ที่ห้องสมุดของมหาวิทยาลัย Birmingham ในประเทศอังกฤษ มีห้อง Mingana เป็นสถานที่เก็บเอกสารที่เกี่ยวกับภาษาและศาสนาอิสลามเป็นจำนวนมาก ห้องนี้มีหนังสือที่ทำด้วยหนังแกะ ซึ่งถูกเก็บอยู่ในห้องสมุดมาเป็นเวลานานร่วมร้อยปีแล้ว แต่ก็ยังไม่มีใครสนใจเปิดอ่านเลย จนกระทั่งถึงปี 2015 ได้มีนิสิตหญิงคนหนึ่งชื่อ Alba Fedeli ซึ่งกำลังทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกเรื่องประวัติความเป็นมาของคัมภีร์กุรอาน ครั้นเมื่อเธอพลิกดูเอกสารก็ได้สังเกตเห็นว่า มีหลายหน้าที่มีลายมือคัดแตกต่างไปจากหน้าอื่นๆ มาก จึงนำหนังสือไปให้ David Parker ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของเธอดู และบอกอาจารย์ว่า ถ้ามีใครวิเคราะห์ลายมือคัดที่แตกต่างไปนี้ ข้อมูลที่ได้คงจะบอกให้โลกรู้เกี่ยวกับคัมภีร์ได้มาก
Parker จึงจัดส่งเอกสารไปให้หน่วยวิจัยของมหาวิทยาลัย Oxford ดู หน่วยวิจัยนี้มีเทคโนโลยี C-14 (ที่ใช้ carbon-14 วัดอายุวัตถุโบราณ) ผลการวิเคราะห์ได้แสดงให้เห็นว่า อายุของเอกสารและหมึกที่ใช้เขียนจารึกนั้น มีค่าประมาณ 1,370 ปี ที่ระดับความเชื่อมั่น 94% ข้อมูลนี้ทำให้เอกสารฉบับนั้นเป็นคัมภีร์กุรอานที่เก่าแก่โบราณมากที่สุดในโลก เพราะได้ถูกจารึกขึ้นในช่วงเวลาที่ศาสดา Muhammad กำลังทรงพระชนม์ชีพอยู่ ดังนั้นเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ในปี 632 ผู้คัดลายมือในเอกสารคงได้บันทึกคำสอนต่างๆ จากพระโอษฐ์ของ Muhammad โดยตรง
ข่าวการพบคัมภีร์โบราณเล่มนี้ได้ทำให้ชาวมุสลิมทั่วโลก 1,600 ล้านคนรู้สึกปิติยินดีมาก เพราะได้เห็นเอกสารที่ถูกเขียนขึ้นขณะองค์ศาสดาทรงพร่ำเทศนาอยู่ คือ มิได้ถูกปราชญ์คนหนึ่งเขียนขึ้นมา หลังจากที่องค์ศาสดาได้สิ้นพระชนม์ไปนานเป็นศตวรรษแล้ว
ความสำคัญของการค้นพบนี้ ได้ทำให้ Alba Fedeli เป็นบุคคลสำคัญ และเป็นสตรีคนแรกที่ได้รับเชิญให้ไปบรรยายในที่ประชุมเรื่อง ประวัติของคัมภีร์กุรอาน ที่ประเทศ Qatar เมื่อปี 2018 และทำให้ Fedeli ได้เป็นนักวิจัยในสังกัดของมหาวิทยาลัย Hamburg ในเยอรมนีกับที่มูลนิธิศาสนาศึกษา ที่เมือง Bologna ในอิตาลี
เหตุการณ์ทำนองเดียวกันนี้ได้เคยเกิดขึ้นเมื่อ 20 ปีก่อน คือ ในปี 1996 ที่ห้องสมุดแห่งชาติของอังกฤษ (British Library) ณ กรุงลอนดอน เมื่อภัณฑารักษ์ห้องสมุดได้วิเคราะห์อายุของกระดาษม้วน (scroll) 13 ม้วน ซึ่งเป็นกระดาษที่ทำจากเปลือกต้น birch แล้วอ่านจารึกบนกระดาษนั้น
ผลปรากฏว่า มันเป็นจารึกคำสอนในพระพุทธศาสนาที่โบราณมากที่สุดในโลก เพราะเอกสารได้ถูกเขียนขึ้นในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษแรกกับต้นคริสต์ศตวรรษที่สอง จารึกจึงมีอายุมากกว่าจารึกโบราณใด ๆ ที่เขียนเป็นภาษาจีน ภาษาเกาหลี ภาษาทิเบต ภาษาสันสกฤต และภาษาบาลี ประมาณ 400 ปี เพราะภาษาที่เขียนเป็นภาษา Gandhari (คันธารี) ซึ่งเป็นภาษาพูดและเขียนในอาณาจักร Gandhara (คันธาระ) ซึ่งมีเมืองหลวงอยู่ที่เมือง Peshawar ในปากีสถาน และอาณาจักรนี้ได้ล่มสลายไป เมื่อถูกกองทัพ Mongol รุกราน
โลกไม่ได้บันทึกว่า ใครคือผู้พบเอกสารนี้ และพบได้อย่างไร จะรู้ก็เพียงว่า เอกสารถูกฝังอยู่ในไหดินเหนียวที่อยู่ใต้ดิน ตรงบริเวณพรมแดนระหว่าง Pakistan กับ Afghanistan จากที่นั่นเอกสารได้ถูกนำไปขายต่อให้พ่อค้าของเก่าหลายต่อหลายคน จนในที่สุดก็มีคนนำเอกสารมามอบเป็นของขวัญในแก่ห้องสมุด British Library
ในการอ่านภาษา Gandhari นั้น ทางห้องสมุดได้มอบให้ Richard Salomon ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา Gandhari จากมหาวิทยาลัย Washington ที่เมือง Seattle ในสหรัฐอเมริกา เป็นคนรับผิดชอบหลักร่วมกับนักวิชาการชาวอินเดียที่อ่านภาษา Gandhari ได้อย่างคล่องแคล่วอีก 3 คน
ณ วันนี้ม้วนกระดาษอายุ 2,000 ปี ได้รับการเก็บรักษาเป็นอย่างดี ภายในห้องที่มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้น เพื่อป้องกันการเสื่อมสลายของกระดาษ นอกจากนี้เอกสารก็ยังถูกนำไปถ่ายทอดออกมาในรูปดิจิทอล เพื่อให้นักวิชาการทั่วโลกได้ศึกษา เห็น และอ่านประวัติความเป็นมาของพุทธศาสนาเมื่อ 2,000 ปีก่อนอย่างทั่วถึง
ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า ในต้นคริสตศักราชแรก อาณาจักร Gandhara ได้รับการยอมรับว่าเป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนา เพราะเป็นดินแดนที่มีปราชญ์กรีก อิหร่าน และอินเดียมาเยี่ยมเยือน เพื่อศึกษาคำสอนในศาสนา ในอดีตก่อนนั้นอาณาจักรมีจักรพรรดิทรงปกครองหลายพระองค์ เช่น Alexander แห่ง Macedonian, Ashoka แห่ง Maurya (มายูระ) และ Kanishka แห่ง Kushan เป็นต้น แต่ในที่สุดอาณาจักรก็ถูกกองทัพ Persia บุกทำลายจนราบคาบเมื่อ 6 ศตวรรษก่อนคริสตกาล และในช่วงเวลาที่กรีกเข้าครอบครองอาณาจักร งานศิลป์ต่างๆ ของชาว Gandhara ได้รับการดัดแปลงให้มีสไตล์เป็นแบบกรีก เช่น พระพุทธรูปทรงมีพระเกศาหยิก และจีวรเหมือนชุด toga (โทกะ) ของชาวโรมันและกรีก
แม้ม้วนกระดาษ Gandhari จะมีความสมบูรณ์ประมาณ 75-80% ของทั้งหมด เพราะหน้าต้น ๆ และหน้าท้าย ๆ ของเอกสารได้ขาดหายไป เพราะถูกสภาวะอากาศที่แห้งผาก และร้อนมากทำลาย แต่ภาษาที่ใช้เขียนก็มีรูปลักษณ์ในการเขียนเสมือนเป็นต้นตระกูลของภาษาสันสันสกฤต และเวลาอ่านเนื้อหาก็ให้อ่านจารึกก็อ่านจากบนลงล่างและจากขวาไปซ้าย
ทุกวันนี้เอกสาร Gandhari ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า Bahubuddha Sutra (พหูพุทธสูต) มีเนื้อหาที่ได้กล่าวถึงพุทธประวัติ ตั้งแต่ทรงประสูติ ทรงตรัสรู้ คำสอนหลัก ๆ ก็ตรงกับคำสอนในพุทธศาสนาปัจจุบัน เช่น ให้สละความสุขทางวัตถุ มุ่งทำจิตใจให้สะอาด และให้นั่งสมาธิ เพื่อจะได้รู้แจ้ง ฯลฯ การอ่านเอกสารนี้ ยังชี้ให้เห็นว่า คำสอนที่เขียนเป็นภาษาจีนและบาลีนั้น ล้วนได้รับการดัดแปลงมาจากเอกสาร Gandhari ทั้งสิ้น
นอกจากเทคโนโลยี carbon-14 จะช่วยนักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีได้ล่วงรู้อายุของสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้น และที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติแล้ว เทคโนโลยีการวัดอายุก็ยังมีบทบาทในการช่วยระบุว่า สิ่งประดิษฐ์ เช่น ภาพวาดหรือรูปแกะสลัก เป็นสิ่งที่รังสรรค์ขึ้นโดยจิตรกรตัวจริงหรือตัวปลอมด้วย และเมื่อได้รู้ชัดว่า วัตถุนั้นเป็นของแท้จริงหรือแท้ปลอม วิทยาศาสตร์ก็จะสามารถช่วยอนุรักษ์วัตถุตัวจริงให้คงสภาพเหมือนเดิม หรือให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ ส่วนวัตถุปลอมก็จะถูกกำจัด ไม่ให้ใครซื้อไปติดตั้งในพิพิธภัณฑ์ เป็นการควบคุมการใช้เงินงบประมาณของประเทศชาติให้เหมาะสมได้อีกวิธีหนึ่งด้วย
ดังเช่นในการจะพิสูจน์ว่า ภาพวาดภาพหนึ่งโดยศิลปิน Vincent van Gogh เป็นภาพจริงหรือภาพปลอม เพราะภาพที่วาดโดยศิลปินท่านนี้มีราคาสูงมากนับพันล้านบาท ดังนั้นการซื้อ-ขายภาพจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพราะถ้าได้ภาพวาดโดยศิลปินตัวจริง พิพิธภัณฑ์นั้นก็จะมีชื่อเสียง แต่ถ้าซื้อภาพปลอมไป ผู้บริหารพิพิธภัณฑ์ก็จะต้องรับผิดไปเต็ม ๆ และเมื่อตลาดค้าวัตถุโบราณกำลังโตวันโตคืน ความพยายามโกงของนักปลอมวัตถุก็เจริญเติบโตตามไปด้วย โดยผู้โกงจะใช้เทคนิควิทยาศาสตร์ขั้นสูง เพื่อตรวจให้รู้ชัดว่า จิตรกรจริงที่วาดภาพใช้สีอะไร และสีนั้นมีส่วนผสมของสารประกอบอะไรบ้าง นอกจากนี้ฝีแปรงในการวาดภาพของจิตรกรมีลักษณะเป็นอย่างไร และในบางกรณีนักปลอมวัตถุก็ใช้เทคนิคในการทำให้ภาพ หรือวัตถุมีอายุมากกว่าที่เป็นจริงด้วย ฯลฯ
ดังนั้นเวลาใครจะซื้อวัตถุโบราณ จากในสมัยก่อนที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ ซึ่งจะใช้เพียงสายตาดูสไตล์การวาดก็จะรู้ว่ามันเป็นภาพของ Picasso หรือของ Rembrandt แต่เมื่อถึงวันนี้ นักวิทยาศาสตร์จะใช้รังสีเอกซ์ถ่ายภาพเห็นลายแปรง เห็นเม็ดสี และเห็นองค์ประกอบต่าง ๆ ของสีที่ใช้ ณ เวลาที่จิตรกรคนนั้นยังมีชีวิตอยู่ ก็จะรู้ชัดว่า ภาพนั้นเป็นภาพปลอมหรือจริงได้ในทันที
ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2004 ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งกรุง Jerusalem ในอิสราเอล ซึ่งผู้เชี่ยวชาญได้นำแจกันที่แกะสลักจากงาช้าง เป็นรูปผลทับทิม ออกจากพิพิธภัณฑ์ เพราะได้ตรวจพบว่ามันเป็นวัตถุปลอมที่ไม่เคยประดับอยู่ในมหาวิหารแห่ง Solomon ตามที่อ้าง ซึ่งวิหารนี้ เป็นศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในสมัยพระเยซู เพราะร่องรอยและลวดลายที่แกะสลักบนแจกันเป็นสิ่งที่ทำขึ้นเมื่อไม่นานมานี้เอง
เพราะการซื้อแจกันโบราณในราคา 16 ล้านบาทเมื่อปี 1982 เป็นข่าวยิ่งใหญ่มากสำหรับชาวยิวทุกคน เพราะถ้าแจกันเคยอยู่ในมหาวิหาร Solomon จริง นั่นแสดงว่า คำสอนต่าง ๆ ที่มีในคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวกับมหาวิหารนี้ว่า ได้มีมาตั้งแต่เมื่อ 1,000 ปีก่อนคริสตกาลก็จะเป็นความจริง และการมีอยู่ของมหาวิหารที่ Dome of the Rock ในกรุง Jerusalem ประเทศอิสราเอล ก็ยืนยันว่า ชาวยิวเป็นเจ้าของ Dome of the Rock มาเป็นเวลานานแล้ว
ย้อนอดีตไปเมื่อครั้นที่มีการซื้อแจกันใบนี้ นักวิทยาศาสตร์ชื่อ Nahman Avigad แห่งมหาวิทยาลัย Hebrew ได้ยืนยันว่า แจกันเป็นวัตถุโบราณจริง
แต่เมื่อถึงปี 2003 ก็ได้มีคนตั้งข้อสงสัยว่า แจกันใบนี้ได้ถูกปลอมแต่ง เพราะมีการตรวจพบว่า รอยจารึกที่ประกอบด้วยสารเคมีนั้น มีอายุไม่ถึง 2,000 ปี นอกจากนี้คำจารึกต่าง ๆ บนแจกัน ก็มิใช่คำในภาษาโบราณ การเขียนคำก็ไม่ถูกต้องตามหลักภาษา ตัวอักษรที่ผิวแจกันมี silicon และเหล็กที่ไม่เคยปรากฏว่า ช่างจารึกในสมัยนั้นรู้จักใช้วัสดุเหล่านี้
ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงสรุปว่า แจกันนั้นมิใช่แจกันที่มาจากมหาวิหาร Solomon เพราะเหตุว่า การรู้อายุของสรรพสิ่งทั้งของเอกภพ โลก สิ่งมีชีวิต และสิ่งไม่มีชีวิต เป็นเรื่องสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์ ความต้องการในประเด็นนี้ จึงได้มีมาเป็นเวลานานแล้ว เช่น ในปี 1900 John Joly (1857-1933) นักธรณีวิทยาชาวไอริช ได้เคยศึกษาสภาพการกร่อนของหิน และได้คำนวณพบว่าโลกมีอายุประมาณ 90 ล้านปี แต่ Lord Kelvin (1824-1907) นักฟิสิกส์และวิศวกรชาวอังกฤษ กลับพบว่าโลกมีอายุประมาณ 100 ล้านปี โดยได้ข้อมูลนี้จากการวัดอุณหภูมิของหินร้อนในเหมืองลึก และใช้สูตรการนำความร้อนในสสาร โดย Kelvin ไม่ได้รู้เลยว่าใต้โลกยังมีแร่กัมมันตรังสีที่สามารถให้ความร้อนแก่โลกได้ตลอดเวลาด้วย
ดังนั้นเมื่อ Henri Becquerel (1852-1908) นักฟิสิกส์ชาวฝรั่งเศส ได้พบปรากฏการณ์กัมมันตรังสีเมื่อปี 1896 เทคโนโลยีนิวเคลียร์ก็ได้ถูกนำมาใช้เป็นนาฬิกาบอกเวลาวัดอายุของวัตถุทันที และนักฟิสิกส์ก็ได้ใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์นี้ในการวัดอายุของสรรพสิ่งต่าง ๆ ตั้งแต่อุกกาบาต กระดูกคนโบราณ กระดูกไดโนเสาร์และพีระมิด ฯลฯ โดยใช้ธาตุกัมมันตรังสีนานาชนิด แต่ธาตุกัมมันตรังสีที่สำคัญและเป็นที่รู้จักดี คือ carbon-14 ซึ่งใช้วัดอายุวัตถุที่ไม่เกิน 20,000 ปี โดยเทคโนโลยีนี้มีประวัติความเป็นมาดังนี้
ในปี 1940 Martin Kamen (1913-2002) แห่งมหาวิทยาลัย California วิทยาเขต Berkeley ในสหรัฐอเมริกาได้ทดลองยิงธาตุ deuterium (ซึ่งเป็นไอโซโทปหนึ่งของไฮโดรเจน และนิวเคลียสของมันมีโปรตอนและนิวตรอนอย่างละหนึ่งอนุภาค) โดยได้ใช้เครื่องเร่งอนุภาคแบบ cyclotron ให้ deuterium พุ่งชนนิวเคลียสของ carbon-12 และได้พบว่ามีไอโซโทปของ carbon-12 เกิดขึ้น คือ carbon-14 ดังสมการ
กับอนุภาค positron ซึ่งเหมือนอิเล็กตรอนทุกประการ แต่มีประจุบวก
และได้พบว่า carbon-14 เป็นธาตุกัมมันตรังสี ที่มีครึ่งชีวิตนานเท่ากับ 5730 ปี (ครึ่งชีวิต คือ เวลาที่นิวเคลียสของธาตุกัมมันตรังสีใช้ในการสลายตัวไปเป็นธาตุอื่น ทำให้ได้จำนวนนิวเคลียสของธาตุเดิมเหลืออยู่เพียงครึ่งหนึ่ง)
ผลงานนี้ได้ทำให้ Kamen มีชื่อเสียงโด่งดัง จนได้รับเชิญให้เข้าร่วมในโครงการ Manhattan เพื่อผลิตระเบิดปรมาณูของสหรัฐฯ แต่ในเวลาต่อมา Kamen ได้ถูกกล่าวหาว่า นำข้อมูลลับเกี่ยวกับการผลิตระเบิดปรมาณูไปให้รัสเซีย เขาจึงถูกรัฐบาลสหรัฐฯ สั่งพักงาน แต่เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองยุติ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้มอบรางวัล Fermi (รางวัล Atoms for Peace) ให้แก่ Kamen ในปี 1955 เป็นการลบล้างมลทินทั้งหลายที่ Kamen ได้ถูกกล่าวหา
พัฒนาการสร้างไอโซโทปของคาร์บอนในเวลาต่อมา ได้ทำให้โลกรู้ว่าคาร์บอนมีไอโซโทปทั้งสิ้น 5 ชนิด คือ C-10, C-11, C-12, C-13 และ C-14 โดย C-12 กับ C-13 เป็นไอโซโทปที่เสถียร คือ ไม่สลายตัว ส่วนไอโซโทปที่เหลือเป็นธาตุกัมมันตรังสี เช่น C-10 มีครึ่งชีวิต 30 วินาที, C-11 มีครึ่งชีวิต 20 นาที และ C-14 มีครึ่งชีวิต 5730 ปี โดยที่ไอโซโทปทั้งหมดมีโปรตอน 6 อนุภาคในนิวเคลียส และมีนิวตรอน 4, 5, 6, 7 และ 8 ในนิวเคลียสตามลำดับ โครงสร้างนิวเคลียสของไอโซโทป จึงเป็น (_6^10)C, (_6^11)C, (_6^12)C, (_6^13)C และ (_6^14)C
แต่ถ้าจะกล่าวถึงประโยชน์ของไอโซโทปคาร์บอนแต่ละชนิดแล้ว C-12 นับว่าสำคัญมากที่สุด เพราะมนุษย์ใช้ถ่าน carbon-12 เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล ส่วน C-14 นั้น ก็สำคัญ เพราะนักวิทยาศาสตร์ นักธรณีวิทยา นักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดี ใช้ C-14 ในการศึกษาวัตถุโบราณด้วยการวัดอายุ แต่นอกจากนักวิทยาศาสตร์จะสร้าง C-14 ได้ โดยการยิง C-12 ด้วย deuterium แล้ว ก็ยังสามารถสร้างได้ โดยการยิงนิวเคลียสของ nitrogen-14 ด้วยอนุภาคนิวตรอนก็ได้ด้วย ดังสมการ
สมการนี้ได้แสดงให้เห็นว่า อนุภาคนิวตรอน ((_0^1)n) จำนวนมากที่มีรังสีคอสมิก ซึ่งมาจากอวกาศที่ไกลโพ้น เวลาพุ่งปะทะนิวเคลียสของ nitrogen-14 ((_7^14)N) จะทำให้ได้ carbon-14 ซึ่งจะเข้ารวมกับออกซิเจนในอากาศได้แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่มี C-14 เป็นองค์ประกอบ การวัดปริมาณ CO2 ที่มี C-14 และ C-12 เป็นองค์ประกอบแสดงให้เห็นว่า เมื่อปริมาณรังสีคอสมิกที่โลกได้รับมีค่าคงตัว (คือ ไม่เปลี่ยนมาก)
ดังนั้น ปริมาณ CO2 ที่มี C-14 เป็นองค์ประกอบหลักก็คงตัวด้วย แต่ CO2 ส่วนใหญ่มักจะถูกน้ำทะเลดูดกลืน จะมีเพียง 1-2% เท่านั้น ที่ถูกพืชหายใจเข้าไป เพื่อสร้างพลังงานในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง (photosynthesis) ดังนั้นในขณะที่สัตว์/พืชมีชีวิตอยู่ ร่างกายหรือลำต้นของมันก็จะมี C-14 อยู่ภายใน ครั้นเมื่อสัตว์/พืชตายลง ร่างกายหรือลำต้นของมันก็จะไม่รับ C-14 เข้าไปอีกแล้ว จากนั้น C-14 ที่มีในตัวสัตว์/พืชก็จะเริ่มสลายตัว การวัดปริมาณ C-14 ที่มีในซากสิ่งมีชีวิตในเวลาต่อมาจะช่วยให้รู้ว่า สิ่งมีชีวิตนั้น ได้ล้มตายไป ตั้งแต่เมื่อใด
นี่คือวิธีคิดของ Willard F. Libby (1908-1980) ซึ่งเป็นนักเคมี แห่งมหาวิทยาลัย Chicago ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งได้พบในปี 1949 ว่า เราสามารถใช้เทคโนโลยี C-14 วัดอายุของวัตถุโบราณได้ และความสำคัญของการค้นพบนี้ ได้ทำให้ Libby ได้รับรางวัลโนเบลเคมี ประจำปี 1960
ปัจจุบันการหาปริมาณ carbon-14 ได้ก้าวหน้าไปมากแล้ว เมื่อนักฟิสิกส์ได้นำเครื่องเร่งอนุภาค cyclotron มาใช้ร่วมกับอุปกรณ์ mass spectrometer เป็น Accelerator Mass Spectrometer (AMS) ทำให้สามารถวัดปริมาณ C-14 ได้อย่างแม่นยำ จึงรู้อายุของวัตถุโบราณได้อย่างแน่นอน
นอกจาก carbon-14 (C) แล้ว เรายังใช้ธาตุกัมมันตรังสีอื่น ๆ ด้วย เพื่อวัดอายุวัตถุโบราณ เช่น beryllium-10, iodine-129, lutetium-176, plutonium-244, potassium-40, rhenium-187, rubidium-87, samarium-147, thorium-232, uranium-235 และ uranium-238
อ่านเพิ่มเติมจาก “Nature’s Clocks: How Scientists Measure the Age of Almost Everything” โดย Doug Macdougall จัดพิมพ์โดย University of California Press ปี 2008 และ “Original Sin” โดย L.Wade ใน Science ฉบับวันที่ 20 ตุลาคม ปี 2017
ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงาน - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์