xs
xsm
sm
md
lg

หนังสือภาพ (Codex) บรรยายอารยธรรม Aztec โดยจิตรกรชาว Aztec

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อ Hernán Cortés นำกองทัพล่าอาณานิคมของสเปน เข้ายึดครอง อาณาจักร Aztec ได้อย่างสมบูรณ์ในปี 1521 Cortés ได้พบว่า อาณาจักรใหม่แห่งนี้มีอาณาเขตที่กว้างใหญ่ไพศาลมาก เพราะมีพรมแดนด้านตกวันออกและตะวันตก จรดมหาสมุทรแอตแลนติกกับแปซิฟิกตามลำดับ และอยู่ในอเมริกากลางตรงที่เป็นประเทศเม็กซิโกในปัจจุบัน มีประชากรประมาณ 20 ล้านคน มีเมืองหลวงชื่อ Tenochtitlan ชาวพื้นเมืองมีขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีที่สวยงามมากมาย เช่น รู้จักทำสวน ปลูกพืชไร่ เช่น มะเขือเทศและพริก รวมถึงมีความเชื่อในเทพเจ้าแห่งความตายว่า เทพเจ้าทรงโปรดปรานการบูชายัญ และการตายอย่างมีคุณค่าสมศักดิ์ศรี ได้แก่ การเสียชีวิตอย่างโหดร้ายและรุนแรง


นอกจากนี้ทหารสเปนก็ยังได้พบอีกว่า ชาว Aztec มีเทคโนโลยีแบบง่าย ๆ ในการสร้างวิหาร มีภาษาเขียนที่เป็นรูปภาพ โดยการวาดภาพลงบนกระดาษที่ทำจากต้นมะเดื่อ หรือใช้วิธีเขียนจารึกลงบนหนังกวาง แล้วนำกระดาษหรือแผ่นหนังมาเย็บรวมกันเป็นเล่ม เรียก codex (ในกรณีที่มีหลายเล่มก็เป็น codices) เนื้อหาใน Codex เป็นเรื่องราวที่เกี่ยวกับประเพณีทางศาสนา วิถีชีวิต พิธีกรรม และความเชื่อต่างๆ

แต่เมื่อบาทหลวงชาวสเปนได้เห็นหนังสือภาพเหล่านี้ ก็รู้สึกไม่พอใจมาก เพราะคิดว่ามันเป็นหนังสือภาพที่สนับสนุนให้ชาวพื้นเมืองบูชาภูตผีปีศาจและเทวดา และเมื่อบาทหลวงต้องการให้ชาว Aztec เปลี่ยนมานับถือคริสต์ศาสนา จึงได้บัญชาให้ทหารเผาทำลาย codex ทุกเล่มที่พบ

แต่อีก 20 ปีต่อมา ได้มีนักบวชชาวสเปนที่เป็นนักประวัติศาสตร์ บางคนต้องการให้ชาวยุโรปได้ล่วงรู้และเข้าใจอารยธรรม Aztec ดี จึงได้ขอร้องให้จิตรกรและนักวาดภาพชาว Aztec ได้วาดภาพของเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นในอาณาจักรและความนึกคิดต่าง ๆ ที่กำลังจะสูญสลาย เพราะถูกอารยธรรมสเปนกลืน

ด้วยเหตุนี้โลกจึงได้เห็น Codex Mendoza อันเป็นหนังสือภาพตามที่ท่านอุปราช Antonio de Mendoza แห่งสเปนได้บัญชาให้ผู้ว่าราชการฯ ในจังหวัดต่าง ๆ จัดทำ Codex เล่มนี้ขึ้น เพื่อนำไปถวายแด่สมเด็จพระเจ้า Charles ที่ 5 แห่งสเปน โดยกำหนดให้มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของชาว Aztec ตลอดจนถึงความเชื่อและประเพณีต่าง ๆ และให้ศิลปินผู้วาดภาพเป็นชาว Aztec มิใช่ให้นักประวัติศาสตร์ชาวสเปนเป็นคนวาด (Codex นี้ จึงแตกต่างจากประวัติศาสตร์ทั่วไป ที่ผู้ครองอาณาจักรเป็นผู้เขียน)


การวิเคราะห์ภาพวาดต่างๆ ใน Codex อย่างละเอียดแสดงให้เห็นว่า ศิลปินผู้วาดภาพมีหลายคน และคนที่เขียนคำบรรยายประกอบภาพได้ใช้ภาษา Nahuatl ซึ่งเป็นภาษากลางของชาว Aztec และได้มีการแปลภาษาดังกล่าว เป็นภาษาสเปนอีกทอดหนึ่ง โดยนักบวชชาวสเปน

ครั้นเมื่อใกล้จะถึงวันที่ 6 ตุลาคม ปี 1541 อุปราช Mendoza ก็ต้องรีบเร่งจัดเย็บรูปเล่มของ Codex ให้เรียบร้อยอย่างรีบร้อน เพื่อนำส่งเอกสารไปสเปนโดยทางเรือ ซึ่งมีกำหนดจะเดินทางออกจากท่าที่เมือง Veracruz พร้อมกับเรืออื่นๆ อีกหลายลำ


แต่ Codex Mendoza มิได้เดินทางถึงสเปน ตามที่ทุกคนคาดหวัง เพราะกองเรือสเปนถูกพวกโจรสลัดชาวฝรั่งเศสบุกปล้นทองคำบนเรือ และโจรสลัดได้นำ Codex ไปทูลถวายพระเจ้า Henri ที่ 2 แห่งฝรั่งเศสแทน จากปารีส Codex ได้ถูกนำไปขายทอดตลาด และเปลี่ยนเจ้าของอีกหลายคน จนถึงปี 1654 ห้องสมุด Bodleian ของมหาวิทยาลัย Oxford ก็ได้ซื้อ Codex ไปเก็บสะสมในฐานะหนังสือเก่าล้ำค่าเป็นเวลานานถึง 170 ปี โดยไม่มีใครเหลียวแล

แม้แต่ Alexander von Humboldt (1769-1859) ซึ่งเป็นพหูสูต และนักผจญภัยชาวเยอรมันผู้ยิ่งใหญ่ที่สนใจอารยธรรม Aztec ก็ไม่ได้ตระหนักว่า โลกมี Codex Mendoza

ในปี 1831 Viscount Kingsborough ได้เรียบเรียงหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Antiquities of Mexico (ยุคโบราณของเม็กซิโก) และได้อ้างถึง Codex Mendoza ว่าถูกเก็บอยู่ที่ห้องสมุด Bodleian โลกจึงได้เห็นอดีตความเป็นมาของชาว Aztec อีกคำรบหนึ่ง

Codex Mendoza ถูกจัดแบ่งออกเป็นสามส่วน โดยมีส่วนแรกบรรยายเกี่ยวกับประวัติการเสียเมืองหลวง Tenochtitlan ของชาว Mexica (ชื่อ Mexica นี้เป็นชื่อที่ชาว Aztec ใช้เรียกชาติของตน) ส่วนที่สองเป็นเรื่องราวของเมืองต่าง ๆ จำนวน 38 เมืองในอาณาจักร และส่วนสุดท้ายเป็นเรื่องราวของชาติพันธุ์ชาว Aztec

คำว่า Aztec เป็นคำที่ Alexander von Humboldt ได้ใช้เรียกชนชาตินี้เป็นครั้งแรก เมื่อปี 1813 และเป็นคำที่ดัดแปลงมาจากคำ Aztlan ซึ่งเป็นถิ่นพำนักในตำนานของชาว Mexica


หน้าแรกของ Codex Mendoza เป็นภาพวาดที่แสดงการเริ่มสร้างเมือง Tenochtitlan เมื่อปี 1325 ซึ่งเนื้อหามีทั้งเรื่องจริง และเรื่องในตำนานว่า ชาว Mexica เดิมใช้ชีวิตเป็นนักล่าสัตว์อยู่ในทะเลทรายทางตอนเหนือของ Mexico แล้วได้เริ่มอพยพลงมาทางใต้ จนถึงดินแดนที่เรียกว่า Valley of Mexico ในปัจจุบัน โดยได้มาปักหลักอยู่ที่เกาะแห่งหนึ่ง ซึ่งเทพเจ้าของชาว Aztec ได้ทรงกำหนดไว้ คือ เป็นสถานที่ ๆ มีนกอินทรีบินมาเกาะอยู่บนต้นกระบองเพชรที่งอกอยู่บนหิน และในปากของนกอินทรีตัวนั้น มีงูอยู่ (ภาพนกอินทรีกินงู จึงถูกนำมาเป็นสัญลักษณ์ของ Mexico) และชื่อ Tenochtitlan ก็แปลว่า สถานที่ที่มีต้นกระบองเพชรขึ้นอยู่บนก้อนหิน

ในปี 1519 จำนวนประชากรในเมืองหลวงได้เพิ่มมากขึ้นถึง 200,000 คน ภายในเมืองมีคลองหลายสายตัดกันไปมา และมีสถานที่ ๆ หนึ่ง ซึ่งแสดงภาพของกะโหลกศีรษะจำนวนมากวางเรียงเป็นชั้น ๆ ภาพนี้จึงมีนัยยะให้เห็นประเพณีการบูชายัญของชาว Aztec ในสมัยนั้นที่ได้กระทำกันอย่างกว้างขวาง

แม้ว่าชาว Mexica ในเวลานั้น จะมีฐานะยากจนและมีความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก แต่ก็ยังสามารถทำสงครามชนะชุมชนอื่น เช่น พวก Colhuacan และ Tenayucan ได้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 14 และจิตรกร Aztec ก็ได้วาดภาพแสดงการมีชัยชนะเป็นภาพของวิหารบนยอดพีระมิดที่กำลังถูกไฟไหม้

สำหรับภาพของสถานที่ต่างๆ ที่ปรากฏใน Codex มักแสดงการมีชัยชนะของกษัตริย์ และจักรพรรดิซึ่งกำลังประทับอยู่บนบัลลังก์ ที่มีเครื่องประดับเป็นโล่ ลูกศร และทหารถือหอก โดยมีปีที่จักรพรรดิทรงปกครองเป็นตัวเลขปรากฏอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ และมีเชลยจำนวนมากหมอบเรียงรายอยู่โดยรอบ

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสงครามนั้น จุดประสงค์ใหญ่ของจักรพรรดิ Aztec มิใช่จะฆ่าศัตรูให้สิ้นซาก แต่ต้องการจะให้ศัตรูมาตกอยู่ใต้บังคับบัญชา คือ เป็นทาส และภาพที่แสดงชัยชนะ มักจะเน้นการเผาวิหารของศัตรู ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เทพเจ้าของชาว Aztec ได้ทรงเห็นชอบแล้ว ดังนั้นการทำตัวเป็นปฏิปักษ์ต่าง ๆ จะต้องยุติ และหลังจากนั้น ก็ให้ทั้งสองฝ่ายเริ่มเจรจาต่อรองกัน โดยที่ฝ่ายแพ้จะต้องนำบรรณาการมาถวายฝ่ายชนะ โดยเฉพาะในช่วงปี 1516-1518 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่ Cortés จะเดินทางมาถึง


สำหรับบรรณาการที่นำมาถวายกษัตริย์นั้น ก็มักจะเป็นพวกเสื้อผ้าสิ่งทอที่มีขนนกประดับ ซึ่งเป็นชุดที่ทหาร Aztec นิยมสวมใส่ นอกจากนี้ก็มีบรรณาการพวกอาหาร เช่น ข้าวโพด ถั่ว หนังเสือจากัวร์ นกอินทรีตัวเป็น ๆ ผลโกโก้ และที่สูบบุหรี่ แต่สิ่งที่นับว่ามีค่ามากที่สุด คือ อัญมณี และขนนก quetzal ที่มีสีสันสวยสดใส ซึ่งชาว Aztec นิยมจับนกชนิดนี้มาขังในกรง แล้วทึ้งขนออก จากนั้นก็ปล่อยนกเข้าป่า ให้มันสร้างขนขึ้นมาใหม่ เพื่อจะได้จับมันมาทึ้งขนออก เพื่อใช้เป็นส่วยอีก ด้วยเหตุนี้นกชนิดนี้จึงไม่สูญพันธุ์

สำหรับเครื่องดื่มที่ชาว Aztec โปรดปราน ซึ่งเรียกว่า pulque นั้น เป็นเครื่องดื่มที่ทำมาจากต้น agave (อะ-กา-เว่) และบุคคลใดที่มีอายุเกิน 70 ปี จะได้รับอนุญาตให้ดื่ม pulque ได้ ในปริมาณไม่จำกัด ในทุกสถานที่ และทุกโอกาส

ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวงจรชีวิตชาว Aztec นั้น ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันแรกที่ทารกถือกำเนิด โดยบิดามารดาจะตั้งชื่อให้ และบุคคลทั้งสองมักกำหนดอาชีพในอนาคตของลูกน้อยไว้ด้วย เช่น ถ้าทารกเป็นเพศชาย ก็นิยมให้ใช้สัญลักษณ์เป็นโล่กับลูกศรกำกับ เพราะผู้ชายชาว Aztec ทุกคนจะต้องเป็นนักรบก่อนจะออกไปประกอบอาชีพอื่น เช่น เป็นชาวนาหรือเป็นช่าง ส่วนในกรณีที่ทารกเป็นเพศหญิง นิยมให้ใช้สัญลักษณ์กำกับเป็นรูปไม้กวาด กระสวยทอผ้า และตะกร้า ประเพณี Aztec ยังได้กำหนดอาหารหลักสำหรับทารกว่า ตั้งแต่เกิดให้บริโภคแป้ง tortilla ครั้นเมื่ออายุ 3 ขวบให้กินเค้กข้าวโพดวันละ 1 ชิ้น และเมื่ออายุ 13 ปีก็ให้บริโภคเค้กวันละ 2 ชิ้น เป็นต้น การกำหนดปริมาณอาหารและเครื่องดื่มในลักษณะนี้ แสดงให้เห็นการสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่สังคม และให้คนทุกคนมีความเท่าเทียมกัน


สำหรับเรื่องการดำเนินชีวิตในครอบครัวนั้น บิดามารดาชาว Aztec มักพร่ำสอนบรรดาลูก ๆ ให้ยึดมั่นในจารีตประเพณี ให้ทำงานอย่างขยันขันแข็ง เชื่อฟัง และเจียมตน เวลาลูกวัย 8-10 ปีกระทำผิด ก็จะมีการลงโทษโดยการตีมือด้วยไม้เรียว หรือใช้หนามแหลมของต้น agave จิ้มแทงที่เนื้อ เด็กชายที่มีอายุ 11 ปี ถ้าประพฤติผิด จะถูกรมควันจนสำลัก ส่วนเด็กหญิงจะถูกบังคับให้กวาดพื้น บดเมล็ดข้าวโพด และทอผ้า เมื่อเด็กชายที่มีอายุมากกว่า 12 ปี ทำตัวไม่เหมาะสม เขาจะถูกลงโทษให้นอนที่พื้นนอกบ้าน เมื่ออายุ 13 ปี เด็กชายจะต้องช่วยงานบ้านนอกบ้าน ขนฟืน และจับปลาในทะเลสาบ Texaco ครั้นเมื่อมีอายุมากขึ้นก็จะได้รับการฝึกอาชีพ โดยเด็กที่มาจากฐานันดรศักดิ์สูงจะถูกฝึกให้เรียนรู้วิทยาการปกครอง หรือเป็นนักบวช ส่วนเด็กที่มาจากครอบครัวธรรมดาก็จะถูกเกณฑ์เป็นทหาร หรือนักรบ ด้านเด็กผู้หญิง เมื่อมีอายุครบ 15 ปีก็จะถูกบังคับให้แต่งงาน


ภาพของตลาดชาว Aztec จะมีทั้งคนซื้อ คนขาย และศิลปินที่มาแสดงให้ความบันเทิงแก่คนในตลาด โดยผู้คนเหล่านี้จะนำสิ่งของที่ตนผลิตได้ในบ้านมาแลกเปลี่ยนเป็นเกลือและเครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตมาจาก Valley of Mexico ซึ่งมีความสวยงามมาก หรืออาจจะแลกเปลี่ยนเป็นมีดที่ใบมีดทำจากหิน obsidian ก็ได้

บ้านชาว Aztec มีพื้นที่ตั้งแต่ 15-25 ตารางเมตร ดังนั้นบ้านจึงมีขนาดเล็ก บ้านมีประตู 2 บาน และไม่มีหน้าต่าง บริเวณทอผ้าจะอยู่นอกบ้าน ภายในบ้านจะมีเสื่อ ตะกร้า ตุ๊กตาที่ใช้ในการบูชา ส่วนเตาและครัวหุงหาอาหารก็ถูกจัดให้อยู่นอกบ้าน


เป็นที่น่าสังเกตว่า ในคุกที่กักขังนักโทษหรือเชลย คน “พิเศษ” เหล่านี้มักจะได้รับการเลี้ยงดูเป็นอย่างดี ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้ถูกนำตัวไปฆ่าบูชายัญและเป็นอาหาร

สำหรับบุคคลใดที่ต้องการจะเป็นผู้บริหารบ้านเมือง ประเพณีชาว Aztec ได้บังคับให้บุคคลนั้น ต้องผ่านการทดสอบก่อน โดยจะต้องยืนเปลือยกายอยู่กลางเมือง แล้วให้ผู้คนมาเตะ ต่อย ถ่มน้ำลายใส่ เพราะคนประเภทนี้จะต้องมีอารมณ์ที่เข้มแข็งและอดทน และถ้าเขาทนทานการทารุณเช่นนี้ได้ ก็ถือว่าผ่านการทดสอบ และจะถูกนำไปพำนักอยู่ในวิหารเป็นเวลา 2 ปี เพื่อให้นักบวชได้อบรม จนกระทั่งมีความรู้ด้านกฎหมายและศีลธรรมของเผ่าพันธุ์อย่างถ่องแท้ จึงจะสามารถเข้ารับเลือกเป็นเจ้าเมืองได้

นอกจาก Codex Mendoza แล้ว โลกยังมี codex อื่นๆ อีกหลายเล่ม เช่น Codex Telleriano-Remensis ซึ่งเป็นหนังสือภาพ ที่วาดโดยจิตรกรชาว Aztec ซึ่งได้รับการฝึกฝนในการวาดโดยจิตรกรชาวสเปน หนังสือภาพเล่มนี้ได้แสดงให้เห็นการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ของชาว Aztec จาก Aztlán มายังถิ่นที่อยู่ใหม่ คือ ที่เมือง Tenochtitlan ในขบวนอพยพนั้น มีนักรบชาว Aztec จำนวนมากที่ถือคันศรและธนู ซึ่งได้เดินทางผ่านดินแดนของชาติพันธุ์ต่าง ๆ และได้รับชัยชนะตลอดเส้นทาง

ด้าน Codex Magliabechiano ก็มีภาพวาดที่แสดงนักบวชชาว Aztec ขณะยืนอยู่บนวิหารสูง ที่มีพื้นวิหารซึ่งชุ่มโชกด้วยเลือดมนุษย์ และมีภาพนักบวชกำลังผ่าหน้าอก เพื่อควักเอาหัวใจของเชลยออกมา แล้วนำไปถวายแด่เทพ Huitzilopochtli ผู้ทรงไม่เคยอิ่มเอมในการเสพเลือดมนุษย์


ใน Codex Florentino มีภาพวาดของนักรบชาว Aztec ที่สวมเครื่องแบบนักรบเติมยศขณะออกศึก โดยสไตล์และรูปแบบของเครื่องแบบเป็นไปตามเอกลักษณ์ของชนเผ่าต่าง ๆ และเครื่องประดับเสริมของนักรบแต่ละคน ก็เป็นไปตามรสนิยมของคนสวม ใน Codex เล่มนี้ ยังมีภาพของพระบรมศพในจักรพรรดิ Moctezuma ขณะทรงถูกทหารสเปนโยนทิ้งในทะเลสาบด้วย แต่ในความเป็นจริงพระบรมศพได้ถูกชาว Aztec นำไปฝัง และหลังจากที่พระองค์สิ้นพระชนม์แล้ว พระนัดดา Cuauhtémoc ก็ได้นำทหาร Aztec เข้าต่อสู้กองทัพสเปนอีก แต่พ่ายแพ้ จึงถูกทหารนำพระองค์ไปประหารชีวิต เมื่อปี 1525 พระองค์จึงทรงเป็นจักรพรรดิองค์สุดท้ายของอาณาจักร Aztec


ใน Codex Florentino ยังมีภาพวาดที่แสดงวิถีชีวิตของชาว Aztec ในวันธรรมดาทั่วไปด้วย และมีภาพวาดที่แสดงให้เห็นภูมิปัญญาของชาว Aztec ในการรู้จักเก็บสะสมอาหาร เวลาสภาพภูมิอากาศไม่อำนวยจนทำให้อาหารขาดแคลน และมีภาพชายสองคนกำลังแบกสัมภาระหนักเดินไปตามถนนหนทาง นอกจากนี้ก็มีภาพของคนที่เป็นทาส ซึ่งตามปกติจะมีห่วงสวมที่คอ และที่ห่วงนั้นมีไม้ 2 ท่อน เสียบคร่อมคออยู่ แม้ทายาทที่เกิดจากทาสจะไม่ต้องเป็นทาสเหมือนพ่อแม่ แต่พ่อแม่ที่เป็นทาสก็มักจะขายลูก เพื่อเอาเงินไปไถ่ตนให้เป็นอิสระ


สำหรับ Codex Borbonicus นั้น มีภาพของเทพเจ้า Huitzilopochtli ของชาว Aztec ผู้ทรงชักนำให้ชาว Aztec เดินทางอพยพออกจากดินแดน Aztlán โดยพระองค์ทรงสัญญาว่า จะทรงดลบันดาลให้อาณาจักร Aztec มีความยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ก็มีภาพของมีด ที่ใบมีดมีความคมมาก เพราะทำด้วยหินเหล็กไฟ และมีดมีความยาว 30 เซนติเมตร เพื่อให้นักบวชได้ใช้ในพิธีบูชายัญ ด้วยการแทงหน้าอกแล้วควักหัวใจของเชลย ด้ามมีดนิยมทำด้วยไม้ ซึ่งถูกแกะสลักเป็นตุ๊กตารูปนักรบที่สวมชุดซึ่งประดับด้วยแร่ turquoise ที่มีสีน้ำเงินอมเขียว และที่ศีรษะมีหมวกรูปนกอินทรี

Codex นี้ยังมีภาพของปฏิทินหนึ่งศตวรรษ (52 ปี) ด้วย ซึ่งตามปฏิทินนั้นได้ระบุว่า เมื่อใกล้จะถึงเวลาสิ้นสุดของศตวรรษ กองไฟทุกกองในอาณาจักร Aztec จะต้องถูกดับให้หมดสิ้น แล้วหลังจากนั้นจะมีนักบวชคนหนึ่งเดินขึ้นยอดเขา เพื่อไปจุดไฟในวิหาร Huitzilopochtli และจะมีการเสี่ยงดูว่า ถ้าไฟไม่ติด นั่นแสดงว่า วันสิ้นโลกใกล้จะมาถึงแล้ว


สำหรับ Codex Borgia มีภาพของเทพ Tezcatlipoca ซึ่งเป็นเทพศัตรูคู่แข่งของเทพ Quetzalcóatl และ Codex Dresden มีภาพวาดของอารยธรรม Maya ซึ่ง ณ เวลานี้ Codex เล่มนี้ ถูกเก็บอยู่ที่เมือง Dresden ในเยอรมนี ใน Codex Dresden มีการบันทึกผลการคำนวณทางดาราศาสตร์ มีวิธีพยากรณ์ทางโหราศาสตร์ และมีตารางเวลาที่แสดงการเกิดสุริยุปราคา รวมถึงพิธีกรรมต่าง ๆ ด้วย

ในภาพรวมแม้ว่านักรบชาว Aztec จะโหดร้ายและโหดเหี้ยม แต่เมื่อเทียบกับทหารนักล่าอาณานิคมชาวสเปนแล้ว ทหารสเปนกลับโหดร้ายยิ่งกว่า ที่ได้ล้มล้างอารยธรรม Aztec จนหมดสิ้นได้อย่างสมบูรณ์ โดยอาศัยความช่วยเหลือจากชนเผ่าอื่น ๆ ที่ได้ถูกชาว Aztec กดขี่ บังคับมาเป็นเวลานาน การมีอาวุธที่ทันสมัย เช่น ปืนใหญ่ ม้า และโรคฝีดาษมาช่วย ทำให้อารยธรรม Aztec ต้องเริ่มสูญสลายไปตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม ปี 1521 เมื่อเมืองหลวง Tenochtitlan แตก

และอีก 10 ปีต่อมาได้มีนายพลสเปนอีกคนหนึ่ง ชื่อ Francisco Pizarro ซึ่งได้นำทหารบุกอาณาจักร Inca บ้าง และสามารถทำได้สำเร็จอย่างไม่ต้องลงทุนลงแรงมาก อาณาจักร Inca ก็แตกสลายอีก ในปี 1532 โดย Pizarro ได้สังหาร Atahualpa ซึ่งเป็นกษัตริย์ผู้นำของอาณาจักร Inca และเมื่อกษัตริย์สิ้นพระชนม์ อาณาจักร Inca ก็ล่มสลาย หลังจากที่ได้ครองสภาพความเป็นอาณาจักรที่รุ่งเรืองมานานร่วม 300 ปี


อ่านเพิ่มเติมจาก “The American Heritage: Book of INDIANS”  โดย  A.M. Josephy, Jr. และ W. Brandon จัดพิมพ์โดย American Heritage Publishing Co., Inc. New York ปี 1982


ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน : ประวัติการทำงา - ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" ได้ทุกวันศุกร์


กำลังโหลดความคิดเห็น