เชิดชูเกียรติ 3 นักวิทยาศาสตร์ด้านเครื่องอนุภาคผู้มีผลงานโดดเด่น และสร้างคุณประโยชน์แก่วงการ ทั้งผู้สร้างคุณประโยชน์ยาวนาน และนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่เริ่มสร้างสรรผลงานที่มีประโยชน์ โดยมอบรางวัลภายในงานประชุมวิชาการเครื่องเร่งอนุภาคระดับโลก IPAC’22 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน โดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
จ.นนทบุรี – วันพฤหัสบดีที่ 16 มิถุนายน 2565 ดร.ประพงษ์ คล้ายสุบรรณ์ ประธานคณะกรรมการบริหารการจัดงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านเครื่องเร่งอนุภาค 13th International Particle Accelerator Conference หรือ IPAC’22 เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล Accelerator Awards แก่นักวิทยาศาสตร์เครื่องเร่งอนุภาคภายในงาน IPAC’22 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-17 มิถุนายน 2565 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จ.นนทบุรี
1. รางวัลเซี่ยจยาหลิน (The Xie Jialin Prize) สำหรับผู้มีผลงานโดดเด่นในวงการเครื่องเร่งอนุภาค โดยปีนี้มอบให้แก่ ศ.เจิ้นถัง เจ้า (Prof. Zhentang Zhao) ผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทฤษฎีเลเซอร์อิเล็กตรอนอิสระ (FEL Theory) และผลิตเลเซอร์จากทฤษฎีดังกล่าว ซึ่งมีความสำคัญต่อห้องปฏิบัติต่างๆ ทั่วโลก 2. รางวัลนิชิกาวา เทซึจิ (The Nishikawa Tetsuji Prize) สำหรับผู้มีบทบาทสำคัญต่อวงการเครื่องเร่งอนุภาคในชั่วโมงนี้ โดยปีนี้มอบให้แก่ ดร.เสียวเปียว หวง (Dr.Xiaobiao Huang) จากบทความในวงการเครื่องเร่งอนุภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานออกแบบและเดินเครื่องเร่งอนุภาค การวิเคราะห์พลศาสตร์ของลำอนุภาค ตลอดจนควบคุมและปรับลำอนุภาค ให้เหมาะสม และ 3. รางวัลโฮกิล คิม (The Hogil Kim Prize) สำหรับนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ที่เพิ่งเริ่มทำงานและสร้างผลงานสำคัญ แก่วงการเครื่องเร่งอนุภาค โดยปีนี้มอบให้แก่ ดร.แดเนียล วิงก์เลห์เนอร์ (Dr.Daniel Winklehner) จากผลงานการพัฒนานวัตกรรม สำหรับออกแบบเครื่องไซโครตรอน (Cyclotron) ขนาดเล็กที่สร้างโอกาสในการประยุกต์ใช้งาน ทางฟิสิกส์อนุภาคและการประยุกต์ใช้ทางด้านอุตสาหกรรม
ทางด้าน ดร.ฐาปกรณ์ ภู่ลำพงษ์ คณะทำงานจัดประชุมวิชาการนานาชาติ ฝ่ายวิชาการ และ หัวหน้าส่วนพลศาสตร์และอุปกรณ์ลำอนุภาค สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน กล่าวว่า “รางวัล Accelerator Awards เป็นรางวัลที่มอบกันเป็นประจำทุกปีภายในงานประชุมวิชาการ IPAC โดยแบ่งประเภทรางวัล ให้แก่นักวิทยาศาสตร์ผู้สร้างคุณประโยชน์ แก่วงการเครื่องเร่งอนุภาคมายาวนานและมีผลงานโดดเด่น รวมถึงนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่และนักศึกษาทางด้านเครื่องเร่งอนุภาค ซึ่งชื่อรางวัลในแต่ละประเภทจะเปลี่ยนไปตามทวีปเจ้าภาพการจัดงาน”
รางวัลสำหรับนักวิทยาศาสตร์เครื่องเร่งอนุภาคภายในงาน IPAC2022 ซึ่งปี พ.ศ.2565 นี้เป็นวาระการจัดงานของเจ้าภาพในทวีปเอเชีย ชื่อรางวัลแต่ละประเภทจึงเป็นชื่อนักฟิสิกส์เครื่องเร่งอนุภาคเชื้อสายเอเชียที่มีคุณูปการและบทบาทสำคัญต่อวงการเครื่องเร่งอนุภาค ได้แก่ รางวัลเซี่ยจยาหลิน ซึ่งตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศ.เซี่ยจยาหลิน นักฟิสิกส์เชื้อสายจีนผู้บุกเบิกการพัฒนาเครื่องเร่งอนุภาคเพื่อใช้บำบัดมะเร็ง รางวัลนิชิกาวา เทซึจิ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ ชิกาวา เทซึจิ นักฟิสิกส์เชื้อสายญี่ปุ่นเชี่ยวชาญด้านพลศาสตร์ลำแสงของเครื่องเร่งอนุภาคเชิงเส้น และรางวัลโฮกิล คิม ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ ศ.โฮกิล คิมนักฟิสิกส์และนักการศึกษาผู้บุกเบิกโครงการเครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ ในเกาหลีใต้ และประสบความสำเร็จในฐานะนักฟิสิกส์เครื่องเร่งอนุภาค ที่สถาบันการศึกษาในสหรัฐฯ
สำหรับงานประชุม IPAC2022 เป็นการประชุมวิชาการด้านเครื่องเร่งอนุภาคที่มีความสำคัญและใหญ่ที่สุดของโลก และจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีโดยเวียนการเป็นเจ้าภาพใน 3 ทวีป คือ เอเชีย(รวมออสเตรเลีย) ยุโรป และอเมริกาเหนือ-อเมริกาใต้ และมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งนักวิชาการ ผู้สนใจจากหลากหลายสาขาอาชีพ เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย วิศวกร และผู้ประกอบการด้านเครื่องเร่งอนุภาค มีการนำเสนอข้อมูลล่าสุดของการวิจัยและข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับเครื่องเร่งอนุภาคทั่วโลก รวมทั้งการนำงานวิจัย เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้จริงในห้องปฏิบัติการ และในภาคอุตสาหกรรม โดยมีผู้ส่งบทคัดย่องานวิจัยมากกว่า 1,000 เรื่อง มีผู้เข้าร่วมประชุมจากต่างประเทศประมาณ 800 คน และการแสดงสินค้าของผู้ประกอบการทางด้านเครื่องเร่งอนุภาคประมาณ 60 บูท