xs
xsm
sm
md
lg

สกสว. มหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนแผนงานสำคัญ เพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยในระดับชาติและนานาชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สกสว. มหาวิทยาลัยพะเยา พร้อมประสานความร่วมมือในการขับเคลื่อนแผนงานสำคัญ เพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยในระดับชาติและนานาชาติ กับการพัฒนาชุมชนนวัตกรรม สู่ความเข้มแข็งที่ยั่งยืน

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) นำโดย รองศาสตราจารย์.ดร.คมกฤต เล็กสกุล ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านกําลังคนและสถาบันความรู้ สกสว. เยี่ยมชม และติดตามผลการดําเนินงานโครงการวิจัยที่ได้รับทุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ของ มหาวิทยาลัยพะเยา โอกาสนี้ ศ.ดร.เสมอ ถาน้อย รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา รองศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ เสาแก้ว คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ หัวหน้าโครงการหน่วยวิจัย เพื่อความเป็นเลิศด้านการวิจัยผลลัพธ์และบูรณาการทางคลินิก

รองศาสตราจารย์ ดร.ประสิทธิ์ ช่อลำเจียก คณะวิทยาศาสตร์ หัวหน้าโครงการหน่วยวิจัย เพื่อความเป็นเลิศด้านคณิตศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรมงคล สุวรรณภูมิ คณะเกษตรศาสตร์ หัวหน้าโครงการหน่วยวิจัย เพื่อความเป็นเลิศด้านความหลากหลายทางชีวภาพและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ให้การต้อนรับ และ นำเสนอภาพรวมการดำเนินงาน
รองศาสตราจารย์.ดร.คมกฤต เล็กสกุล กล่าวว่า สกสว. มีพันธกิจในการจัดทำแผนและกรอบงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ รวมถึงบริหารระบบงบประมาณด้าน ววน. ผ่านการจัดสรรงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน. ให้กับหน่วยงานในระบบ ววน. ซึ่งแบ่งออกงบประมาณเป็น 2 ส่วน คือ 1. งบประมาณเพื่อสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund-SF) โดยมีหน่วยบริหารจัดการทุนทั้ง 9 แห่ง ทำหน้าที่จัดสรรทุนวิจัย แก่นักวิจัยและหน่วยงานระดับปฏิบัติ เพื่อดำเนินการวิจัยที่ตอบยุทธศาสตร์และแผนด้าน ววน. ของประเทศ ที่ตนรับผิดชอบ และ 2. งบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund-FF) ซึ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณตรงไปยังหน่วยงานที่มีภารกิจเฉพาะด้าน ววน. และดำเนินการตามพันธกิจของตน รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน. ระดับชาติ และโครงการริเริ่มสำคัญของประเทศ

มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นหน่วยงานหนึ่งที่ได้งบประมาณด้าน ววน. ของกองทุนส่งเสริม ววน. สนับสนุนงานมูลฐาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของงานวิจัยและการบริหารงานวิจัยขอสถาบันอุดมศึกษา ให้สามารถตอบสนองแนวนโยบายของชาติ และสามารถไปขยายผลต่อยอดตอบสนองงานเชิงกลยุทธ์ เช่น โครงการวิจัยเพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ที่สามารถผลิตสินค้านวัตกรรม เพื่อจัดจำหน่ายได้ 12 ผลิตภัณฑ์ และ โครงการเพื่อความเป็นเลิศ (Unit of Excellence) กระทั่งสามารถผลิตผลงานตีพิมพ์เผยแพร่ผลการวิจัยให้กับมหาวิทยาลัย ในปี 2564 จำนวนทั้งสิ้น 370 ผลงาน ซึ่งเป็นสัดส่วน 89% จากผลงานการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ ทำให้มหาวิทยาลัยพะเยา ได้เข้ารับการประเมินในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยนานาชาติ (Ranking) ใน The Impact Ranking โดยปี 2022 อยู่ในอันดับ 10 ของประเทศ และ อันดับที่ 301-400 จาก1,406 สถาบันทั่วโลก ขณะที่ SCImago Institution Rankings 2022 จัดอันดับให้มหาวิทยาลัยพะเยาเป็นอันดับที่ 9 ของประเทศไทย และเป็นอันดับที่ 678 ของโลก

นอกจากการสนับสนุนงานมูลฐานแล้ว มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ได้การสนับสนุนการดำเนินงานเชิงกลยุทธ์ และมีผลงานที่โดดเด่น เช่น โครงการ Phayao Learning City ที่สนับสนุนโดยหน่วยบริหารจัดการทุนเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ (บพท.) ร่วมขับเคลื่อนจังหวัดพะเยาให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตบนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่นร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ส่งผลให้ UNESCO รับรองให้จังหวัดพะเยา เป็นสมาชิกเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตของโลก

ด้าน ศ.ดร.เสมอ ถาน้อย กล่าวว่า มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นมหาวิทยาลัยสร้างปัญญา โดยมีพันธกิจ เพื่อสังคมและชุมชน ที่มีการประเมินตัวชี้วัด 4 ขอบเขตหลัก ได้แก่ 1) งานวิจัย 2) นโยบายและแนวทางปฏิบัติภายในมหาวิทยาลัย 3) การเชื่อมโยงกับสังคมไทยและสังคมโลก และ 4) การเรียนการสอนผ่านการดำเนินงาน 17 เป้าหมายหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) เนื่องจากงานวิจัยเป็น 1 ในตัวชี้วัดที่สำคัญ มหาวิทยาลัยจึงได้ผลักดันงานตามเป้าหมายดังกล่าว ภายใต้กลยุทธ์ Supper KPI ในยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ 4 KPI ของการดำเนินงานในปี 65 คือ 1 จำนวนผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่นำไปใช้ประโยชน์จริงในชุมชน 20 ผลงาน 2 จำนวนผลิตภัณฑ์ อันเกิดจากผลงานวิจัยที่นำไปใช้ขยายผลหรือต่อยอดการใช้ประโยชน์สู่พาณิชย์ จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ 3.จำนวนผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารที่อยู่ในฐานข้อมูลที่ได้รับการยอมรับในระดับชาติและนานาชาติ จำนวน 100 ผลงานและ 200 ผลงาน ตามลำดับ และ 4.ผลการจัดอันดับมหาวิทยาโลก

รวมถึงการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3 การบริการวิชาการด้วยองค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อความเข้มแข็งของชุมชน ที่ตระหนักถึงการสร้างศูนย์เรียนรู้ใหม่ หรือ แหล่งเรียนรู้ใหม่ ที่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ที่สำคัญของสังคมและชุมชน ของทุกช่วงวัย จำนวน 10 พื้นที่ และ จำนวนชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนา 1 คณะ 1 ชุมชนนวัตกรรม จำนวน 10 ชุมชน อย่างไรก็ดี KPI หรือตัวชี้วัดดังกล่าว เปรียบได้กับภาพสะท้อน ให้เห็นถึงความสำคัญต่อการปรับเปลี่ยนบทบาทของมหาวิทยาลัยในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทย ที่จะต้องก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกลไกความร่วมมือในระดับพื้นที่ ทำงานร่วมกับหน่วยงานภาคีในท้องถิ่น และนำเอาองค์ความรู้ งานวิจัยและนวัตกรรมพร้อมใช้ของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจหรือแก้ไขปัญหาของพื้นที่ในบริบทต่าง ๆ ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่อไป










กำลังโหลดความคิดเห็น