อย.ร่วมตำรวจทลายแก๊งผลิต "สมุนไพรปลอม" ตรวจ 4 จุด กทม. ปทุมธานี ทั้งโรงงานผลิต โกดัง แหล่งจำหน่าย ยึดของกลางกว่า 112 รายการ รวม 9 หมื่นชิ้น มูลค่า 4 ล้านบาท สอบสวนพบทุนจีนร่วมลงทุน ส่งขายนักท่องเที่ยวจีน
เมื่อวันที่ 26 พ.ค. นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แถลงผลปฏิบัติ กรณีทลายเครือข่ายผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม โดย นพ.ไพศาลกล่าวว่า ปัจจุบันความนิยมผลิตภัณฑ์สมุนไพรสูงขึ้นในคนทั่วไป และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีน มีความหลากหลาย หาซื้อได้ง่าย เป็นช่องว่างให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายนำผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานกระจายสู่ตลาด ล่าสุด ตำรวจได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคผ่าน เพจเฟซบุ๊ก “ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค” ว่า ได้ซื้อผลิตภัณฑ์สมุนไพรหลายตัวจากพื้นที่เขตห้วยขวาง พบเป็นผลิตภัณฑ์คนละแบบแต่มีเลขทะเบียนยาเดียวกัน จึงสงสัยว่าเป็นผลิตภัณฑ์ปลอม เกรงว่าจะได้รับอันตราย
นพ.ไพศาลกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงตรวจสอบผลิตภัณฑ์ พบมีการแอบอ้างนำเลขทะเบียนตำรับยาของผลิตภัณฑ์อื่นมาใช้ ถือว่าเป็นการปลอมผลิตภัณฑ์ จึงสืบสวนจนทราบถึงแหล่งผลิต โกดังเก็บสินค้า และแหล่งจัดจำหน่าย วันที่ 18 พ.ค. 2566 ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ร่วมกับ อย. นำหมายค้นเข้าทำการตรวจค้น สถานที่ผลิต โกดังเก็บสินค้า และสถานที่จำหน่าย ในพื้นที่ กทม.และ จ.ปทุมธานี 4 จุด ดังนี้ 1. สถานที่จำหน่ายย่าน ซอยเกษมสุข ถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ 15 เขตห้วยขวาง กทม. พบนายจิงฉาย (สงวนนามสกุล) สัญชาติจีน เป็นผู้นำตรวจค้น ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม, ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นที่เป็นความผิด และเอกสารที่เกี่ยวข้องในการสั่งซื้อและจัดจำหน่าย 36 รายการ รวมกว่า 4,579 ชิ้น
2. สถานที่จำหน่ายย่าน ซ.ประชาราษฎร์บำเพ็ญ 6 แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กทม. พบ นางเบน (สงวนนามสกุล) สัญชาติจีน เป็นผู้นำตรวจค้น ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม, ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นที่เป็นความผิดและเอกสารที่เกี่ยวข้องในการสั่งซื้อและจัดจำหน่าย จำนวน 26 รายการ รวมกว่า 12,807 ชิ้น
3. สถานที่ผลิต และโกดังเก็บสินค้า ภายในโรงงานแห่งหนึ่งในพื้นที่ หมู่ 3 ต.ลำลูกกา อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี พบ น.ส.พิมพ์พิชชา (สงวนนามสกุล) เป็นผู้นำตรวจค้น ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม, ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นที่เป็นความผิด เอกสารที่เกี่ยวข้องในการสั่งซื้อและจัดจำหน่าย, เครื่องซีลพลาสติก 1 เครื่อง, เครื่องบรรจุ 1 เครื่อง, ฉลากผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบ เช่น ขี้ผึ้ง สารสกัดต่าง ๆ ที่เป็นสารตั้งต้นในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม รวม 14 รายการ จำนวน 64,900 ชิ้น
4. สถานที่ผลิต ในบ้านพักอาศัยย่าน ถนนบางบอน แขวงบางบอน เขตบางบอน กทม. โดย น.ส.พิมพ์พิชชา เป็นผู้นำตรวจค้น ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรซึ่งอยู่ระหว่างการผลิตและบรรจุ รวม 4 รายการ จำนวน 853 ชิ้น และอายัดวัตถุดิบในการผลิต เช่น น้ำมันหอมระเหย และผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ผสมแล้วรอการบรรจุ เครื่องบรรจุและหม้อต้ม รวมถึงอุปกรณ์ส่วนควบที่ใช้ในการผลิต รวม 26 รายการ รวม 8,652 ชิ้น
นพ ไพศาลกล่าวว่า จากการตรวจค้นทั้ง 4 จุด พบผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่เป็นความผิด 27 ยี่ห้อ ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม 38 รายการ ผลิตภัณฑ์สมุนไพรอื่นที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ.2562 จำนวน 42 รายการ เครื่องจักร รวมถึงอุปกรณ์ส่วนควบที่ใช้ในการผลิตสมุนไพรปลอม และพยานหลักฐานอื่น 32 รายการ รวมทั้งสิ้น 112 รายการ รวมกว่า 90,000 ชิ้น มูลค่าความเสียหายกว่า 4,000,000 บาท โดยวันที่ 25 พ.ค. พนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดีกับ บริษัทสมุนไพรไทยสยาม จำกัด ในฐานะนิติบุคคล และกรรมการ ทั้ง 3 ราย ในฐานะส่วนตัว ได้แก่ 1. น.ส.พิมพ์พิชชา 2. นายจิงฉาย และ 3. นายจือคาง (สงวนนามสกุล) ในความผิดตาม พ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 ฐานร่วมกันผลิตและขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรปลอม ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกินหง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ , ผลิตและขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรโดยไม่ได้รับอนุญาต ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 3 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผลิตและขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยทั้ง 3 รายรับสารภาพตลอดทุกข้อกล่าวหา
"จากการสืบสวนเพิ่มเติมพบว่า เครือข่ายการผลิตมีกลุ่มทุนชาวจีนร่วมลงทุน โดยจ้างคนไทยเป็นผู้ผลิตขายให้นักท่องเที่ยวชาวจีน ใช้เลขทะเบียนตำรับยาของผลิตภัณฑ์อื่นมาใช้กับผลิตภัณฑ์ปลอมขึ้น เพื่อให้ผู้ที่ซื้อหลงเชื่อว่าเป็นผลิตภัณฑ์ของแท้ โดยจะผลิตให้มีคุณลักษณะตามที่นิยมในท้องตลาด ผสมส่วนผสมต่าง ๆ เข้าด้วยกัน บรรจุลงในบรรจุภัณฑ์โดยใช้กำลังคน ซึ่งไม่ได้มาตรฐาน ไม่ผ่านการรับรองจาก อย." นพ.ไพศาลกล่าว
นพ.ไพศาลกล่าวว่า จากนั้นส่งสินค้าไปยังร้านค้าที่เจ้าของเป็นคนจีน ในเขตห้วยขวาง และแหล่งท่องเที่ยวในไทย มีมัคคุเทศก์มารับสินค้าไปหลอกลวงขายนักท่องเที่ยวชาวจีนอีกทอดหนึ่ง ผลิตภัณฑ์สมุนไพรดังกล่าวจะไม่มีการวางจำหน่ายร้านค้าทั่วไป เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจสอบจากหน่วยงานราชการ และการตรวจพบจากผู้รับอนุญาตเลขทะเบียนยาที่แท้จริง โดยจะขายส่งราคาชิ้นละ 20-30 บาท และมีการขายทำกำไรต่อในราคา หลักร้อย ถึงหลักพันบาท โดยเริ่มผลิตและจำหน่ายมาแล้วประมาณ 1 ปี