พูดได้ว่าปีนี้เป็นปีแห่ง “กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์” ของ NASA จริงๆ หลังจากถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ค.ศ. 2021 ด้วยจรวดอารีอาน 5 จาก เฟรนช์เกียนา ดินแดนโพ้นทะเลของประเทศฝรั่งเศส ที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งทางเหนือของทวีปอเมริกาใต้ จรดมหาสมุทรแอตแลนติก
จากวันนั้นจนถึงวันนี้ รวมระยะเวลา 1 ปี กล้องได้เดินทางเป็นระยะทางกว่าล้านไมล์ (1.6 ล้านกิโลเมตร) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กล้องโทรทรรศน์อวกาศอันแสนน่าทึ่งนี้ ก็ได้ส่งภาพอันน่าทึ่งมากมกายจากอวกาศ ตั้งแต่ภาพดาวเคราะห์และดวงจันทร์ต่างๆ ในพื้นที่ระบบสุริยะ รวมถึงบางภาพจากกาแลคซีที่อยู่ห่างออกไปกว่า 13,100 ล้านปีแสง
ในวาระครบรอบ 1 ปีนี้ Science MGROnline ขอพาไปรู้จัก กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ กันอีกครั้ง กล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ทำให้มนุษย์โลกตกตะลึงตราตรึงกับความงดงามของห้วงอวกาศอันไกลโพ้น
กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ - JWST (James Webb Space Telescope) เป็นกล้องโทรทรรศน์อวกาศที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยองค์การนาซา องค์การอวกาศยุโรป (ESA) และองค์การอวกาศแคนาดา (CSA) มีเป้าหมายเพื่อสืบทอดภารกิจของกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ในการเป็นภารกิจฟิสิกส์ดาราศาสตร์องขององค์การนาซา กล้องโทรทรรศน์เครื่องใหม่นี้ถูกตั้งชื่อตาม “เจมส์ อี. เวบบ์” ซึ่งเป็นผู้บริหารองค์การนาซาตั้งแต่ปี คริสศักราช 1961 - 1968 หนึ่งในบุคคลสำคัญในโครงการอะพอลโล
แม้จะมีมูลค่ามหาศาลสูงถึงถึง 3.4 แสนล้านบาท แต่กล้องโทรทรรศน์อวกาศนี้ ก็ไม่ทำให้มนุษย์โลกต้องผิดหวัง ด้วยภาพที่ได้ถ่ายและส่งกลับมานั้นคมชัดทั้งรายละเอียดและสีสัน จนทำให้มนุษย์โลกตกตะลึงตราตรึงในความสวยงามของห้วงอวกาศอันแสนกว้างใหญ่ที่ไม่สิ้นสุด และทำให้หลายๆ ภาพ ได้กลายมาเป็นภาพอวกาศแห่งปี โดยเฉพาะภาพ “เนบิวลาคารินา” ที่ทำให้คนทั้งโลกตราตรึงกับหมู่เมฆและสีสันแห่งห้วงอวกาศ เนบิวลาแห่งนี้เป็นเนบิวลาที่ใหญ่ที่สุดและสว่างที่สุดดวงหนึ่งในท้องฟ้า อยู่บริเวณซีกฟ้าใต้ ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 7,600 ปีแสง ในเนบิวล่าเป็นสถานอนุบาลดาวฤกษ์ที่เพิ่งก่อตัวขึ้น เป็นแหล่งกำเนิดของดาวมวลมากจำนวนมาก ซึ่งใหญ่กว่าดวงอาทิตย์หลายเท่า
และนอกจากนั้น กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เว็บบ์ยังได้ถ่ายภาพที่คมชัด “เสาแห่งการก่อกำเนิด” (Pillars of Creation) ใหม่อีกครั้ง ซึ่งภาพนี้เป็นภาพที่โด่งดังจากการถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1995 โดยเสาแห่งการก่อกำเนิดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของเนบิวลานกอินทรีย์ (Eagle Nebula, M16) ในบริเวณกลุ่มดาวงู (Serpens) ห่างจากโลกประมาณ 6,500 ถึง 7,000 ปีแสง
ด้วยสมรรถนะของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ กระจกสะท้อนหลักของมันซึ่งประกอบไปด้วยกระจกเบริลเลียมเคลือบทองทรงหกเหลี่ยม 18 ชิ้น จะมีเส้นผ่านศูนย์กลางรวม 6.5 เมตร และมีพื้นที่รับแสง 25.4 เมตร2 มากกว่าพื้นที่ของกล้องฮับเบิลถึงหกเท่า เท่า จึงทำให้ใช้เวลารวบรวมแสงในการถ่ายภาพน้อยกว่า และยังสามารถถ่ายภาพ ในช่วงคลื่นแสงอินฟราเรด แทนที่จะเป็นแสงที่สายตามองเห็นได้เหมือนกล้องฮับเบิล ทำให้กล้องโทรทรรศน์อวกาศนี้ ถือได้ว่าเป็นประตูบานใหม่ที่ทำให้มนุษย์โลกอย่างเราได้เดินทางท่องไปในห้วงอวกาศอันสวยงาม ผ่านภาพถ่ายอันคมชัดและสีสันโดดเด่นอย่างที่ไม่เคยได้เห็นมาก่อน