“การทิ้งรังของผึ้ง” ฟังแล้วอาจเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเราๆ แต่เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องใหญ่มากสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง และเป็นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้หากมีการเกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากการเลี้ยงผึ้งในปัจจุบันนั้นต้องพบกับสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย ในแต่ละที่ที่เกษตรนำกล่องเลี้ยงผึ้งไปตั้งไว้ อาจจะต้องพบกับหลากหลายปัญหา เช่น ยาฆ่าแมลง อาหารไม่เพียงพอ หรือพบการรุกรานจากศัตรูทางธรรมชาติ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น จะทำให้ ผึ้งอพยพไปจากรังอย่างฉับพลัน ถือเป็นความเสียหายระดับ “หายนะ” ของเกษตรกร เพราะถือว่าการลงทุนเลี้ยงผึ้งนั้นสูญเปล่าไร้มูลค่าไปโดยปริยาย
ด้วยเหตุนี้ รศ.ดร. อรวรรณ ดวงภักดี หัวหน้าศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองและแมลงผสมเกสร (Bee Park) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (ราชบุรี) จึงได้วิจัยและทำการคิดค้นนวัตกรรม “โมดูลแปลภาษาผึ้ง” เพื่อแก้ไขปัญหาระดับหายนะของเกษตรผู้เลี้ยงผึ้ง
รศ.ดร. อรวรรณ กล่าวว่า “การทิ้งรังของผึ้ง” Colony Collapse Disorder - CCD) เป็นการอพยพของผึ้งไปจากรังอย่างฉับพลัน ถือเป็นความเสียหายระดับ “หายนะ” ของเกษตรกรที่เลี้ยงผึ้ง ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมากจาก การรุกรานของศัตรูทางธรรมชาติ ซึ่งในประเทศไทยมี ตัวต่อ มดแดง นกกินผึ้ง ยาฆ่าแมลง และในบางฤดูกาล เช่น หน้าแล้ง ก็ทำให้ดอกไม้ที่เป็นอาหารของผึ้งขาดแคลน เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผึ้งทิ้งรังได้ และการทิ้งรังอาจจะใช้ช่วงเวลาสั้น สามารถเกิดขึ้นได้ในเพียงไม่กี่ชั่วโมง ซึ่งการทิ้งรังนั้นถือได้ว่าการลงทุนของเกษตรกรสูญเปล่าไปเลย เพราะไม่สามารถที่จะเก็บน้ำผึ้งเพื่อขายได้อีก อีกทั้งยังต้องเริ่มนับหนึ่งลงทุนใหม่ในการรังผึ้งมาทดแทนรังผึ้งที่ทิ้งรังไป
เรียนรู้ภาษาผึ้ง เรื่องที่ดูเล็กๆ ที่อาจจะเป็นเรื่องใหญ่เกินแก้
แมลงกลุ่มผึ้งจะมีการสื่อสารกันด้วยการเต้นรำ เสียง ที่เกิดจากการขยับขาไปเสียดสีกับปีก และกลิ่นหรือฟีโรโมน ซึ่งพฤติกรรมที่ดูเล็กน้อยนี้ หากเราได้ศึกษาจริงๆ แล้ว จะรู้ได้ว่า ผึ้งมีสื่อสารกันตั้งแต่เรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่เหมือนอย่างมนุษย์เรา หากเราเข้าใจภาษาผึ้งและได้รู้ถึงปัญหาที่เค้ากำลังสื่อสารกัน เราก็สามารถที่จะเข้าไปช่วยเหลือเข้าได้ในเรื่องที่เค้าต้องการก่อนจะสายเกินแก้ เช่น หากผึ้งถูกรุกรานจากศัตรู หากเราได้รู้เราก็เข้าไปช่วยป้องกันรัง ซึ่งจะทำให้โอกาสการทิ้งรังลดน้อยลงด้วย
งานวิจัยนี้นำไปสู่ “Smart Hive - โมดูลแปลภาษาผึ้ง” จึงเป็นนวัตกรรมที่สามารถช่วยเหลือกเกษตรกรได้อย่างมาก ด้วยการนำไปติดตั้งไว้ภายในกล่องเลี้ยงผึ้ง อุปกรณ์นี้จะไม่รบกวนผึ้ง แต่จะเก็บข้อมูลพฤติกรรมต่างๆ ของผึ้ง โดยการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยในการวิเคราะห์อัลกอริทึม (Algorithm) ของฐานข้อมูลเสียงในรังผึ้ง ทำให้ตอนนี้ระบบของเราสามารถแปลภาษาผึ้งที่เกิดจากการเสียดสีของขากับปีกของผึ้ง ไม่ว่าจะเสียง ท่าทางต่างๆ ส่งไปยังฐานข้อมูลของ ศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมืองฯ (Bee Park) และแจ้งเตือนเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งผ่านทางแอพพลิเคชั่นที่ติดตั้งไว้ในมือถือ ทำให้สามารถรู้ปัญหาล่วงหน้า และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ก่อนผึ้งทิ้งรัง
“การแจ้งเตือนจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับคือ ‘ระดับสีเขียว’ ที่แสดงว่าเหตุการณ์ในรังยังปกติ ‘ระดับสีเหลือง’ ใช้บอกการบุกรุกโดยศัตรูทางธรรมขาติ ได้แม่นยำถึง 80 เปอร์เซ็นต์ (เริ่มเครียด) และ ‘ระดับสีแดง’ ที่อาจแปลได้ว่า “ฉันต้องการย้ายรังแล้ว (เครียดมาก) โดยหากเสียงที่วิเคราะห์แล้วเข้าข่าย ระดับสีเหลืองหรือสีแดง จะมีการแจ้งเตือนให้ผู้ดูแลระบบหรือเจ้าของฟาร์มทราบในทันที ทำให้สามารถเข้ามาแก้ปัญหาได้ทัน”
นอกจากจะช่วยแจ้งเตือนความเป็นอยู่ของผึ้งแล้ว อุปกรณ์นี้ยังช่วยให้เกษตรผู้เลี้ยงผึ้งมีเวลาว่างเพิ่มมากขึ้น เพราะไม่ต้องใช้เวลามาตรวจดูรังผึ้ง เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็สามารถรู้ปัญหาได้ทันทีผ่านการแจ้งเตือนทางแอพพลิเคชั่น และยังไม่ต้องเปิดกล่องเลี้ยงเพื่อดูรังบ่อยเกินไป ซึ่งเป็นการรบกวนผึ้ง ที่อาจส่งผลต่อปริมาณและคุณภาพของน้ำผึ้งของรังนั้นได้ ด้วยการเป็นอุปกรณ์ที่ตอบโจทย์การเลี้ยงผึ้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลงานชิ้นนี้จึงสมารถคว้ารางวัลนวัตกรรมทั้งในระดับประเทศและระดับอาเซียนได้อีกด้วย