xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) “หอมเลน้อย” ข้าวเจ้าพันธุ์ใหม่ทนโรคทนเค็ม จมน้ำได้นานสองสัปดาห์ งานวิจัยที่ช่วยฟื้นวิถีทำนาริมเล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




“ทำนาริมเล” วิถีชีการปลูกข้าวดั่งเดิมของเกษตรกรที่อาศัยอยู่รอบพื้นที่ทะเลสาบสงขลา ทางภาคใต้ของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ของจังหวัดพัทลุง ภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ ด้วยทำนาข้าวในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเลสาบ อาชีพเสริมที่ทำกันมามาเนิ่นนานเพื่อนำข้าวมาเก็บไว้กินในครัวเรือน นอกเหนือจากอาชีพหลักคืออาชีพทำการประมง

แต่เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวริมทะเลสาบสงขลา พบกับปัญหาต่างๆ เช่น หากฝนตกหนักก็จะทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมฉับพลัน ทำให้ข้าวที่ปลูกจมน้ำสูญเสียผลผลิต และเมื่อเจอภาวะแล้งน้ำทะเลก็หนุนสูงทำให้น้ำเค็ม สร้างปัญหาการปลูกข้าวให้กับเกษตรกร และทำให้ในปัจจุบันวิถีการปลูกข้าวนาลิมเลจึงลดลงไปจากเมื่อก่อนอย่างมาก


ด้วยเหตุนี้ทาง ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ไบโอเทค สวทช. จึงได้ทำการวิจัยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ด้วยการพัฒนาสายพันธุ์ข้าว “หอมเลน้อย" (Hom Lay Noi) โดยเป็นสายพันธุ์ข้าวเจ้าหอม ที่ไม่ไวต่อช่วงแสง ทนน้ำท่วมฉับพลัน ต้านทานโรคขอบใบแห้งและเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล ปรับตัวได้ดีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะนาลุ่มภาคใต้ที่มีวิถีการทำนาริมเล


ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา รักษาการรองผู้อำนวยการ ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร และหัวหน้าทีมวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าวของไบโอเทค เล่าว่า ไบโอเทค สวทช. มีการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ เทคโนโลยีด้าน DNA Markers Assisted Breeding ให้กับหน่วยงานในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยนวัตกรรมการปรับปรุงพันธุ์ข้าว โดยในปี 2556 ทีมวิจัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีชีวภาพพืชและการเกษตรแบบแม่นยำ ได้รับทุนวิจัยจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ดำเนินโครงการ ความร่วมมือการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวนาชลประทานให้ทนต่อน้ำท่วมฉับพลัน ต้านทานโรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยใช้เครื่องหมายโมเลกุลในการคัดเลือก ร่วมกับกรมการข้าว โดยมี ดร.วัชรีวรรณ แจ่มบุญศรี นักวิจัยไบโอเทค เป็นหนึ่งในทีมวิจัยปรับปรุงพันธุ์ข้าว ได้พัฒนาพันธุ์ข้าวหอม ไม่ไวต่อช่วงแสง ผลผลิตสูง สายพันธุ์ใหม่ที่มีความสามารถในการปรับตัวได้ดีในสภาพการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยใช้ข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 เป็นฐานพันธุกรรม คัดเลือกสายพันธุ์จนได้ต้นแบบสายพันธุ์ข้าวระดับห้องปฏิบัติการ ที่เป็นข้าวเจ้าหอม พื้นนุ่ม ไม่ไวต่อช่วงแสง ทนน้ำท่วมฉับพลัน ต้านทานโรคขอบใบแห้ง และเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล จากนั้นได้รับทุนวิจัยต่อยอดจาก สวทช. เพื่อปลูกประเมินลักษณะทางการเกษตรและทดสอบผลผลิตในสถานีและแปลงเกษตรกรในจังหวัดต่างๆ จนได้พันธุ์ข้าว “หอมเลน้อย” ที่ให้ผลผลิตเฉลี่ย 800-900 กิโลกรัม/ไร่ มีความเสถียรทั้งผลผลิตและคุณภาพ


ดร.มีชัย เซี่ยงหลิว นักวิจัยไบโอเทค ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวทนน้ำท่วม ทนเค็ม และให้ผลผลิตสูง ให้ข้อมูลต่อไปว่า ได้รับโจทย์งานวิจัยจาก ดร.กัญญณัช ศิริธัญญา อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และนักวิจัยจากสถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) ถึงปัญหาวิถีการปลูกข้าวนาริมเล เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้พื้นที่การปลูกข้าวลดลงอย่างมาก ทีมวิจัยฯ เล็งเห็นความสำคัญในการฟื้นวัฒนธรรมวิถีการทำนาริมเล โดยเริ่มนำสายพันธุ์ข้าวที่ปรับตัวได้ดีในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทนน้ำท่วมฉับพลัน และมีคุณสมบัติการหุงต้มที่ดี ไปทดลองปลูกในพื้นที่ จ.สงขลา และ จ.พัทลุง ตั้งแต่ปี 2563 – ปัจจุบัน พบว่าข้าวพันธุ์ “หอมเลน้อย” มีความสูง 120 เซนติเมตร ลำต้นแข็งแรงสามารถปรับตัวได้ดีในสภาพนาริมเลที่มีคลื่น โดยเฉพาะพื้นที่ทะเลสาบสงขลา


นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจุบันชุมชนและเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกข้าวพันธุ์ กข55 ซึ่งเป็นข้าวพื้นแข็ง แต่ผู้บริโภคในภาคใต้ให้ความสนใจบริโภคข้าวหอมนุ่มเพิ่มมากขึ้น ทำให้ผลผลิตไม่เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น ข้าว “หอมเลน้อย” ถือเป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรชาวนาภาคใต้ที่สนใจผลิตข้าวนุ่มคุณภาพดี โดย ทีมวิจัยฯ ยังได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และหน่วยงานกรมชลประทาน วางแผนบูรณาการยกระดับการผลิตข้าวในพื้นที่ภาคใต้บนวิถีความมั่งคงทางอาหาร ด้วย "BCG Model" ก่อให้เกิดรายได้ทั้งด้านการผลิต การเพิ่มมูลค่า และการท่องเที่ยวของจังหวัด


“หอมเลน้อย” จึงถือเป็นทางเลือกใหม่ของเกษตรกรชาวนาภาคใต้ที่สนใจผลิตข้าวนุ่มคุณภาพดี โดย ทีมวิจัยฯ ยังได้ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และหน่วยงานกรมชลประทาน วางแผนบูรณาการยกระดับการผลิตข้าวในพื้นที่ภาคใต้บนวิถีความมั่งคงทางอาหาร ด้วย "BCG Model" ก่อให้เกิดรายได้ทั้งด้านการผลิต การเพิ่มมูลค่า และการท่องเที่ยวของจังหวัดพัทลุง


ในด้าน เกษตรกรผู้ปลูกข้าวริมเล บ้านปากประ จังหวัดพัทลุง ได้กล่าวว่า ทางชุมชนมีวัฒนธรรมการปลูกข้าวนาริมเล เป็นการใช้ประโยชน์พื้นที่ริมทะเลสาบในช่วงหมดฤดูฝน โดยเริ่มปลูกข้าวต้นเดือนมิถุนายนซึ่งน้ำในทะเลสาบลดระดับ แล้วเก็บเกี่ยวช่วงปลายเดือนกันยายนของทุกปี พันธุ์ข้าวที่เจริญเติบโตในบริเวณนี้ต้องสามารถยืนต้นสู้กับกระแสคลื่นของทะเลสาบได้ ผลผลิตข้าวที่ได้เป็นผลิตภัณฑ์อินทรีย์อย่างแท้จริงเนื่องจากไม่มีการใส่ปุ๋ยระหว่างการปลูก การทำนาใช้เพียงเมล็ดพันธุ์และแรงงานเท่านั้น วิถีการปลูกข้าวริมเลเริ่มจางหายไปตามรุ่นอายุของเกษตรกร ปัจจุบันชุมชนได้เริ่มรื้อฟื้นวัฒนธรรมการปลูกข้าวริมเลให้ฟื้นกลับมาใหม่ ข้าวที่ออกดอกบริเวณริมทะเลสาบถือเป็นภาพที่สวยงามดึงดูดผู้คนให้เข้ามาเยือน ก่อให้เกิดวัฒนธรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกษตรที่มีทั้งการทำการประมง
การเกษตร ถือเป็นอีกหนึ่งวิถีการเกษตรปักษ์ใต้




กำลังโหลดความคิดเห็น