สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุม สกสว. พบผู้บริหารหน่วยรับงบประมาณสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund) เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) ที่เกี่ยวกับงบประมาณสนับสนุนงานมูลฐาน และ ประเด็นสำคัญในการบริหารจัดการงบประมาณ และ สร้างความตระหนักให้กับผู้บริหารหน่วยงาน ต่อความสำคัญของการพัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม การพัฒนาศักยภาพบุคลากร ตลอดจนการติดตามประเมินผล และ การดำเนินการที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 โดยมี ศ.เกียรติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) รศ. ดร. ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการ สกสว. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร สกสว. และ ผู้บริหารระดับสูง ผู้แทนหน่วยรับงบประมาณ สนับสนุนงานมูลฐานกว่า 140 หน่วยงาน เข้าร่วมการประชุมและร่วมแลกเปลี่ยน
โอกาสนี้ ศ.เกียรติคุณ นพ.สุทธิพร กล่าวว่า สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม และ กสว. ได้กำหนดแนวนโยบาย สำหรับการบริหารกองทุนส่งเสริม ววน. กับ การขับเคลื่อน ววน. เพื่อการพัฒนาประเทศ ในหลายมิติ อาทิ การบริหารจัดการงบประมาณแบบ “เกินดุล” และ แสวงหาแหล่งทุนจากภายนอก จากความร่วมมือของภาคเอกชน จากปัจจุบันที่มี กองทุนพัฒนาไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจัดสรรงบประมาณให้กองทุน ววน. กำกับดูแล 300 กว่าล้านบาท และสภาอุตสาหกรรม ยืนยันว่าในอีก 5 ปี จะจัดหางบประมาณสมทบจากกองทุนอินโนเวชั่นวัน" (INNOVATION ONE) 1 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังมี มูลนิธิกสิกรไทย ร่วมสนับสนุนงบประมาณดำเนินการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตยาและผลิตภัณฑ์ยาจากพืชที่มีคุณภาพมาตรฐาน อีก 1 พันล้านบาท ซึ่งงบประมาณทั้งหมด สกสว. จะนำมาจัดสรร เพิ่มเติมนอกจากงบประมาณที่ได้รับจากรัฐบาล
ทั้งนี้ เมื่อมีงบประมาณภายนอกเข้ามา จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารจัดการงบประมาณการวิจัย ซึ่งอาจจะต้องเปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนงานมูลฐาน ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศเพิ่มขึ้น รวมถึงการติดตามประมวลและวิเคราะห์การดำเนินงานให้สามารถนำการวิจัยไปต่อยอด และสร้างโอกาสในการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ ร่วมกับ สกสว. และ หน่วยบริหารและจัดการทุน ให้ประเทศไทยมีโปรดักส์แชมป์เปี้ยนมากขึ้น
ด้าน ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า ววน. เป็นทางเลือกของประเทศ และการพัฒนา ววน. ไม่ใช่เพื่อ ววน. แต่เพื่อให้ ววน. เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยการสร้างความรู้ และใช้ความรู้นั้นไปสู่การยกระดับสังคม ให้สังคมไทยเป็นสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ที่แท้จริง มีความรู้ กับการใช้ทรัพยากร การใช้นวัตกรรม และ การใช้เทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนประเทศ และ แก้ไขปัญหาต่าง ๆ เช่นเดียวกับประเทศที่พัฒนาแล้ว โดย สกสว. พร้อมเป็น “คัดท้าย” ทำหน้าที่จัดทำนโยบาย ยุทธศาสตร์และแผนด้าน ววน. ของประเทศ รวมถึง จัดสรรงบประมาณด้าน ววน. ประมาณร้อยละ 60-65 สนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) ที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ของประเทศ ตามแผนด้าน ววน. แก่หน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) ทั้ง 9 แห่ง และ งบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund) ประมาณร้อยละ 35-40 เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของหน่วยงาน ทั้ง 177 หน่วยงาน ให้สามารถผลิตผลงานด้าน ววน. และผลักดันการนำผลงานไปใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ สอดคล้องกับพันธกิจของหน่วยงาน และตอบเป้าหมายของประเทศ สู่การเปลี่ยนแปลงเป้าหมายใหญ่ร่วมกัน ทั้งในส่วนของอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก (Global Innovation Index) และอันดับดัชนีความยั่งยืน (SDG Index) ที่สูงขึ้น อยู่ใน 35 อันดับแรกของโลก โดยสถานการณ์ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ คอร์รัปชัน ความรุนแรง ลดลง คุณภาพสิ่งแวดล้อมที่ดี มีความงอกงามของศิลปวัฒนธรรม และปรับตัวได้ทันต่อพลวัตการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น
โดยการจัดประชุมในครั้งนี้ มีการบรรยายและเสวนาที่น่าสนใจ ได้แก่ การบรรยายพิเศษ “ทิศทางการบริหารกองทุนส่งเสริม ววน. และการใช้ ววน. ขับเคลื่อนประเทศ” โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.สุทธิพร การเสวนา ชวนคิด ชวนคุย “บทบาทของหน่วยรับงบประมาณ FF กับการใช้กลไก ววน. ขับเคลื่อนประเทศ” โดยตัวแทนผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยรับงบประมาณ ได้แก่ ศ.ดร.นพ.ภัทรชัย กีรติสิน รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ผศ.ดร.วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) คุณเพชรดา อยู่สุข รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) ร่วมกับผู้อำนวยการ สกสว. และการบรรยาย “ความสำคัญของการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรม (Research Management) รวมถึง กรอบการติดตามและประเมินผลหน่วยรับงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน.” โดย รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. และกิจกรรมการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับ การเตรียมความพร้อมของหน่วยงาน สำหรับพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 รวมถึงแนวปฏิบัติการบริหารจัดการงานวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยรับงบประมาณ เพื่อดำเนินการต่อไป