xs
xsm
sm
md
lg

อร่อยเด็ด เป็นเอกลักษณ์ 10 อาหารท้องถิ่นไทย จัดเต็มเสิร์ฟเมนู APEC 2022

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อาหารท้องถิ่นไทย จัดเต็มเสิร์ฟเมนู APEC 2022
อีกหนึ่งสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจในการประชุมผู้นำ APEC 2022 ที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ก็คืออาหารจานต่างๆ ที่จัดเสิร์ฟในงานเลี้ยงอย่างเป็นทางการ โดยได้มีการเปิดเผยออกมาว่า อาหารที่นำเสนอให้ผู้นำได้รับประทานอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ “Sustainable Thai Gastronomy” แปลตรงตัวว่า คนปลูกยั่งยืน คนทำยั่งยืน คนกินยั่งยืน ประเทศยั่งยืน และโลกยั่งยืน ที่สำคัญการเลือกใช้วัตถุดิบเป็นของไทยทั้งหมด ตั้งแต่เหนือสุดอย่างจังหวัดเชียงราย จนใต้สุดที่จังหวัดนราธิวาส

และสำหรับสุดยอดวัตถุดิบของดีของเด็ดที่ถูกคัดเลือกมาจะมีอะไรบ้าง มาทำความรู้จักกับ 10 อาหารท้องถิ่นไทย ที่จะได้ไปอยู่บนโต๊ะอาหารของผู้นำระดับโลกในครั้งนี้

กุ้งแม่น้ำอยุธยา
กุ้งแม่น้ำอยุธยา
กุ้งแม่น้ำแห่งอยุธยา นับว่าเป็นกุ้งแม่น้ำอันเลื่องชื่อของไทย หากนึกถึงกุ้งเผาตัวโตมันสีส้มสวย ก็มักจะคุ้นเคยกันว่าเป็นกุ้งจากอยุธยา

และเหตุที่กุ้งแม่น้ำอยุธยามีชื่อเสียงมากที่สุด ก็เนื่องด้วยเนื้อกุ้งที่หวาน แน่น เด้งอร่อยมากกว่ากุ้งเลี้ยง หัวกุ้งมีมันมากกว่า สีสวยและกลิ่นหอม ส่วนสาเหตุที่กุ้งแม่น้ำอยุธยาอร่อยแบบนี้ก็มาจากบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยามีแม่น้ำไหลผ่านถึง 3 สาย เป็นแหล่งรวมของตะกอนแร่ธาตุต่างๆ มีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ เป็นที่อยู่อาศัยให้กุ้งได้เติบโตแบบมีคุณภาพ

สำหรับกุ้งแม่น้ำอยุธยา จะถูกเสิร์ฟในเมนูเรียกน้ำย่อยของดีสี่ภาค “ต้มยำทอดมันกุ้งแม่น้ำกรุงศรีอยุธยา”

ไก่เบตง
ไก่เบตง
ไก่เบตงนั้นเป็นไก่เนื้อพันธุ์พื้นเมือง ที่มีต้นกำเนิดมาจากไก่พันธุ์เหลียงซาน จากประเทศจีน นำมาเลี้ยงที่เบตง จนกลายเป็นไก่ที่ทำชื่อเสียงให้ อ.เบตง จ.ยะลา เป็นอย่างมาก ปัจจุบันมีการส่งเสริมให้เลี้ยงไก่เบตงในพื้นที่อื่นๆ ด้วย เนื่องจากเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภค

โดยจุดเด่นของไก่เบตงคือ เนื้อแน่นนุ่ม หนังกรอบ มันน้อยมาก หนังมีสีเหลืองอ่อน แต่เนื่องจากไก่เบตงเลี้ยงยากจึงทำให้มีราคาสูง ทำให้หาไก่เบตงแท้ๆ กินได้ยาก

สำหรับไก่เบตง จะถูกเสิร์ฟในเมนูเรียกน้ำย่อยของดีสี่ภาค “ไก่เบตงย่างกอและ” ซึ่งจะใช้ไก่เบตงผสมผสานกับน้ำแกงกอและซึ่งเป็นอาหารมลายูท้องถิ่น ถือเป็นตัวแทนความอร่อยจากทางภาคใต้

ไข่เป็ดไล่ทุ่งสุพรรณบุรี เป็นส่วนหนึ่งของจานสลัด
ไข่เป็ดไล่ทุ่งสุพรรณบุรี
ที่สุพรรณบุรี เป็นอีกแหล่งเลี้ยงเป็ดไล่ทุ่งแหล่งใหญ่ในภาคกลางของไทย เป็ดจะอาศัยกินเศษข้าวเปลือกในนา กุ้ง หอย ปู ปลา หรือไข่หอยเชอรี ทำให้ไข่ที่ได้จากเป็ดไล่ทุ่งเหล่านี้จะมีไข่แดงสีเข้มกลมโต ส่วนไข่ขาวสีขาวใสไม่ขุ่น ไข่เป็ดไล่ทุ่งสดๆ จะไม่มีกลิ่นคาว และยังอุดมไปด้วยโปรตีน

ไข่เป็ดไล่ทุ่งจากสุพรรณบุรี ถูกนำมาดองในดอกเกลือเพชรบุรี และเป็นส่วนหนึ่งของจานสลัดบนโต๊ะอาหารครั้งนี้

ดอกเกลือจากเพชรบุรี
ดอกเกลือเมืองเพชร
หากเดินทางผ่าน จ.เพชรบุรี ก็จะเห็นพื้นที่ทำนาเกลืออยู่เป็นระยะๆ และ “ดอกเกลือ” ก็เป็นอีกสิ่งที่ได้จากการทำนาเกลือ โดยดอกเกลือจะเป็นเกลือชุดแรกที่ลอยตัวขึ้นมาเกาะตัวเป็นแพบนผิวน้ำ คนทำนาเกลือจะช้อนเอาดอกเกลือเหล่านี้ขึ้นมาเก็บไว้ก่อนที่จะจมลงไป ดอกเกลือจึงมีความบริสุทธิ์กว่าเกลือทั่วไป รสชาติไม่เค็มจัด และมีรสอมหวานนิดๆ ซ่อนอยู่ เรียกว่าเป็นรสชาติเค็มที่มีความกลมกล่อม

ดอกเกลือจากเพชรบุรี จะนำมาดองไข่เป็ด และนำไปเป็นส่วนหนึ่งของอาหารจานสลัด

เนื้อโคขุนโพนยางคำ
เนื้อโคขุนโพนยางคำ
“เนื้อโคขุนโพนยางคำ” เนื้อระดับพรีเมียมของคนไทยนี้เป็นของสหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป. กลาง โพนยางคำ จำกัด อันมีต้นกำเนิดอยู่ที่ จังหวัดสกลนคร คุณสมบัติของการเป็นเนื้อโคขุนโพนยางคำ จะต้องผลิตโดยสมาชิกสหกรณ์ฯ โพนยางคำ เป็นโคเนื้อลูกผสมไทย-ฝรั่งเศส ที่เกิดจากเกิดจากการผสมเทียมโดยใช้น้ำเชื้อจากพ่อ-แม่พันธุ์โคเนื้อ 3 สายพันธุ์

นอกจากนี้ ขั้นตอนการเลี้ยงจะต้องได้มาตรฐาน ปราศจากสารเร่งโตและสารปฏิชีวนะ มีการควบคุมและป้องกันโรค มีกระบวนการชำแหละและเก็บบ่มจนได้ที่ ตลอดจนสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตั้งแต่ขั้นตอนการเลี้ยงจนถึงผู้บริโภค

เนื้อโคขุนโพนยางคำ จะถูกรังสรรค์เป็น “แกงมัสมั่นชาววังเนื้อน่อง” ในอาหารจานหลัก

ปลากุเลาตากใบ
ปลากุเลาตากใบ
“ปลากุเลาตากใบ” หรือ “ปลากุเลาเค็มตากใบ” เป็นโอทอป 5 ดาว แห่ง อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ที่มีชื่อเสียงเรื่องความอร่อยในรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์มาช้านาน จนได้ชื่อว่าเป็น “ราชาแห่งปลาเค็ม” โดยความอร่อยของปลากุเลาตากใบมีอยู่ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ธรรมชาติ และ กระบวนการผลิต ซึ่งเป็นการตกผลึกภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สั่งสมกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

ปลากุเลาตากใบ จะใช้เป็นส่วนประกอบในเซ็ทอาหารจานหลัก เพื่อเพิ่มความโดดเด่นในเรื่องของกลิ่นในซอสราดมัสมั่นเนื้อน่องโคขุน

อาหารจานหลัก
ปลาเก๋ามุก (มังกร)
ปลาเก๋ามุก (มังกร) เกิดจากการผสมพันธุ์ขึ้นใหม่ ทำให้ได้ปลาตัวโต เนื้อมาก เนื้อละเอียดหวานและไม่เหนียวเกินไป ไม่มีกลิ่นคาวไขมัน หากนำเนื้อไปลวกก็จะไม่แตกเละ ซึ่งในครั้งนี้ได้เลือกใช้ปลาเก๋ามุกมังกรที่เลี้ยงแบบออร์แกนิกจากทะเลภูเก็ต ส่งตรงแบบสดๆ มาถึงครัว

โดยปลาเก๋ามุก (มังกร) นั้นจะถูกปรุงมาเสิร์ฟในอาหารจานหลัก มาพร้อมซอสต้มข่าเห็ดรวมโฟมใบมะกรูด


ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้
ข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย และข้าวที่มีชื่อเสียงที่สุดของไทยก็ต้องยกให้ “ข้าวหอมมะลิจากทุ่งกุลาร้องไห้”

ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ หมายถึง ข้าวเปลือก ข้าวกล้อง และข้าวขาว ที่แปรรูปมาจากข้าวเปลือกพันธุ์ข้าวหอมที่ไวต่อช่วงแสง คือ พันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข 15 ซึ่งปลูกใน พื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด สุรินทร์ ศรีสะเกษ มหาสารคาม และยโสธร ปลูกในฤดูนาปี และมีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ

โดยข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จะถูกเสิร์ฟในอาหารจานหลัก มีความพิเศษคือ เป็นข้าวหอมมะลิไทยจากทุ่งกุลาร้องไห้และข้าวกล้อง 9 ชนิด นำมาอบตะไคร้หอม

ส้มโอทับทิมสยาม
ส้มโอทับทิมสยาม
ส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม มีลักษณะโดดเด่นด้วยใบค่อนข้างกว้าง ปลายใบแหลม ใต้ใบมีขนอ่อนนุ่ม ทรงผลกลมมีจุกคล้ายหลอดไฟ เปลือกนุ่มบาง เนื้อส้มโอมีสีชมพูเข้มถึงแดงคล้ายทับทิม รสชาติหวาน และหอมนุ่ม

แต่เดิมส้มโอทับทิมสยามไม่ใช่พันธุ์ส้มโอดั้งเดิมในพื้นที่อำเภอปากพนัง แต่เป็นส้มโอพันธุ์ใหม่ เกิดขึ้นที่บ้านแสงวิมาน ตำบลคลองน้อย อำเภอปากพนัง โดยมีการนำพันธุ์พื้นเมืองมาจากอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี มาทดลองปลูกปรับปรุงพันธุ์ในพื้นที่ใหม่จนได้ผลผลิตที่ต่างไปจากเดิม

ส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม มีการสั่งตรงจากสวนที่อำเภอสิชล นครศรีธรรมราช โดยเป็นการผสมกันจากหลายๆ สวน คัดเลือกลูกที่สมบูรณ์ที่สุด นำมาเสิร์ฟเป็นผลไม้หลังมื้ออาหาร พร้อมกับของหวานและชา-กาแฟ ของดีในเมืองไทยเช่นกัน

ก๋วยเตี๋ยวจากเพรียงทราย
เพรียงทราย
"เพียงทราย" เป็นสัตว์ทะเลไม่มีกระดูกสันหลัง จัดอยู่ในกลุ่มไส้เดือนทะเล เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ นิยมนำมาเป็นอาหารเลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์กุ้ง โดยเมื่อผ่านการตรวจหาสารอาหารโดยกระบวนการทางวิทยาศาสตรืแล้วพบว่ามีสารอาหารกว่า 49 ชนิด ช่วยบำรุงสมอง ปรับสมดุลให้ร่างกาย

เพรียงทรายถูกเลือกให้มาเป็นหนึ่งในส่วนผสมของเมนู "ก๋วยเตี๋ยวจากเพรียงทราย" เป็นเมนูอาหารจากอนาคต ที่ผ่านประกวดภายใต้แคมเปญ Plate to Planet จานนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม โดยก๋วยเตี๋ยวจากเพรียงทราย จะเป็นก๋วยเตี๋ยวน้ำตก ไม่ใส่เลือด โดยใช้ซอสที่ทำมาจากเพรียงทราย จ.ชุมพร

บนโต๊ะอาหารของผู้นำจากประเทศต่างๆ ในการประชุมเอเปค ล้วนรวบรวมวัตถุดิบของดีของเด็ดในประเทศไทยมาจากทุกภาค ทำให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ทางด้านอาหาร และอาหารไทยก็ยังเป็นซอฟท์พาวเวอร์ ที่จะแสดงออกไปสู่สายตาชาวโลกอีกด้วย

#########################################

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น