พิษณุโลก - หมอเตือนคนชอบกินเมนู "กุ้งแช่น้ำปลา" ระวังเจอ "พยาธิปอดหนู" ขึ้นตา ล่าสุดพบข้าราชการสาววัย 40 ปีถึงขั้นตาบอด 1 ข้าง เป็นรายแรกของพิษณุโลก ขณะที่ทั่วโลกพบไม่เกิน 50 ราย
วันนี้ (2 ก.พ. 65) ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร, อาจารย์นายแพทย์ คณินท์ เหลืองสว่าง จักษุแพทย์เชี่ยวชาญด้านจอตาและน้ำวุ้นตา และ ผศ.พญ.สิรินันท์ ตรียะเวชกุล จักษุแพทย์ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกันแถลงพบผู้ป่วยโรคพยาธิปอดหนูขึ้นตา ส่งผลให้ตาขวาบอด 1 ข้าง ถือผู้ป่วยรายแรกของ จ.พิษณุโลก
ผศ.พญ.สิรินันท์ ตรียะเวชกุล จักษุแพทย์ รพ.มหาวิทยาลัยนเรศวร เปิดเผยว่า คนไข้เป็นหญิงอายุ 40 ปี อาชีพข้าราชการ มีอาการตาพร่ามัวข้างเดียวมาประมาณ 1 สัปดาห์ หลังเข้ารับการตรวจครั้งแรกไม่พบสาเหตุ ต่อมาได้ขยายม่านตาดูพบว่าตาอักเสบเพราะมีพยาธิในวุ้นตา
ขณะที่นายแพทย์ คณินท์ เหลืองสว่าง จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจอตาและน้ำวุ้นตา รพ.มน. กล่าวว่า เคสนี้จะต้องให้ยาฆ่าพยาธิและยาลดอักเสบ จากนั้นจึงผ่าตัดนำตัวพยาธิออกมาจากตา ส่งตรวจก็พบพยาธิปอดหนู ความยาวประมาณ 0.5 ซม.
สาเหตุที่เรียกว่าพยาธิปอดหนู เพราะพยาธิตัวเต็มวัยทั้งสองเพศ อาศัยอยู่ในหลอดเลือดแดงของปอดหนู พยาธิตัวเมียจะออกไข่ในหลอดเลือดแดงและฟักตัวเป็นตัวอ่อน ระยะที่ 1 ปนออกมากับมูลหนู เมื่อตัวอ่อนไชเข้าหอยทาก หรือหอยน้ำจืด เช่น หอยโข่ง หอยขม หอยเชอรี่ กุ้งน้ำจืด ปลาน้ำจืด แล้วจะเจริญเป็นตัวอ่อนระยะติดต่อ
ในระยะนี้หากคนรับประทานแบบปรุงสุกๆ ดิบๆ พยาธิจะเข้าสู่ระบบประสาท เช่น สมอง ไขสันหลัง หรือตา ฯลฯ อาการเจ็บป่วยจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งของอวัยวะที่พยาธิอยู่ เช่น เคสของคนไข้รายนี้ ตัวพยาธิขึ้นตา จึงทำให้ตามัวลงแบบเฉียบพลัน ไม่มีอาการปวด หรือเคืองตา
“เมื่อซักประวัติของผู้ป่วยแล้วพบว่าชอบรับประทานอาหารสุกๆ ดิบๆ บ่อยครั้ง โดยเฉพาะกุ้งน้ำจืด คือ กุ้งแช่น้ำปลา”
และเมื่อผ่าตัดนำพยาธิออกจากตาแล้ว พบว่าตาข้างขวาของผู้ป่วยไม่สามารถกลับมามองเห็นได้ เนื่องจากตัวพยาธิได้ชอนไชไปยังจอประสาทตา ทำให้จอประสาทตาอักเสบเป็นหนอง ได้รับความเสียหายถึงขั้นบอดสนิท ซึ่งหลังจากนี้ได้ทำการนัดรักษาต่อเนื่อง
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า ขอเตือนประชาชนควรหยุดกินอาหารสุกๆ ดิบๆ ต้องกินอาหารแบบปรุงสุกเท่านั้น เพราะพยาธิที่อาศัยอยู่ตามสัตว์น้ำจืด เมื่อเข้าสู่ร่างกายอาจเป็นอันตรายเหมือนผู้ป่วยเคสนี้ที่ต้องสูญเสียการมองเห็นจากดวงตาข้างขวาไป 1 ข้าง เพียงเพราะชอบรับประทานกุ้งแช่น้ำปลา หากพยาธิเข้าไปในระบบประสาท, สมอง, ไขสันหลัง อาจจะถึงขั้นรุนแรงถึงเสียชีวิตได้
ทั้งนี้ พบผู้ป่วยพยาธิปอดหนูขึ้นตาครั้งแรกของโลกในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2505 ขณะที่ทั่วโลกมีรายงานพบผู้ป่วยไม่เกิน 50 ราย โดยพบมากที่ภาคอีสาน