xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย ม.เกษตร คณะประมง พบ “สาหร่ายสีแดงชนิดใหม่ของโลก”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต , Victoria University of Wellington, New Zealand ค้นพบสาหร่ายสีแดงชนิดใหม่ของโลก บริเวณชายหาดนาใต้ จังหวัดพังงา ลักษณะเด่น ต้นแบน ขอบใบหยัก และเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้เกิดในแอ่งลึก

ทีมนักวิจัยคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นำโดย ผศ.ดร. ณรงค์ฤทธิ์ เมืองใหม่ และ นายจักรพันธ์ บุหลัน นิสิตปริญญาโท สาขาวิทยาศาสตร์การประมง ร่วมกับ ดร. จันทนา แสงแก้ว มหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ต และ Prof. Joe Zuccarello Victoria University of Wellington, New Zealand ได้ค้นพบสาหร่ายสีแดงชนิดใหม่ของโลก Gracilaria khanjanapajiae ในเขตทะเลฝั่งอันดามันบริเวณชายหาดนาใต้ จังหวัดพังงา โดยตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแด่ “ศาสตราจารย์เกียรติคุณกาญจนภาชน์ ลิ่วมโนมนต์” อาจารย์ผู้บุกเบิกงานวิจัยด้านสาหร่ายในประเทศไทยและเอเชียแปซิฟิค


สาหร่ายสีแดง Gracilaria khanjanapajiae ที่ถูกค้นพบนั้นมีลักษณะทางด้านสัณฐานวิทยาและพันธุกรรมที่แตกต่างจากชนิดอื่นๆ ที่เคยค้นพบมาก่อนหน้านี้ โดยมีลักษณะเด่นคือ ต้นแบน ขอบใบหยักและเซลล์สืบพันธุ์เพศผู้เกิดในแอ่งลึก การค้นพบครั้งนี้ได้ผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญและตอบรับให้ตีพิมพ์เผยแผ่ในวารสารทางวิชาการ Botanica Marina


ทีมวิจัยได้มีการค้นพบสาหร่ายชนิดอื่นๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 จนถึงปัจจุบัน โดยค้นพบสาหร่ายสีแดงชนิดใหม่มาแล้วก่อนหน้า 3 ชนิด ในปี 2557 พบสาหร่าย Neosiphopnia thailandica บริเวณอ่าวศรีราชา จังหวัดชลบุรี และสาหร่าย Gracilaria lantaensis บริเวณเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ และในปีนี้ได้ค้นพบสาหร่าย Gracilaria coppejansii จากจังหวัดภูเก็ต และสตูล การค้นพบสาหร่ายทำให้ได้ทราบว่าประเทศไทยมีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น