นักดาราศาสตร์แห่งหอดูดาวปารีส นิโคลัส บีเวอร์ ให้ข้อมูลกับ สำนักข่าวเอเอฟพีว่า มนุษย์โลกจะสามารถมองเห็น ดาวหาง C/2022 E3 (ZTF) ซึ่งเป็นดาวหางดวงใหม่ที่เพิ่งถูกค้นพบ โดยดาวหางดวงนี้จะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 12 ม.ค. และเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 1 ก.พ. 2566 ซึ่งจะสามารถมองเห็นได้ง่ายด้วงกล้องส่องทางไกล หรือสามารถมองด้วยตาเปล่า ในค่ำคืนที่ท้องฟ้ามืดและไม่มีแสงสว่างรบกวน
ดาวหางดวงใหม่แห่งระบบสุริยะจักรวาลนี้ มีชื่อว่า C/2022 E3 หรือ ZTF ตามชื่อ Zwicky Transient Facility (ZTF) ซึ่งเป็นหน่วยงานแรกที่พบ ในช่วงที่ดาวหางได้โคจรผ่านดาวพฤหัสบดีเป็นครั้งแรกในเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ดาวหางน้องใหม่ดวงนี้มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 กิโลเมตร ส่วนประกอบของดาวหางนั้น ประกอบด้วยน้ำแข็งและฝุ่น ที่จะระเหยเมื่อได้รับคามร้อนจากดวงอาทิตย์และจะสามารถเปล่งแสงออร่าสีเขียว แสงและหางของดาวหางจะยาวมากขึ้นเมื่อโคจรเข้าใกล้กับดวงอาทิตย์มากยิ่งขึ้น
ดาวหางน้องใหม่แห่งระบบสุริยะดวงนี้มีขนาดเล็กกว่า ดาวหาง Hale–Bopp ที่โคจรมาในปี 2540 ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 60 กิโลเมตร ซึ่งเป็นขนาดที่สามารถทำลายล้างชีวิตมนุษย์ได้หากมีการชนโลก และมีขนาดเล็กกว่า ดาวหาง NEOWISE ที่เป็นดาวหางดวงสุดท้ายที่มนุษย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ที่โคจรผ่านโลกไปเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2563
ในการชมดาวหางนั้นนักดาราศาสตร์ให้คำแนะนำว่า แม้ดาวหาง ZTF จะสว่างที่สุดเมื่อเคลื่อนผ่านโลกในช่วงต้นเดือนก.พ. แต่แสงสว่างจากพระจันทร์เต็มดวงอาจทำให้การมองเห็นเป็นไปได้ยาก แต่ก็สามารถชมในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ม.ค. ตอนดาวหางผ่านระหว่าง กลุ่มดาวหมีน้อย (7ดาวเหนือ) และกลุ่มดาวหมีใหญ่ ช่วงเดือนมืดระหว่างสุดสัปดาห์วันที่ 2 1- 22 ม.ค. เป็นโอกาสดีที่สุดสำหรับนักดูดาว
ทางนักดาราศาสตร์ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีความเป็นไปได้ที่หลังจากการเยือนครั้งนี้ ดาวหางจะถูกขับออกจากระบบสุริยะอย่างถาวร หรืออาจโคจรกลับมาเยือนระบบสุริยะครั้งต่อไปในอีก 50,000 ปีข้างหน้า
หน่วยงานดาราศาสตร์เตรียมใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ ในการจับภาพอย่างใกล้ชิดเพื่อศึกษาองค์ประกอบของดาวหาง ยิ่งดาวหางอยู่ใกล้โลกมากเท่าไหร่ กล้องโทรทรรศน์ก็จะวัดองค์ประกอบของมันได้ง่ายขึ้น ซึ่งดาวหาง ZTF จะช่วยเปิดเผยข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตอื่นในระบบสุริยะในอนาคต