GPSC จัดโครงการ Light for a Better Life ร่วม สวทช.ติดตั้งแผงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เคลือบสารนาโนกันฝุ่น ให้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว หวังทดลองประสิทธิภาพ คาดลดค่าไฟไว้เป็นกองทุนช่วยนักศึกษาได้ปีละ 175,000 บาท
เรียกได้ว่าเป็นอีกกิจกรรมเพื่อสังคมที่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) ได้จัดทำขึ้นกับโครงการ Light for a Better Life (LBL) ที่ได้นำแผงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไปติดตั้งให้กับ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว จ.สระแก้ว และคราวนี้ได้จับมือกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการนำนวัตกรรมของนักวิจัยไทย มาต่อยอด ซึ่งได้เริ่มติดตั้งไปเมื่อ ธ.ค.2564
นายณรงค์ชัย วิสูตรชัย ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสรัฐกิจสัมพันธ์และกิจการสาธารณะ GPSC ได้เล่าถึงที่มาของโครงการ LBL ว่า เป็นหนึ่งในโครงการทางด้านพลังงานของ GPSC ในเรื่องกิจการเพื่อสังคม มุ่งเน้นในประโยชน์ต่าง ๆ ทั้งในเรื่องของ Safety การสร้างความปลอดภัยในการผลิตไฟฟ้าและการใช้ไฟฟ้าของชุมชน และสังคม, Saving Energy Saving Environment การใช้พลังงานทดแทนเข้ามาในการผลิตไฟฟ้าก็จะทำให้เกิดการประหยัด ทั้งสิ่งแวดล้อมและค่าใช้จ่าย, Security and Reliability ความมั่นคงในการเข้าถึงไฟฟ้าของชุมชน และสุดท้าย Social Enterprise ก็คือการส่งต่อโครงการฯ อย่างยั่งยืน สู่การสร้างอาชีพ สร้างรายได้ กลับสู่สังคม
โดย GPSC ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการผลิตไฟฟ้า และเป็นแกนนำนวัตกรรมด้านไฟฟ้าของกลุ่ม ปตท. ได้นำระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 30.03 kW ชนิด Monocrystalline จำนวน 66 แผงและอินเวอร์เตอร์ที่มีระบบ Optimizer สามารถตรวจเช็คการผลิตของแผงโซล่าร์เซลล์แต่ละแผงผ่านแอพลิเคชั่นได้ตลอดเวลา
ในส่วนของ สวทช. ได้นำนวัตกรรมสารนาโนที่จะมาเคลือบผิวของแผงโซลาร์เซลล์ เพื่อทำให้ประสิทธิภาพของระบบผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น จำนวน 33 แผง เพื่อทดสอบผลลัพธ์ในระยะเวลา 2 ปี
ภายใต้งบประมาณติดตั้งทั้งหมดรวม 913,000 บาท โดยคาดหวังจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าให้กับวิทยาลัยและนำไปสนับสนุนโครงการเกษรฯ ของนักศึกษาได้ปีละ 175,000 บาท และทั้ง 2 หน่วยงานจะดำเนินโครงการนี้ร่วมกันจนครบมูลค่าการติดตั้ง ไม่เกิน 7 ปี ก่อนส่งมอบระบบให้กับทางวิทยาลัยฯ ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ทาง GPSC ก็ได้มีการสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมที่จะต้องทำโครงการ ทั้งศักยภาพพื้นที่ ความพร้อมของสถานที่ รวมถึงความพร้อมของผู้นำสถานที่นั้น ๆ ด้วย หลังจากนั้นก็จะเข้ามาติดตั้งซึ่งจะใช้เวลาไม่นานประมาณ 1 สัปดาห์ก็สามารถใช้งานได้เลย โดยโครงการนี้ทางวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว กับ GPSC ได้มีข้อตกลงกันว่า การที่ GPSC ไปติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์จะทำให้เกิดประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งในส่วนนี้ก็จะให้ทางวิทยาลัยฯ ตั้งเป็นกองทุนเอาไปช่วยนักศึกษาที่ขาดแคลน สามารถเอาไปต่อยอดทำโครงการพัฒนาทางด้านการเกษตร ปลูกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร หรือว่าการเลี้ยงปศุสัตว์ แล้วก็นำเอาสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้มาใช้ในวิทยาลัย, สหกรณ์ หรือร้านค้าสวัสดิการ ก็จะเป็นประโยชน์หมุนเวียนไป
นายณรงค์ชัย ยังกล่าวอีกว่า โครงการนี้ถือเป็นการทดลองครั้งแรก เพื่อดูประสิทธิภาพ ทั้งการทดลองตัวสารเคลือบแผงโซลาร์เซลล์ ถ้าใช้ได้ก็สามารถนำไปประยุกต์กับโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่อื่น ๆ ได้ แต่การเก็บข้อมูลอาจจะต้องใช้เวลาประมาณ 1 ปีเป็นอย่างน้อย เพราะต้องดูว่าฝุ่นเกาะเข้ามาแล้วการทำงานของแผงโซล่าเซลล์ทั้งสองชนิดแตกต่างกันอย่างไร และการต่อยอดความยั่งยืนของการพัฒนาด้านการเกษตร โดย GPSC ก็มองหาพื้นที่ที่เป็นแหล่งศึกษา สถานศึกษา วิทยาลัยเกษตรในลักษณะแบบนี้ ที่มีความต้องการแบบนี้ ก็อาจจะขยายต่อยอดออกไป
ทางด้าน ดร.ธันยกร เมืองนาโพธิ์ นักวิจัยทีมวิจัยนวัตกรรมเคลือบนาโน NANOTEC สวทช.เปิดเผยว่า สวทช.มีความตั้งใจในการพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับงานวิจัยในการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม ด้านพลังงาน รวมถึงด้านวัสดุก่อสร้าง โดยที่งานของเราจะเน้นการพัฒนาตัวสารเคลือบนาโนเพื่อให้มีคุณสมบัติหลากหลาย เช่น โซล่าเซลล์ ก็จะทำให้มีการเกาะของฝุ่นน้อยที่สุดทำให้เกิดการผลิตไฟฟ้าได้มากที่สุด โดยงานวิจัยนี้เราก็นำไปใช้ในชุมชนต่าง ๆ รวมถึงหาผู้ที่สนใจในการที่จะรับเทคโนโลยีตัวนี้ไปต่อยอด รับ Licensing และนำไปใช้งานต่อ
ทั้งนี้โดยปกติโซล่าเซลล์ ถ้าทิ้งไว้เฉย ๆ หากโดนฝุ่นเกาะประมาณ 2 เดือน คุณภาพจะตกไปประมาณ 6-8% หรือบางที่ที่มีฝุ่นเยอะ ๆ เช่นที่โรงงานต่าง ๆ คุณภาพจะตกลงไปถึง 9-10% เพราะฉะนั้นตัวสารเคลือบนาโนก็จะไปเคลือบบาง ๆ บนผิว โดยที่ไม่สามารถมองเห็นได้ ทำให้ฝุ่นไม่มาเกาะ ประสิทธิภาพถ้าเทียบกับแผงที่ไม่ได้เคลือบก็จะผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นประมาณ 5-6% แต่ก็มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นต่อแผงราว 5-20 บาทในระดับห้องปฏิบัติการ แล้วแต่สูตรไหนในการเคลือบ อาทิ มีคุณสมบัติการกันฝุ่นอย่างเดียวจะเป็นการเคลือบแบบถาวร ใช้ได้นานมากกว่า 5 ปีขึ้นไป และสูตรกันทั้งน้ำและฝุ่นใช้ได้นาน 2 ปี และต้องทำการเคลือบใหม่ แต่พอไปอยู่ในระดับอุตสาหกรรมแล้ว ราคาต้นทุนก็จะลดลงเกินครึ่ง
ขณะที่ ดร.เกียรติสยาม ลิ้มตระกูล ผู้อำนวยการวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสระแก้ว กล่าวขอบคุณ GPSC ที่ได้สนับสนุน โดยคิดว่า โครงการนี้จะทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการใช้ไฟฟ้าของวิทยาลัยฯ ส่วนหนึ่งก็สามารถนำพลังงานที่ผลิตได้จากแผงโซล่าเซลล์ไปใช้ในการบริหารจัดการงานฟาร์ม รวมถึงในอนาคตหลังจากมีการศึกษาวิจัยหรือทดลองใช้แล้ว ผลเป็นอย่างไร ก็สามารถให้นักศึกษา คณาจารย์ หรือเจ้าหน้าที่ เข้ามาศึกษาเรียนรู้เรื่องการใช้พลังงานทดแทนได้ โดยทาง GPSC ก็ได้นำเสนอว่า จะนำเงินที่หักจากที่วิทยาลัยฯ จะต้องจ่ายค่าไฟฟ้า ไปให้นักศึกษาได้ทำโครงการเกษตรกรหารายได้ระหว่างเรียน ก็จะเป็นการช่วยให้นักศึกษามีความพร้อมหรือมีคุณภาพชีวิตในการที่จะใช้ชีวิตอยู่ในวิทยาลัยให้ดีขึ้น โดยที่ไม่ต้องขอเงินจากครอบครัว
ทั้งนี้นวัตกรรมของพลังงานทดแทน คืออีกหนึ่งคือความมุ่งหวังของ GPSC ในการทำโครงการ CSR เพื่อสังคม โดยมุ่งหวังที่จะต้องส่งผลประโยชน์ให้กลับชุมชนและสังคม และโครงการที่ทำจะต้องยั่งยืนที่เราเน้นมากที่สุด Sustainability นั้นเป็นปัจจัยข้อสำคัญของ GPSC