สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเวทีเสวนา “ผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ Success Case : Bee Smile งานวิจัยที่...ขายได้จริง” ในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจำปี 2564 – 2565” ผู้ร่วมเสวนาที่มาร่วมให้ทัศนะประกอบด้วย นางสาวสรัลภัค จิรโรจน์วัฒน (บริษัท บี-สไมล์ ฟู้ด แอนด์ เบเวอร์เรจ จำกัด), นายกิตติเชษฐ์ ไพรวัลย์ นักวิจัยคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร, และนายนันทชัย สันทัดการ
นักออกแบบบรรจุภัณฑ์และสร้างแบรนด์ บริษัท Design SenseLimetrd Partnership จำกัด ดำเนินรายการโดย น.ส.พิมพ์ภิดา วิชญพิมพ์จุฬา และ น.ส.สุกัญญา เสเกกุล ผู้ประสานงานชุดโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative house การเสวนา “ผลักดันงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ Success Case : Bee Smile งานวิจัยที่...ขายได้จริง” ในวันนี้ นางสาวสรัลภัค จิรโรจน์วัฒน ได้นำประสบการณ์จาก บริษัท บี-สไมล์ ฟู้ด แอนด์ เบเวอร์เรจ จำกัด ที่นำผลิตภัณฑ์ไปปรึกษากับโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative house ว่า บริษัท บี-สไมล์ ฟู้ด แอนด์ เบเวอร์เรจ จำกัด ได้ทำผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งผสมน้ำมะนาวสด บรรจุกล่อง และบรรจุถุงขนาดใหญ่ จากเริ่มแรกปัญหาของบริษัทที่ทำธุรกิจแฟรนไชส์ในแบรนด์ผึ้งยิ้ม และได้มีการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน แต่การขนส่งใช้เวลาหลายวันทำให้ผลิตภัณฑ์เสียระหว่างการขนส่ง ทางบริษัทจึงอยากแก้ปัญหาดังกล่าว จึงนำปัญหาเข้ามาปรึกษากับโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative house และทางบริษัทได้ตั้งโจทย์ให้กับโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative house ไว้ 3 ข้อ คือ
1. สินค้าต้องเป็นวัตถุธรรมชาติ น้ำผึ้งยังต้องเป็นน้ำผึ้งดอกลำไยแท้ น้ำมะนาวสด ผลไม้สด
2. สามารถยืดอายุสินค้า เพื่อให้สะดวกในการขนส่ง และ
3. ต้องประหยัดเงินในการขนส่งด้วย
ทาง โครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative house ได้รับโจทย์จากบริษัทจึงมอบหมายให้ นายกิตติเชษฐ์ ไพรวัลย์ นักวิจัยคณะเกษตรศาสตร์ ลงไปศึกษาข้อมูลจนพบว่า ผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งผสมน้ำมะนาวสด มีปัญหาเรื่องการส่งผลิตภัณฑ์ เนื่องจากผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งผสมน้ำมะนาวสด ต้องเก็บในอุณหภูมิแช่เย็น เลยมีต้นทุนของการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นการควบคุม น้ำหนักของสินค้าที่มากขึ้น เนื่องจากว่าทางบริษัทขนส่งผลิตภัณฑ์ที่เป็นน้ำ ดังนั้นกระบวนการวิจัยจึงมุ่งเน้นไปที่ให้ผลิตภัณฑ์ลดปริมาณน้ำลง ทำให้ผลิตภัณฑ์ความเข้มข้นมากขึ้น โดยทำเป็นผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งมะนาวชนิดเข้มข้น สัดส่วนของน้ำผึ้งจะอยู่ที่ 1 ต่อ 5 – 1 ต่อ 4 ผู้ประกอบการสามารถเลือกได้ว่าต้องการความเข้มข้นระดับไหน หรือความหวานแบบไหน แล้วนำไปเข้ากระบวนการทำวิจัยทำให้เข้มข้นก็จะตอบโจทย์เรื่องการเก็บรักษา ในการขนส่ง รวมไปถึงการเก็ยผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในอุณหภูมิห้องได้
ส่วนเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งมะนาวชนิดเข้มข้น นายนันทชัย สันทัดการ นักออกแบบบรรจุภัณฑ์และสร้างแบรนด์ บริษัท Design SenseLimetrd Partnership จำกัด กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์มีแบรนด์ผึ้งยิ้มอยู่แล้ว แต่ถ้าใช้ชื่อนี้ จะเป็นการจำหน่ายได้แค่ในตลาดกลาง และตลาดล่าง แต่เมื่อผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งมะนาว มาเข้าโครงการ ก็ได้มีความคิดที่จะพัฒนาและต่อยอดให้ส่งออกได้ แต่ชื่อเดิมใช้กับชาวต่างชาติไม่ได้ ทางนักออกแบบก็เลยไปคุยกับนักการตลาด นักการตลาดก็คิดชื่อมาให้เป็นชื่อ “Bee Smile” และก็ออกแบบโดยใช้ตัวบีธรรมดา และก็เพิ่มคาแรคเตอร์ให้ตัวผึ้งให้ไปอยู่ในตัวบี จะทำให้จดจำได้ง่าย เนื่องจากสามารถสื่อถึงผลิตภัณฑ์ สื่อถึงชื่อสินค้า อีกด้วย
จากการเข้าโครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Innovative house ทำให้บริษัท บี-สไมล์ ฟู้ด แอนด์ เบเวอร์เรจ จำกัด มีแฟรนไชส์เพิ่มขึ้นจาก 300 สาขา เป็น 600 สาขา ทางบริษัทสามารถส่งผลิตภัณฑ์น้ำผึ้งมะนาวชนิดเข้มข้น ไปบนดอย หรือตามเกาะได้ เพราะเราสามารถควบคุมค่าขนส่งและเวลาขนส่งได้ นอกจากนี้ยังมีลูกค้าในคาเฟ่ สามารถเอาไปเป็นเมนูประจำร้านได้ หรือคนที่อยากมีแบรนด์เป็นของตัวเองสามารถชื้อผลิตภัณฑ์ไปติดแบรนด์เองได้อีกด้วย