อว.ใช้นวัตกรรมต่อยอดอุตสาหกรรมครั่งไทยสู่ตลาดโลก ส่งนักวิจัยไปทำงานร่วมกับภาคเอกชนแก้ปัญหาการผลิตที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เตรียมผลักดันให้ครั่งเป็นยุทธศาสตร์จังหวัดลำปาง พร้อมเปิดเจรจาอินเดียแลกเปลี่ยนองค์ความรู้
เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผอ.สำนักงานบริหารโครงการตามนโยบาย สำนักงานปลัด อว.พร้อมหน่วยงานวิจัย หน่วยบริหารจัดการทุนและมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เข้าเยี่ยมชมบริษัท นอร์ทเทอร์นสยามซีดแลค จำกัด จ.ลำปาง เพื่อนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมจาก อว. เข้ามาช่วยเหลือภาคเอกชนในการยกระดับอุตสาหกรรมครั่งไทยให้ก้าวไกลไปสู่สากล โดยมีนายอภิชัย สัชฌะไชย ผู้บริหารจากบริษัท นอร์ทเทอร์นสยามซีดแลค จำกัด และพนักงานให้การต้อนรับ
ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า “ครั่ง” เป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรมและเป็นที่ต้องการมากในตลาดโลก การพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมครั่งไทยจึงมีความจำเป็นและควรส่งเสริม เนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองที่มีวัตถุดิบด้านครั่งติด 1 ใน 3 ของโลกที่มีการเลี้ยงครั่ง และ จ.ลำปาง ถือเป็นแหล่งผลิตครั่งขนาดใหญ่ของประเทศ อีกทั้งมีผู้ประกอบการในเชิงอุตสาหกรรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ครั่งที่มีฝีมือและเชี่ยวชาญ มีความพร้อมและประสบการณ์อย่างเต็มที่ แต่ปัจจุบันกำลังประสบปัญหาด้านผลผลิตที่มีไม่เพียงพอ ทำให้ครั่งขาดแคลน ซึ่ง อว. จะนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในส่วนนี้ เพื่อให้ผู้ผลิตสามารถใช้กำลังการผลิตได้เต็มประสิทธิภาพและได้ผลผลิตมากที่สุด รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่ม ผ่านโครงการ Talent Mobility ที่จะส่งนักวิจัยทั้งจากสำนักงานปลัด อว. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปางและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเข้าไปทำงานร่วมกับภาคเอกชน ขณะที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) และ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จะเข้ามาช่วยพิจารณาการให้ทุนวิจัยในการพัฒนาระบบฟาร์ม กระบวนการผลิต การสร้างมูลค่าและต่อยอด รวมถึงการเก็บเกี่ยวพืชทางเลือก นอกจากนี้ จะมีการติดต่อเจรจาเป็นพาร์ทเนอร์กับทางอินเดีย ซึ่งเป็นประเทศอันดับ 1 ในอุตสาหกรรมครั่งไทย เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนำเอาเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์มาใช้พัฒนาวงการครั่งไทยต่อไป
นายอภิชัย กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทกำลังผลักดันให้ครั่งเป็นยุทธศาสตร์ของจังหวัดลำปาง ด้วยคุณสมบัติของครั่งที่มีหลากหลาย อาทิ เป็นสารจากธรรมชาติ ไม่เป็นพิษ สามารถรับประทานได้ มีความมันวาวดูสวยงาม มีความสามารถในการยึดเกาะพื้นผิวเกือบทุกชนิด สามารถซ่อมแซมและเคลือบทับได้ทันทีและสามารถป้องกันการซึมผ่านของน้ำ จึงทำให้ครั่งได้รับการรองรับความปลอดภัยจากองค์การอาหารและยา หรือ FDA และองค์การอาหารปลอดภัยของอาหารแห่งยุโรป EFSA สำหรับประโยชน์ของครั่งในปัจจุบันถูกนำไปใช้อย่างหลากหลาย อาทิ อุตสาหกรรมผลไม้อุตสาหกรรมอาหารอุตสาหกรรมเคลือบเม็ดยา และสารเคลือบไม้ โดยปีที่ผ่านมาเราสามารถผลิตครั่งได้กว่า 3 ล้านกิโลกรัม แต่ก็ถือว่ายังน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด การได้รับการช่วยเหลือจาก อว. โดยการส่งนักวิจัย คณาจารย์ต่างๆ เข้ามาช่วยหาวิธียกระดับคุณภาพครั่งไทยและช่วยเพิ่มผลผลิตครั่ง พร้อมช่วยดูในเรื่องของต้นไม้ที่อยู่ของครั่งที่สามารถทนสภาวะมากยิ่งขึ้น และลดต้นทุนให้เกษตรกร จะสามารถต่อยอดให้อุตสาหกรรมครั่งไทยและครั่งไทยจะพัฒนาไปได้ไกลกว่าเดิม