สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) มอบรางวัล SLRI Award แก่ 4 ผลงานวิจัยเด่นด้านวิทยาศาสตร์กายภาพและวิทยาศาสตร์ชีวภาพ พร้อมจัดประชุมระดมความเห็นและข้อเสนอจากกลุ่มผู้ใช้บริการแสงซินโครตรอน เพื่อปรับปรุงการให้บริการต่อไป
ศ.ดร.สาโรช รุจิรวรรธน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน มอบรางวัล SLRI Award ประจำปี พ.ศ.2562-2563 แก่ผู้ใช้บริการที่มีคะแนนผลงานวิจัยตีพิมพ์สูงสุด ภายในการประชุมกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน ครั้งที่ 10 ประจำปี พ.ศ.2565 ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล พญาไท กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 200 คน
สำหรับผู้ได้รับรางวัลผลงานดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ ปี 2562 ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.ศิริรัตน์ จิตการค้า จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับผลงาน “Synthesis and Characterization of AMO LDH-Derived Mixed Oxides with Various Mg/Al Ratios as Acid–Basic Catalysts for Esterification of Benzoic Acid with 2-Ethylhexanol” และผู้ได้รับรางวัลผลงานดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ปี 2562 ได้แก่ ดร.ภญ.สุดจิต ล้วนพิชญ์พงศ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล กับผลงาน “Deciphering the Elevated Lipid via CD36 in Mantle Cell Lymphoma with Bortezomib Resistance Using Synchrotron-Based Fourier Transform Infrared Spectroscopy of Single”
ถัดมาเป็น ได้รับรางวัลผลงานดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ ปี 2563 ได้แก่ ดร.พิชญ พัฒนสัตยวงศ์ จากสถาบันวิทยสิริเมธี กับผลงาน “Elucidating the Coordination of Diethyl Sulfide Molecules in Copper(I) Thiocyanate (CuSCN) Thin Films and Improving Hole Transport by Antisolvent Treatment” และผู้ได้รับรางวัลผลงานดีเด่นด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ปี 2563 ได้แก่ รศ.ดร.สุนันทา ทองทา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กับผลงาน “Surface Modification of Tapioca Starch by using the Chemical and enzymatic Method”
สำหรับหลักเกณฑ์ในการให้รางวัลจะคัดเลือกจากผลงานวิจัยที่มีนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันแสงซินโครตรอนร่วมในโครงการ และมีการใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอน ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน โดยคัดเลือกผู้ใช้แสงซินโครตรอนที่มีลำดับคะแนนผลงานวิจัยตีพิมพ์สูงที่สุด ซึ่งการคัดเลือกนั้นดำเนินงานโดย คณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนของสถาบันฯ ซึ่งเป็นตัวแทนทั้งจากภาคเอกชน ภาครัฐและมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ
ทั้งนี้ สถาบันได้จัดการประชุมกลุ่มผู้ใช้ประโยชน์แสงซินโครตรอนเป็นประจำทุกปี เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นปัจจุบันของการให้บริการเทคนิคแสงซินโครตรอน พร้อมระดมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของกลุ่มผู้ใช้บริการ เพื่อนำไปปรับปรุงต่อไป ภายในงานยังมีนิทรรศการแสดงโปสเตอร์ทางวิชาการของกลุ่มผู้ใช้บริการ และการบรรยายพิเศษจากผู้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยเด่น โดยประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งแรกหลังจากหยุดไป 2 ปีเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และหลังจากนี้้จะจัดขึ้นทุกปีเพื่อเสริมแกร่งนักวิจัยไทยและสร้างชุมชนนักวิจัยที่เข้มเเข็ง สู่การสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ที่ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศ