โฆษกรัฐบาล เผย นายกฯ ชื่นชมความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ผลักดันนวัตกรรมด้านพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ช่วยกันแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
วันนี้ (23 ม.ค.) นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีที่ภาคเอกชนไทยและภาคประชาสังคมร่วมมือกันคิดค้นแนวทางหามาตรการลดการใช้คาร์บอน พัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานจากเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ด้วยความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นประเด็นปัญหาทั่วโลก รัฐบาลไทยให้ความสำคัญพิจารณาหาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาและป้องกัน ซึ่งในปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนคิดค้นแนวทางเพื่อร่วมแก้ไขปัญหา หนึ่งในฝีมือผู้ประกอบการไทย ซึ่งคือความร่วมมือของบริษัท เจริญชัยหม้อแปลงไฟฟ้า จำกัด บริษัท อีโนวา อินทิเกรชั่น จำกัด และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ใช้นวัตกรรมเพื่อลดการใช้คาร์บอน คือ การพัฒนาหม้อแปลงไฟฟ้าจาก Submersible Transformer Low Carbon ที่ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ ซึ่งได้ติดตั้งนำร่องในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงในบริเวณสยามสแควร์ ด้วยแล้ว โดยนวัตกรรมหม้อแปลงไฟฟ้านี้ ได้รับรางวัลจากหน่วยงาน ได้แก่ จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน รางวัลกระทรวงพลังงาน Energy Award รางวัลนวัตกรรมสินค้าสนับสนุนส่งเสริมสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ NIA, สินค้า มอก. 384 และใบประกาศเกียรติคุณโครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.หรือ TGO )
นอกจากรางวัลที่การันตีความสำเร็จแล้ว รัฐบาลชื่นชมความคิดริเริ่ม นับเป็นนวันตกรรมที่เกิดจากความพยายามร่วมมือกันของภาคเอกชนและภาคประชาสังคมที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเดินหน้าสร้างพันธมิตร และร่วมมือกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
“นายกรัฐมนตรีชื่นชมความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่ร่วมมือกันส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด รวมถึงคิดค้นนวัตกรรมที่จะช่วยลดคาร์บอน ตามเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 โดยนายกรัฐมนตรีระบุว่า ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นความท้าทายสำคัญ ที่ไม่เพียงแต่องค์กรภาครัฐที่ต้องดำเนินการแก้ไข แต่เป็นปัญหาของทุกคนในโลก ที่ต้องร่วมมือกัน ความพยายาม ความตระหนักรู้ และริเริ่มของทุกหน่วยงานทั้งเอกชน และประชาสังคมล้วนมีความหมาย เพื่อโลก และคนรุ่นต่อไป” นายอนุชา กล่าว