xs
xsm
sm
md
lg

ทำความรู้จัก "จรวด SLS" พาหนะจอมพลังของ NASA ที่จะนำมนุษย์ไปดวงจันทร์อีกครั้ง ในภารกิจอาร์ทีทิส 1

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“จรวด SLS” (Space Launch System) เป็นจรวดอเมริกันขนส่งหนักพิเศษแบบใช้ครั้งเดียว ซึ่งถูกพัฒนาโดย องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ NASA ตั้งแต่ ค.ศ. 2011 จรวด SLS ถือได้ว่าเป็นจรวดที่ทรงพลังที่สุดในโลกที่ยังประจำการอยู่ เป็นพาหนะส่งหลักสำหรับแผนการสำรวจอวกาศห้วงลึกของนาซาในช่วงทศวรรษที่ 2020 ภารกิจส่งมนุษย์สู่ดวงจันทร์ถูกวางแผนไว้เป็นส่วนหนึ่งของ “โครงการอาร์ทีมิส” เพื่อนำร่องความเป็นไปได้ของภารกิจส่งมนุษย์สู่ดาวอังคาร โดยจะมีการปล่อย ในวันนี้ 16 พฤศจิกายน 2565 เพื่อมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์ตามก้าวแรกในภารกิจนำมนุษย์กลับไปดวงจันทร์อีกครั้งขององค์การนาซา


จรวด SLS ในภารกิจ อาร์ทีมิส 1 นับได้ว่าทายาทของกระสวยอวกาศ โดยมีความสูง 98.1 เมตร มีจรวดใหญ่สีส้มเข้มเป็นลำแกน และมีจรวดเล็กสองลำสีขาวขนาบข้าง เมื่อมองเผิน ๆ อาจรู้สึกว่าจรวดรุ่นนี้มีความละม้ายคล้ายคลึงกับกระสวยอวกาศ ซึ่งเป็นระบบขนส่งอวกาศของนาซาที่ปลดระวางไปแล้ว ต่างเพียงแค่เอายานโคจรที่มีรูปร่างคล้ายเครื่องบินออกเท่านั้นเอง หากใครคิดว่าเอสแอลเอสคือกระสวยอวกาศที่ถอดยานโคจรออกก็เกือบถูกเลยทีเดียว เพราะวิศวกรออกแบบจรวดเอสแอลเอสโดยใช้ระบบขับดันของกระสวยอวกาศเป็นพื้นฐานจริงๆ


ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “จรวด SLS”

- จรวด SLS เมื่อเติมเชื้อเพลิงเต็ม มีน้ำหนัก 2,600 ตัน หรือหนักเท่ากับเครื่องบินจัมโบเจ็ต 777 บรรทุกน้ำหนักเต็มเจ็ดลำ

- เมื่อตั้งอยู่บนฐานส่งจรวด น้ำหนักทั้งหมดของจรวด SLS ถ่ายลงบนบ่ารับ 8 ตัวที่อยู่ที่ฐานของจรวดเชื้อเพลิงแข็ง มีหมุดยึดอย่างแน่นหนา หมุดทั้งแปดนี้จะถูกดีดออกในวินาทีที่จรวดจะทะยานขึ้น

- เครื่องยนต์อาร์เอส-25 บางเครื่องที่ติดที่จรวดแกนในภารกิจอาร์เทมิส 1 เคยผ่านการนำกระสวยอวกาศขึ้นสู่อวกาศมาแล้ว 25 ครั้ง

- ไอร้อนที่พุ่งออกจากหัวฉีดของเครื่องยนต์อาร์เอส-25 มีความเร็วมากกว่าเสียง 13 เท่า

- จรวดแกนของจรวด SLS มีความสูง 65 เมตร เป็นท่อนจรวดที่ยาวที่สุดในบรรดาจรวดทั้งหมดที่เคยสร้างกันมา

- ภายในจรวด SLS มีห่วงรัดสายไฟราว 100,000 ตัว มีสายไฟยาวรวม 72.5 กิโลเมตร และมีเซนเซอร์ตรวจวัดเกือบ 800 ตัว

- ในจรวดแกนมีคอมพิวเตอร์ควบคุมการบินสามเครื่อง ใช้พาวเวอร์พีซี จี 3 เป็นชิปประมวลผลกลาง

- จรวดเชื้อเพลิงแข็งเผาผลาญเชื้อเพลิงวินาทีละ 5.5 ตัน

- จรวดแกนเผาผลาญเชื้อเพลิงวินาทีละ 1,500 แกลลอน

- จรวด SLS สามารถเร่งความเร็วได้สูงสุด 34,500 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

- จรวด SLS จะถูกนำจากโรงประกอบไปยังแท่นปล่อยโดยรถบรรทุกเคลื่อนที่ที่วิ่งได้เร็วที่สุดไม่เกิน 1.6 กิโลเมตรต่อวินาที ซึ่งช้ากว่าความเร็วมนุษย์เดินถึงสองเท่า

- จรวด SLS เป็นระบบที่แพงมาก การส่งจรวดแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ (ประมาณ 70,000 ล้านบาท)


สำหรับภารกิจอาร์ทีทิส 1 (Artemis 1) นั้น เป็นแผนการปล่อยจรวดในโครงการอาร์ทิมิสของนาซาเพื่อทดสอบการโคจรรอบดวงจันทร์ ก่อนที่การกิจอาร์ทิมิส 2 ภารกิจต่อไปจะขึ้นไปพร้อมลูกเรือนักบินอวกาศอีก 4 คน ในปี 2024 และภารกิจอาร์ทีมิส 1 จะเป็นเที่ยวบินแรกของจรวดขนส่งขนาดใหญ่ Space Launch System (SLS) พร้อมด้วยยานโอไรออน มีกำหนดการปล่อยในวันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน 2565 เวลา 13:04 น. ตามเวลาประเทศไทย และหากปล่อยตัวได้สำเร็จ ยานโอไรออนจะกลับมายังโลกในวันที่ 11 ธันวาคม 2565


ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : สมาคมดาราศาสตร์ไทย / วิกิพีเดีย


กำลังโหลดความคิดเห็น