xs
xsm
sm
md
lg

กล้องโทรทรรศน์เจมส์ เวบบ์ เผยภาพพื้นที่ก่อตัว“ดาวฤกษ์ก่อนเกิด”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เพจสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์ระบุว่า วัตถุในห้วงอวกาศลึกที่ดูละม้ายคล้ายกับนาฬิกาทรายนี้ กำลังจะให้กำเนิดดาวฤกษ์

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ เผยภาพพื้นที่ก่อตัว “ดาวฤกษ์ก่อนเกิด” (Protostar) ภายในกลุ่มเมฆมืด L1527 บริเวณกลุ่มดาววัว (Taurus) บันทึกโดยกล้อง NIRCam (Near-Infrared Camera) ช่วยให้นักดาราศาสตร์ศึกษาการก่อตัวของดาวฤกษ์ได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น

จากภาพจะเห็นพื้นที่นี้มีลักษณะคล้ายกับนาฬิกาทราย บริเวณช่องแคบของนาฬิกาทราย (กลางภาพ) เป็นพื้นที่ที่อัดแน่นไปด้วยกลุ่มแก๊ส กำลังหมุนวนรอบใจกลางของระบบอย่างรุนแรง เกิดเป็นแผ่นมวลสารทึบแสงซึ่งกำลังค่อย ๆ ป้อนสสารให้กับ protostar ที่อยู่ตรงกลาง สสารบางส่วนจะมีพลังงานสูงจนถูกพ่นออกมาจากขั้วของ protostar ทั้ง 2 ด้าน แล้วปะทะเข้ากับกลุ่มแก๊สที่อยู่รอบ ๆ เกิดเป็นโพรงขนาดใหญ่ในอวกาศดังที่เห็นเป็นพื้นที่สีส้มและสีน้ำเงินในภาพ นี่คือกลุ่มแก๊สและฝุ่นที่มองเห็นได้ในช่วงคลื่นอินฟราเรดเท่านั้น ซึ่งพื้นที่สีน้ำเงินเป็นบริเวณที่มีชั้นฝุ่นเบาบาง ส่วนพื้นที่สีส้มเป็นบริเวณที่มีชั้นฝุ่นหนาแน่น นอกจากนี้ ภายในโพรงแก๊สดังกล่าวยังเกิดเส้นใยโมเลกุลของไฮโดรเจนที่ดูสวยงามจากแรงอัดกระแทก แต่นั่นเป็นโครงสร้างที่ยุ่งเหยิง ขัดขวางการก่อตัวของดาวฤกษ์บริเวณนี้

L1527 เป็นพื้นที่ก่อตัวดาวฤกษ์ที่มีอายุน้อยมากเพียง 100,000 ปี เมื่อพิจารณาจากอายุและความสว่างในช่วงคลื่นอินฟราเรดที่ศึกษาจากภารกิจต่างๆ L1527 จัดเป็นพื้นที่ก่อตัวดาวฤกษ์ประเภท 0 ซึ่งถือว่าเป็นระยะแรกสุดของ protostar ที่ยังอยู่ในกลุ่มแก๊สและฝุ่นที่หนาแน่น และต้องใช้เวลาอีกยาวนานกว่า protostar แห่งนี้จะวิวัฒนาการเป็นดาวฤกษ์อย่างเต็มตัว เนื่องจากยังเป็นเพียงกลุ่มแก๊สร้อนหมุนวนขนาดเล็ก ที่มีมวลอยู่ระหว่าง 20-40 เปอร์เซ็นต์ของมวลดวงอาทิตย์ และยังมีพลังงานไม่มากพอที่จะเกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันที่แกนกลางได้

ขณะนี้ protostar แห่งนี้อยู่ในช่วงที่กำลังรวบรวมมวลสารที่หมุนวนโดยรอบ เมื่อเกิดการบีบอัดจนหนาแน่นขึ้น อุณหภูมิบริเวณแกนกลางจะสูงขึ้นจนสามารถเริ่มกระบวนการปฏิกิริยานิวเคลียร์ฟิวชันได้ ทั้งนี้แผ่นมวลสาร (พื้นที่แถบทึบ) ในภาพมีขนาดใกล้เคียงกับระบบสุริยะของเรา ด้วยความกว้างขนาดนี้ สสารส่วนใหญ่จะรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตัวดาวเคราะห์ ดังนั้น การศึกษา L1527 อย่างต่อเนื่องจะช่วยไขปริศนาได้ว่าดวงอาทิตย์และระบบสุริยะของเราเกิดขึ้นได้อย่างไร