาง รวมถึงสารสกัดและผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่มีผลทดสอบประสิทธิภาพและความปลอดภัยทางวิทยาศาสตร์ให้สามารถขยายตลาดไปสู่ระดับนานาชาติ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สารสกัดสมุนไพรไทยได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนผลักดันและส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงภาครัฐ หรือผู้ประกอบการไทย กับนานาชาติ และสร้างโอกาสให้เกิดการศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมระหว่างประเทศ ในวันที่ 21 มิถุนายน 2566 ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 อาคาร ADMIN วว. เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี โอกาสนี้ ดร.พัชราภรณ์ วงษา ผู้อำนวยการโปรแกรมบริหารโภชนเภสัชภัณฑ์และเวชสำอาง ศลช. และนายวธัญญู เตชปุญยง ผู้จัดการ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. พร้อมด้วยผู้บริหารจาก วว. และผู้ประกอบการที่ผ่านการคัดเลือกจาก ศลช. จำนวน 6 บริษัท เข้าร่วมกิจกรรมด้วยและจะมีโอกาสได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าในต่างประเทศต่อไป
ภายในงานมีกิจกรรมหลัก ได้แก่ การบรรยายให้ความรู้ และการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การวิเคราะห์ช่องว่างทางธุรกิจ (Business Assessment) พร้อมทั้งกิจกรรมพบที่ปรึกษา (แบบ One on One) เพื่อวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายและวินิจฉัยปัญหาทางธุรกิจ การเงิน การวางกลยุทธ์ทางการตลาด การบริหารองค์กร รวมถึงกิจกรรม Pitching เพื่อนำเสนอผลงาน สินค้า หรือบริการ ต่อนักลงทุน ผู้ที่สนใจ และกิจกรรม Group Discussion ระหว่างผู้ประกอบการกับนักวิจัย วว. เพื่อยกระดับและพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันด้านผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพได้มาตรฐานเพื่อส่งออกยุโรป