ยานอวกาศ HOPE ของ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้เปิดเผยภาพถ่ายความละเอียดสูงในระยะใกล้ของ ดวงจันทร์ไดมอส (Deimos) เป็นครั้งแรก เผยให้เห็นลายละเอียดสุดคมชัด ของดาวบริวาร 1 ใน 2 ดวง ของดาวอังคาร ดาวเคราะห์แดงแห่งระบบสุริยะจักรวาล
หัวหน้าทีมวิทยาศาสตร์ของภารกิจสำรวจดาวอังคารของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (Emirates Mars Mission หรือ EMM) ได้เผยภาพถ่ายดวงจันทร์ไดมอส ในระยะใกล้ที่สุดที่เคยถ่ายภาพได้ ภาพนี้ได้รับการส่งกลับมายังโลกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 และได้ถูกนำมาเผยแพร่ในการประชุมสหภาพธรณีศาสตร์แห่งยุโรป (European Geosciences Union) ณ กรุงเวียนนา เมื่อวันที่ 24 เมษายน ที่ผ่านมา
ดวงจันทร์ไดมอส เป็น 1 ใน 2 ดวงจันทร์บริวารของดาวอังคาร มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 12 กิโลเมตร ด้วยลักษณะที่ไม่เป็นทรงกลม ทำมให้ที่ผ่านมานักดาราศาสตร์ได้คาดการว่า ดวงจันทร์ทั้ง 2 ดวงนี้อาจไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับดาวอังคาร แต่น่าจะเป็นวัตถุขนาดเล็กที่ล่องลอยเฉียดเข้ามาใกล้ จึงถูกแรงโน้มถ่วงของดาวอังคารดึงดูดเอาไว้ กลายมาเป็นดวงจันทร์ขนาดเล็กทั้ง 2 ดวงนี้ การมีภาพถ่ายที่คมชัดนี้ จึงทำให้นักดาราศาสตร์มีข้อมูลที่จะหาคำตอบได้มากยิ่งขึ้น
ยานสำรวจสัญชาติจาก UAE มีวงโคจรลักษณะพิเศษแตกต่างจากยานอวกาศในภารกิจอื่นๆ ที่เคยถูกส่งไปดาวอังคาร โดยยานมีระยะห่างสูงสุดจากดาวอังคารมากกว่า 40,000 กิโลเมตร ทำให้สามารถถ่ายภาพดวงจันทร์ไดมอส (Deimos) ได้อย่างชัดเจนในระยะใกล้ อย่างไรก็ตาม วงโคจรของยานอวกาศ HOPE ไม่สามารถเข้าใกล้ ดวงจันทร์โฟโบส (Phobos) ดวงจันทร์อีกดวงของดาวอังคารที่อยู่ใกล้ดาวอังคารในระยะน้อยกว่า 10,000 กิโลเมตรได้ จึงเป็นที่น่าเสียดายในเรื่องนี้
ยานอวกาศ HOPE เป็นส่วนหนึ่งของภารกิจสำรวจดาวอังคารของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (Emirates Mars Mission หรือ EMM) ภายใต้ความรับผิดชอบของหน่วยงานอวกาศแห่งสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates Space Agency) พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยโคโลราโดโบลเดอร์ (University of Colorado Boulder) ประเทศสหรัฐอเมริกา บริษัท บริษัท มิตซูบิชิ อีเล็คทริค คอร์ปอเรชั่น (Mitsubishi Electric Corporation) ประเทศญี่ปุ่น และทีมวิศวกรรมและนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ภารกิจของยานอวกาศ HOPE นอกจากถ่ายภาพความคมชัดสูงยังติดตั้งเครื่องมือตรวจสอบชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร รวบรวมข้อมูลสภาพอากาศของดาวอังคารในระดับต่างๆ ศึกษาการเกิดพายุฝุ่น
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : space.com / nature.com / TNN