xs
xsm
sm
md
lg

GISTDA เผยข้อมูล การรับมือ “สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว” ด้วยเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ GISTDA เผย ข้อมูลเรื่อง “สภาพภูมิอวกาศสุดขั้ว” หรือ Extreme Weather เรียกได้ว่าเป็นประเด็นร้อนที่ถูกพูดถึงในวงกว้างทั่วโลกในตอนนี้ ผลจากการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิโลกในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา และยังไม่มีทีท่าจะดีขึ้น ส่งผลให้หลายพื้นที่ทั่วโลกได้รับผลกระทบจากสภาวะภูมิอากาศสุดขั้วที่ทำให้เกิดภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ ขึ้นอย่างฉับพลัน

กล่าวกันตามตรง เราอาจไม่สามารถทำให้อุณหภูมิโลกลดลงได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่สิ่งที่เทคโนโลยีอวกาศสามารถช่วยได้ คือการชะลอผลกระทบร้ายแรง ด้วยการรับมือกับภัยพิบัติอย่างทันท่วงที แต่วิธีการเป็นอย่างไรบ้างนั้น วันนี้เราลองไปดูกัน ว่าทั่วโลกรับมืออย่างไรในวันที่เผชิญผลกระทบจากภูมิอากาศสุดขั้ว

เริ่มจากหน่วยงานที่เป็นที่รู้จักกันดีในด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างองค์การบริหารอวกาศและการบินแห่งชาติ หรือ NASA ได้พัฒนาระบบ AccuWeather เพื่อศึกษาความเสี่ยงของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ซึ่งจะสามารถติดตามการเปลี่ยนแปลงได้ในระดับรายชั่วโมงในทุกพื้นที่ทั่วโลก และสามารถคาดการณ์สภาพอากาศรุนแรงจนเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติได้ เพื่อให้สามารถรับมือกับภัยพิบัติร้ายแรงได้ทันท่วงที ลดความเสียหายจากผลกระทบได้


ไม่เพียงแต่การติดตามความเปลี่ยนแปลงของโลกเท่านั้น NASA และหน่วยงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ยังได้มีการศึกษาสภาพภูมิอากาศของดาวอังคารในรูปแบบเดียวกัน เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้นของทั้งธรณีภาค มหาสมุทร และชั้นบรรยากาศ เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิด Extreme Weather อาจไม่ใช่เพียงผลที่เกิดจากสิ่งกระตุ้นบนโลกของเราเท่านั้น แต่อาจมีผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของอวกาศด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ปัจจุบันมีนวัตกรรมใหม่ที่พัฒนาโดยการใช้ประโยชน์ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมจากดาวเทียม Copernicus Sentinel-5P ซึ่งสามารถตรวจสอบการปล่อยก๊าซมีเทนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศได้ ทำให้สามารถทราบได้ว่ากิจการประเภทใดที่ส่งผลกระทบมากที่สุด นำไปสู่การกำหนดมาตรการควบคุมที่เหมาะสม รวมถึงดาวเทียมสำรวจโลก NISAR ที่มีการติดตั้งเรดาร์ถึง 2 ตัว ถูกออกแบบมาเพื่อศึกษาธารน้ำแข็ง ภูเขาไฟ และทรัพยากรธรรมชาติ โดยมุ่งเป้าไปที่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศสุดขั้วโดยเฉพาะ

ในส่วนขององค์การอวกาศยุโรป หรือ ESA ได้ใช้เวลากว่า 30 ปี ในการพัฒนาดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา MTG-I1 ภายใต้ความร่วมมือของกลุ่มประเทศสมาชิกองค์การยุโรปเพื่อการใช้ประโยชน์ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา (EUMETSAT) ซึ่งจะทำหน้าที่ในการคาดการณ์เพื่อแจ้งเตือนผลกระทบร้ายแรงทั่วโลกจากสภาวะอากาศสุดขั้วได้อย่างแม่นยำในระยะเวลาอันสั้น โดยดาวเทียม MTG-I1 มีกำหนดส่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศสู่วงโคจรค้างฟ้า (Geostationary) ในปลายปี 2022 นี้ และในปีถัดไป มีกำหนดส่งเพิ่มอีก 3 ดวง โดยเป็นดาวเทียมบันทึกภาพ (MTG-I) 1 ดวง และดาวเทียมบันทึกเสียง (MTG-S) อีก 2 ดวง ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการใช้ประโยชน์จากเสียงในอวกาศ ยิ่งมีเครื่องมือและข้อมูลมากเท่าไหร่ การติดตามความเปลี่ยนแปลงและคำนวณคาดการณ์จะเป็นไปอย่างแม่นยำมากขึ้น

แน่นอนว่าเราไม่สามารถใช้เพียงเทคโนโลยีอย่างใดอย่างหนึ่งในการแก้ปัญหา แต่ต้องอาศัยหลายส่วนในการประกอบสร้าง ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากดาวเทียม เทคโนโลยีเลเซอร์และเรดาร์แบบใหม่ เทคโนโลยีภาพ 3 มิติ มาพัฒนาเป็นนวัตกรรมเฉพาะด้าน เป้าหมายเบื้องต้นคือการได้มาซึ่งข้อมูลในแต่ละห้วงเวลาที่มีคุณภาพและเพียงพอ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาโมเดลสำหรับวิเคราะห์คาดการณ์ที่แม่นยำมากขึ้นในอนาคต อันจะนำไปสู่การตัดสินใจเชิงนโยบายที่ดี


ในส่วนของประเทศไทย ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและภัยพิบัติเป็นหนึ่งในประเด็นที่ GISTDA ให้ความสำคัญอย่างมากเสมอมา โดยหนึ่งในเป้าประสงค์หลักของการใช้ประโยชน์ดาวเทียม THEOS-2 และ THEOS-2A คือการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่แน่นอนว่าเครื่องมือเดียวหรือข้อมูลเพียงชุดเดียว ไม่สามารถนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่มีศักยภาพเพียงพอต่อการแก้ปัญหา จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยในการสนับสนุน

เพราะข้อมูลที่ดีจะนำไปสู่การตัดสินใจอย่างมีคุณภาพ จึงเป็นที่มาของการพัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนการตัดสินใจและขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ที่เรียกว่า Actionable Intelligence Policy หรือ AIP ภายใต้โครงการ THEOS-2 ซึ่งเป็นเครื่องมืออัจฉริยะสำหรับวิเคราะห์และประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่จากหลายแหล่ง สามารถสังเคราะห์ประเด็นปัญหาพร้อมด้วยข้อมูลเชิงลึก ในบริบทเชิงพื้นที่ เวลา และเป้าหมายเฉพาะได้อย่างตรงจุด เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของภาครัฐและนำมาซึ่งแนวทางการแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นฐานในการบริหารจัดการนโยบาย และติดตามผลการดำเนินงานในเชิงพื้นที่ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ GISTDA ยังสนับสนุนงานวิจัยระบบโลกและอวกาศ (Earth Space System Frontier Research) หรือที่เรียกว่า “ESS” ซึ่งเป็นการบูรณาการข้ามสาขาบนฐานองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศ มุ่งเน้นการ “สร้าง” ทั้งองค์ความรู้ใหม่ โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี นวัตกรรม บุคลากรผู้เชี่ยวชาญ มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเป็น “เลิศ” ในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ผลกระทบจากอวกาศที่มีต่อโลก ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศสุดขั้ว การศึกษาวิจัยทางด้านพยากรณ์สภาพอวกาศ (Space weather forecast) ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่ ESS ให้ความสำคัญให้ความสำคัญในการวิจัยและพัฒนา

เพราะอวกาศอยู่ใกล้ตัวกว่าที่เราคิด การศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอาจยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้หมดไปได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่การใช้ประยุกต์ประโยชน์เทคโนโลยีอวกาศสามารถลดผลกระทบรุนแรงจากความเสียหายที่ไม่อาจประเมินค่า และนับเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศสุดขั้วที่นับวันจะทวีความรุนแรง


กำลังโหลดความคิดเห็น