รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Astronomy ฉบับวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า ทีมนักดาราศาสตร์จากหลายสถาบันวิจัยในสหรัฐฯ เผยผลการศึกษาล่าสุดเกี่ยวกับดาวเคราะห์ประหลาด “แจนส์เซน” (Janssen) หรือ 55 Cancri e โดยพบว่ามันมีอุณหภูมิร้อนจัดเกือบ 2,000 องศาเซลเซียส จนได้รับขนานนามให้เป็น “ดาวเคราะห์นรก” เนื่องจากมีความเหมือนกับบรรยากาศของนรกที่หลายนิยายได้บรรยายไว้ และดาวเคราะห์ดวงนี้ยังใช้เวลาโคจรรอบดาวฤกษ์ศูนย์กลางเพียง 18 ชั่วโมง
ดาวเคราะห์แจนส์เซนเป็นดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อยู่ห่างจากโลกประมาณ 40 ปีแสง และเป็นบริวารของดาวฤกษ์ “คอเปอร์นิคัส” (Copernicus) แต่วงโคจรของดาวดวงนี้อยู่ชิดติดกับดาวฤกษ์อย่างมาก โดยอยู่ใกล้กว่าระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ถึง 70 เท่า ทำให้ลักษณะของดาวเคราะห์ดวงนี้ มีลาวาไหลลงมา แกนกลางเป็นเพชรและมหาสมุทรลาวาหลอมเหลวบนพื้นผิว และดาวเคราะห์ดวงนี้ได้รับการตั้งชื่ออย่างเป็นทางการตามชื่อ Zacharias Janssen ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประดิษฐ์กล้องโทรทรรศน์แบบใช้เลนส์ตัวแรก
55 Cancri e หรือ ดาวเคราะห์แจนส์เซน มีวงโคจรอยู่ใกล้ดาวฤกษ์ศูนย์กลางมากกว่าโลกถึง 70 เท่าเมื่อเทียบกับ 'ดวงอาทิตย์' ของเรา ทำให้ดาวเคราะห์ดวงนี้ใช้เวลาโคจรครบรอบเพียง 18 ชั่วโมง เมื่อเทียบกับโลกที่ใช้เวลา 365 วัน ถึงจะโคจรครบรอบวงโคจร
การศึกษาดาวเคราะห์ที่ได้รับการขนานนามว่า “ดาวเคราะห์นรก” ทีมนักดาราศาสตร์ใช้กล้องโทรทรรศน์ Lowell Discovery Telescope ที่อยู่ในรัฐแอริโซนา โดยตรวจวัดข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของมันได้ ขณะเกิดปรากฎการณ์ “ทรานซิต” (transit) หรือการที่ดาวเคราะห์เคลื่อนผ่านตัดหน้าดาวฤกษ์ ซึ่งความเข้มของแสงดาวที่เปลี่ยนแปลงไปจะบ่งบอกถึงคุณสมบัติต่างๆ ของมันได้
อย่างไรก็ตาม ดร. ลิลี่ เจ้า ผู้นำทีมวิจัยจากศูนย์ฟิสิกส์ดาราศาสตร์เชิงคำนวณของสถาบันแฟล์ทิรอน (Flatiron Institute) บอกว่าสิ่งที่พวกเขาให้ความสนใจมากที่สุดในการศึกษาครั้งนี้ ก็คือวงโคจรที่แปลกประหลาดของดาวแจนส์เซน ซึ่งดูเหมือนว่าในอดีตดาวดวงนี้จะก่อตัวขึ้นในบริเวณที่ห่างไกลจากดาวฤกษ์ศูนย์กลางมาก แต่มีแรงบางอย่างที่ดึงดูดให้มันค่อยๆ เคลื่อนเข้ามาใกล้เส้นศูนย์สูตรของดาวฤกษ์ในภายหลัง
ดร. เจ้า อธิบายว่า ระบบดาวที่ดาวเคราะห์แจนส์เซนและเพื่อนดาวบริวารอีก 4 ดวงเป็นสมาชิกอยู่นี้ แตกต่างจากระบบสุริยะของเรา เนื่องจากดาวบริวารแต่ละดวงไม่ได้มีวงโคจรอยู่ในระนาบเดียวกัน ทำให้แรงโน้มถ่วงที่ดาวฤกษ์กระทำต่อบริวารและที่ดาวบริวารกระทำต่อกันเองมีความซับซ้อนยิ่งกว่า ซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้วงโคจรของดาวแจนส์เซนเคลื่อนเข้าใกล้ดาวฤกษ์มากขึ้นเรื่อยๆ
ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : bbc thai / dnaindia.com / NASA: Hubble Space Telescope captures dual views of unusual star cluster NGC 1850