การ “ตากแห้งอาหาร” เป็นอีกหนึ่งวิธีในการถนอมและแปลรูปอาหาร ที่ช่วยยืดอายุคงรูปลักษณ์ของอาหารได้เป็นอย่างดี ซึ่งวิธีนี้ถูกใช้มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ด้วยการนำอาหารไปตากแดดในปัจจุบันนี้ ต้องพบกับความเสี่ยงจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ด้วยปริมาณแสงและความร้อนที่ไม่คงที่ จึงทำให้คุณภาพของอาหารลดลง หรือทำให้อาหารที่ตากไม่ได้ตรงตามความต้องการ โดย “ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์” เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ได้ถูกพัฒนาขึ้น ในการแข้ไขปัญหาในเรื่องนี้
ดร.สุรัตน์ เศษโพธิ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาพลังงานทดแทน และ นายสุรศักดิ์ ใจหลัก นักวิจัย คณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวถึงงานวิจัย “ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์” ว่า ในพื้นที่จังหวัดพะเยามีผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์อาหารท้องถิ่น ที่ต้องพึ่งพาวิธีการตากแห้งอาหาร ในการนำมาเป็นวัตถุดิบทำอาหารหรือผลิตเพื่อจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์ของฝาก เช่น เมนูขนมจีนน้ำเงี้ยว อาหารพื้นถิ่นของทางภาคเหนือ ซึ่งต้องใช้ “ดอกงิ้วแห้ง” เป็นวัตถุดิบหลัก แต่ด้วยในปัจจุบันสภาพอากาศแปรปรวนจึงทำให้ขั้นตอนการตากดอกงิ้วนั้นมีความยากมากขึ้น หากแสงแดดและอุณหภูมิไม่คงที่แล้ว คุณภาพของดอกงิ้วแห้งก็จะลดลงไปด้วย จึงได้ทำการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้กับผู้ประกอบการของทางจังหวัดพะเยา
อบแห้งอาหาร แบบไม่กังวลฟ้าฝน เพิ่มคุณภาพ ลดระยะเวลา
การออกแบบระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ทางคณะนักวิจัยได้ศึกษาต้นแบบจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน และนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับการปฏิบัติงานในพื้นที่ของผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถตอบโจทย์เรื่องการตากแห้งอาหารได้เป็นอย่างดี เนื่องจากภายในระบบอบแห้งจะมีอุปกรณ์ที่สำคัญได้แก่ พัดลมระบายอากาศและความชื้น ที่สามารถลดความชื้นได้อย่างรวดเร็ว และพัดลมยังเป็นอุปกรณ์ที่ควบคุมอุณหภูมิของอากาศในโรงอบ ทำให้ภายในมีอุณหภูมิความร้อนที่คงที่ ประมาณ 45 – 55 องศาเซลเซียส ซึ่งเหมาะแก่การทำอาหารให้แห้ง และยังช่วยลดต้นทุนเรื่องค่าไฟฟ้า เพราะโรงอบใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์
ช่วยลดต้นทุน ตอบโจทย์กระบวนการผลิต และแปรรูปอาหารอบแห้ง
ในส่วนของผู้ประกอบการที่ได้ใช้ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ นางวารัทชญา อรรถอนุกุล ผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฮโซแซบ เล่าว่า ทางร้านไฮโซแซบ ได้เปิดกิจการร้านขายขนมจีนน้ำเงี้ยวและข้าวซอยที่จังหวัดพะเยา มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 จนได้รับความคิดเห็นของลูกค้าที่อยากได้ชุดเซ็ทขนมจีนน้ำเงี้ยวและข้าวซอย ที่สามารถนำกลับบ้านไปทำกินที่บ้านหรือเป็นของฝากได้ ซึ่งในการทำชุดเซ็ทอาหารดังกล่าว วัตถุดิบต่างๆ จึงเป็นอาหารแห้ง เช่น ดอกงิ้ว เส้น ซึ่งต้องพึ่งพากรรมวิธีในการนำไปตากแห้งเป็นหลัก
“เมื่อก่อนนั้นการตากอาหารให้แห้งถือเป็นเรื่องง่าย เพราะสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมยังคงดีอยู่ แต่ตอนนี้ การตากอาหารทำได้ยาก เพราะในบางวันก็มีฝนหรือเมฆมาก ทำให้อาหารที่ตากไม่ได้คุณภาพ และต้องใช้เวลานาน มีต้นทุนที่สูงขึ้น แต่เมื่อได้รับการสนับสนุน ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จาก ม.พะเยา ก็สามารถผลิตอาหารแห้งที่มีคุณภาพมากขึ้น ลดความกังวลและค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างมาก” ….. เจ้าของร้านไฮโซแซบ กล่าวเสริม
หลังจากที่ร้านได้นำเทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ โดยเป็นการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการจัดทำ โปรแกรม ITAP ที่ให้บริการเชื่อมโยงระหว่างผู้ให้บริการเทคโนโลยีกับผู้ใช้เทคโนโลยี คือ มหาวิทยาลัยพะเยากับร้านไฮโซแซบ ทางร้านสามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ไฮ โซ แซ่บ คิดเป็นมากกว่าร้อยละ 50 ของกำลังการผลิตเดิม และยังใช้เวลาในการทำอาหารให้แห้ง จากเดิมต้องตากแดด 1 – 2 วัน ปัจจุบันใช้เวลาไม่เกินครึ่งวัน และยังช่วยให้คุณภาพของอาหารดีขึ้น และประหยัดค่าใช้จ่ายในเรื่องไฟฟ้าลดลง
เทคโนโลยีระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จึงเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่มีความเหมาะสมกับธุรกิจที่ต้องพึ่งพาการตากแห้งอาหาร และเหมาะกับธุรกิจท้องถิ่นรายเล็ก เนื่องจากระบบดังกล่าวใช้เงินลงทุนไม่สูง และเหมาะสมกับการนำมาใช้ในสภาวะภูมิอากาศของประเทศไทยที่มีแสงอาทิตย์ตลอดทั้งปี