เมื่อเร็วๆนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (หรือศูนย์ TCI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จัดประชุม“นโยบาย ผลสัมฤทธิ์ และ การมอบรางวัลแก่วารสารในโครงการ TCI-TSRI-Scopus Collaboration Project” แก่บรรณาธิการและกองบรรณาธิการวารสารของไทยจำนวนมากกว่า 200 คน เพื่อสื่อสารผลดำเนินงานภายใต้ โครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มผลผลิต/การอ้างอิงของผลงานวิจัยในมหาวิทยาลัยไทยสู่ฐานข้อมูลสากล โดยมี ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ สมบัติสมภพ หัวหน้าศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย รศ.ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผู้อํานวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านกําลังคนและสถาบันความรู้ สกสว. ดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย ผู้อํานวยการศูนย์เนคเทค ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มจธ. เข้าร่วมการประชุมและมอบรางวัล
โอกาสนี้ ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร กล่าวว่า ในอดีตที่ผ่านมาการเผยแพร่ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการไทยยังไม่เป็นที่ยอมรับมากนักในระดับนานาชาติมากนัก ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะมาตรฐานและคุณภาพของวารสารไทย ทั้งที่การตีพิมพ์ผลงานวิชาการนั้น เป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคุณภาพผลงานและความเชี่ยวชาญของนักวิจัย อีกทั้งการตีพิมพ์ผลงานวิชาการ โดยเฉพาะการตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการนานาชาติ จะช่วยให้สังคมส่วนใหญ่ และ ประชาคมโลกรับรู้ถึงความสามารถ และ ความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของไทย ดังนั้นตนในฐานะที่เคยเป็นบรรณาธิการวารสารมาก่อน จึงอยากจะขอฝากโจทย์สำคัญให้ดำเนินการต่อ ว่าจะต้องทำอย่างไรให้นักวิชาการทั่วโลกเข้าใจและยอมรับวารสารไทยมากขึ้น และทำอย่าง ให้องค์ความรู้ ที่ได้จากกระบวนการวิจัยของไทย เข้าสู่ระบบฐานข้อมูลกลางที่นักวิชาการทั่วโลกเข้าไปค้นหาได้มากขึ้น
ด้าน รศ.ดร.คมกฤต กล่าวว่า ช่วงระยะเวลาตั้งแต่ ค.ศ.2005-2017 มีจำนวนวารสารไทยอยู่ในฐานข้อมูล Scopus เพียง 28 วารสาร (Scopus คือฐานข้อมูลสากลที่รวบรวมวารสารจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกจำนวน 27,950 รายการ และเป็นฐานข้อมูลหลักที่ใช้ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลก) จากสถิติพบว่า Scopus ใช้เวลาในการพิจารณาวารสารไทยเข้าฐานข้อมูลเฉลี่ย 16 เดือน/วารสาร และอัตราการรับวารสารไทยเข้าฐานข้อมูลนี้อยู่ที่ 23% เท่านั้น นอกจากนี้ ยังพบว่า วารสารไทยที่ได้รับการบรรจุใน Scopus แล้ว ยังมี Journal Quartile ที่ต่ำ คือวารสารส่วนใหญ่อยู่ใน Quartile 4 หรือไม่มี Quartile รวมทั้งไม่มีวารสารไทยอยู่ใน Quartile 1 เลย
ดังนั้น สกสว.และหน่วยงานที่ร่วมจัดงานในครั้งนี้ จึงดำเนินการโครงการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มผลผลิต/การอ้างอิงของผลงานวิจัยในมหาวิทยาลัยไทยสู่ฐานข้อมูลสากล โดยใช้กลไกการพัฒนาคุณภาพวารสารไทยให้มีมาตรฐานสากล และผลักดันให้ได้รับการบรรจุในฐานข้อมูล Scopus จำนวน 40 รายการ ภายใน ปี 2017-2020 ในการนี้ ศูนย์ TCI ร่วมกับบรรณาธิการวารสาร ได้ใช้เวลาประมาณ 6-12 เดือน ในการพัฒนาคุณภาพวารสารแต่ละรายการ จนวารสารมีคุณภาพระดับสากล และได้รับการยอมรับบรรจุในฐานข้อมูล Scopus ทั้ง 40 รายการคือมีอัตราการรับวารสารเข้าฐานข้อมูลนี้เป็น 100% และ Scopus ใช้เวลาในการพิจารณาโดยเฉลี่ย 24 วันเท่านั้น นอกจากนี้ ในช่วงปี 2020 เป็นต้นมา จำนวนวารสารไทยใน Scopus มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเพื่อพัฒนาคุณภาพวารสารไทยจำนวน 46 รายการในฐานข้อมูล Scopus ให้มีคุณภาพสูงยิ่งขึ้น สกสว. ได้สนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมในโครงการพัฒนาระบบและปรับปรุงคุณภาพวารสารไทยในฐานข้อมูล Scopus ในปี 2020-2022 เพื่อพัฒนาคุณภาพวารสารและคุณภาพบทความของนักวิชาการไทยในวารสารไทยทั้งในเชิงการบริหารจัดการและเชิงคุณภาพ รวมทั้งยกระดับ Journal Quartile ของวารสารไทยใน Scopus ให้มี Quartile ที่สูงขึ้น
เช่นเดียวกับ ศ.ดร.ณรงค์ฤทธิ์ กล่าวถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นว่า หลังจากสิ้นสุดการดำเนินงานทั้งสองโครงการดังกล่าว คือ จำนวนผลงานวิจัยในรูปแบบบทความประเภท article and review ของประเทศไทยระหว่างปี 2017-2022 มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นถึง 101% เมื่อเทียบกับ 37% ในช่วงก่อนมีโครงการนี้คือปี 2012-2017 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในอาเซียน พบว่าประเทศไทยมีจำนวนบทความในฐานข้อมูล Scopus เพิ่มขึ้นอยู่ในอัตราที่สูงกว่าจำนวนบทความของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปีที่ประเทศไทยมีจำนวนบทความใน Scopus สูงกว่าของประเทศสิงคโปร์ในช่วงเวลาเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น หากพิจารณาเฉพาะบทความไทยที่ปรากฏในวารสารไทยในปีที่ศูนย์ TCI ได้ดำเนินโครงการฯ คือปี 2017-2022 พบว่ามีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นบทความที่ปรากฏในวารสารที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวนปีละมากกว่า 2,200 บทความ ส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อการจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทยในระดับโลก ส่วนในด้านคุณภาพ พบว่าบทความในวารสารไทยมีคุณภาพสูงขึ้นด้วยเช่นกัน โดยพิจารณาจาก journal quartile ที่สูงขึ้นของวารสารในโครงการฯ กล่าวคือ มีวารสารไทยที่อยู่ใน Quartile 1 จำนวน 2 รายการ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในวงการวารสารวิชาการไทย รวมทั้งมีวารสารใน Quartile 2 จำนวน 7 รายการ Quartile 3 จำนวน 13 รายการ และ Quartile 4 จำนวน 24 รายการ ตามลำดับ การเพิ่มขึ้นของ Journal Quartile นี้สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพที่สูงขึ้นของบทความวิชาการไทยบนเวทีโลกได้อย่างชัดเจน
อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ความเป็นมาและผลสัมฤทธิ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานตามโครงการฯ แก่วารสารจำนวน 8 รายการที่มีผลผลิตและผลการดำเนินงานโดดเด่นในช่วงระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 3 ประเภทรางวัล 1.รางวัล Most Improved Percentile Award จำนวน 3 วารสาร ได้แก่
- ABAC Journal ของมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โดยมี ดร.อัปสร มีสิงห์ เป็นบรรณาธิการวารสาร
- Journal of Population and Social Studies ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี ศ.เกียรติคุณ ดร.ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา เป็นบรรณาธิการวารสาร
- rEFLections ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยมี ผศ.ธนิศร์ ตั้งกิจเจริญกุล เป็นบรรณาธิการวารสาร
2 รางวัล High Citation Award จำนวน 3 วารสาร ได้แก่
- Applied Science and Engineering Progress ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยมี ศ. ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน เป็นบรรณาธิการวารสาร
- Environment and Natural Resources Journal ของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยมี รศ.ดร.เบญจภรณ์ ประภักดี เป็นบรรณาธิการวารสาร
- Current Applied Science and Technology ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง โดยมี รศ.ดร.ดุษณี ธนะบริพัฒน์ เป็นบรรณาธิการวารสาร
3 รางวัล TCI popularity Award จำนวน 2 วารสาร ได้แก่
- Thai Journal of Obstetrics and Gynaecology ของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย โดยมี ศ. นพ.วรพงศ์ ภู่พงศ์ เป็นบรรณาธิการวารสาร
- Trends in Sciences ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมี รศ.ดร.พงษ์พิชิต จันทร์นุ้ย เป็นบรรณาธิการวารสาร