“กิจการเพื่อสังคมส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากความอยากช่วยเหลือสังคมและอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นโดยไม่เคยนึกถึงผลกำไร แต่ความเป็นจริงแล้วธุรกิจสามารถเติบโตไปได้พร้อมกับสังคม เพราะเมื่อกิจการเพื่อสังคมของเราเติบโตและไปต่อได้ เราก็มีโอกาสสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน” ตฤณ รุจิรวณิช จาก Food Loss Food Waste ธุรกิจที่ต่อยอดการจัดการขยะในชุมชนมาสู่การพัฒนาสินค้าที่ผลิตจากขยะอินทรีย์ เป็น 1 ใน 5 กิจการเพื่อสังคมผู้ชนะจากโครงการ “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” รุ่นที่ 10 ในปี 2564 พูดถึงเป้าหมายของกิจการเพื่อสังคมด้วยความมุ่งมั่น
ด้วยสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้โลกธุรกิจต้องมีการปรับตัวกันขนานใหญ่ เป็นเรื่องน่ายินดีที่ยังมีผู้ประกอบการธุรกิจเพื่อสังคมจำนวนไม่น้อยยังคงเลือกทำธุรกิจภายใต้อุดมการณ์ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ พวกเขากล้าพอที่จะลองคิดลองทำอะไรใหม่ๆ และพร้อมที่จะต่อสู้ในโลกธุรกิจที่ท้าทายยิ่งกว่าที่เคย เพื่อให้ความอยู่รอดทางธุรกิจของพวกเขามีส่วนที่จะตอบแทนคืนสู่สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว และนี่คือเหตุผลสำคัญที่บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และสถาบัน ChangeFusion ยังคงร่วมกันเดินหน้าผลักดันและสนับสนุนกิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) ผ่านโครงการ “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” หรือ Banpu Champions for Change (BC4C) ที่ดำเนินการมาต่อเนื่องถึง 10 ปี ด้วยความเชื่อที่ว่า “พลังความรู้คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา" เพื่อร่วมขับเคลื่อนกิจการเพื่อสังคมในไทยให้มีรากฐานที่มั่นคง ช่วยให้ผู้ประกอบการ SE สามารถสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจเพื่อก้าวทันทุกการเปลี่ยนแปลง เพื่อพร้อมสร้างผลกระทบเชิงบวกสู่สังคมในมิติต่างๆ
ความมุ่งมั่นตั้งใจของกลุ่มผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ดีขึ้นในแง่มุมต่างๆ คือสิ่งสำคัญที่สะท้อนออกมาผ่านธุรกิจที่พวกเขาเลือกทำ ดังนั้น ภารกิจของโครงการ BC4C จึงเป็นการติดอาวุธให้พวกเขาได้เห็นโลกธุรกิจที่กว้างขึ้น เพิ่มทักษะและความรู้เชิงธุรกิจ เสริมด้วยกิจกรรมสร้างเครือข่าย รวมถึงเชิญผู้เชี่ยวชาญมาร่วมถ่ายทอดประสบการณ์และให้คำแนะนำ เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ๆ มีความมั่นใจที่จะเดินหน้าในเส้นทางธุรกิจที่พวกเขาเลือก สำหรับ 5 กิจการเพื่อสังคมผู้ชนะจากโครงการ BC4C ปีที่ 10 นั้น อะไรคือสิ่งที่ผลักดันให้พวกเขากล้าที่จะเปลี่ยนแปลง และลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง
เปลี่ยนชุมชนให้เข้มแข็ง ยั่งยืน และพึ่งพาตนเองได้จากพลังของคนในชุมชนกับ “Banana Land”
Banana Land คือธุรกิจที่ตั้งใจพัฒนาชุมชนบ้านหนองบัว ตำบลภูหอ จังหวัดเลย ให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้ ผ่านการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวที่พร้อมพาทุกคนไปเรียนรู้วิถีชีวิตอันเรียบง่ายของคนในชุมชน แต่ความท้าทายครั้งใหญ่เกิดขึ้นพร้อมการมาถึงของโควิด-19 ที่ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวต้องหยุดชะงัก จนผู้ประกอบการมองไม่เห็นทิศทางที่จะไปต่อได้ของธุรกิจ ลักขณา แสนบุ่งค้อ เล่าว่า “การได้เข้าร่วมโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมทำให้เราปรับความคิด เปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส ด้วยการคิดแผนการดำเนินงานใหม่ที่มาพร้อมเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น ทั้งยังมีที่ปรึกษาที่คอยไกด์ให้พวกเรามั่นใจ ทำให้เห็นภาพว่าธุรกิจของเราสามารถไปต่อได้ เพื่อช่วยวางรากฐานให้คนในชุมชน สร้างอาชีพและรายได้ ทำให้ชุมชนอยู่ได้และเติบโตด้วยทรัพยากรที่มีอยู่ และเราก็พร้อมที่จะให้นักท่องเที่ยวกลับมาที่ Banana Land อีกครั้งเร็วๆ นี้”
เปลี่ยนข้อจำกัดให้เป็นโอกาสกับ “Anywhere Work”
Anywhere Work เป็นธุรกิจที่มุ่งสร้างอาชีพและพัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับกลุ่มแรงงานเปราะบาง เช่น การแปลงเอกสารเป็นไฟล์ดิจิทัล และการคีย์ข้อมูลด้วยระบบ AI เพื่อให้กลุ่มแรงงานเหล่านี้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ความท้าทายที่ Anywhere Work ต้องพบเจอคือการเป็นธุรกิจที่เพิ่งเริ่มก่อตั้งได้ประมาณ 9 เดือน ความเป็นมือใหม่ทำให้พบเจอกับอุปสรรคในการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจให้เกิดผลลัพธ์อย่างที่หวัง แต่โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคมทำให้ Anywhere Work มองเห็นเส้นทางธุรกิจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่งผลให้เกิดไอเดียที่นำทักษะดิจิทัลที่สำคัญสำหรับแรงงานในปัจจุบันมาปรับเข้ากับธุรกิจ จนนำไปสู่ความร่วมมือกับโรงพยาบาลขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาระบบ AI ตรวจจับการใส่หน้ากากอนามัย ที่จะเป็นสาธารณสมบัติและจะมีการนำมาใช้จริงในปีนี้ นับเป็นการต่อยอดไปสู่เรื่องการดูแลความปลอดภัยให้กับคนในสังคม
เปลี่ยนเส้นทางที่ใช่ ให้เด็กไทยเลือกเดินไปกับ “a-chieve HUB”
a-chieve HUB (อะชีฟ ฮับ) เป็นผู้ออกแบบระบบการเรียนรู้และพัฒนาตนเองเพื่อช่วยให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาหรือเทียบเท่าได้วิเคราะห์และทำความรู้จักตนเอง เพิ่มทักษะการตัดสินใจให้นักเรียนสามารถเลือกเส้นทางที่เหมาะกับตนเองในอนาคตได้อย่างมั่นใจ แต่ความท้าทายที่ a-chieve HUB ต้องพบเจอก็คือการปรับตัวให้ทัน เพราะนักเรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญของธุรกิจแนะแนวการศึกษาเมื่อ 5 ปีก่อนกับช่วงเวลาในปัจจุบันไม่เหมือนเดิม เนื่องจากเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น การเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้ไอเดียที่วาดไว้ในความคิดแต่ไม่รู้ต้องเริ่มยังไงมันสามารถเป็นจริงขึ้นมาได้ และทำให้ทีมงานของ a-chieve HUB ทุกคนกล้าเดินหน้าต่อเหมือนกับที่น้องๆ นักเรียนต้องกล้าเลือกเส้นทางที่ใช่ของตนเอง ด้วยแพลตฟอร์มออนไลน์ของ a-chieve HUB ที่ถูกพัฒนาให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น จะมาช่วยเปลี่ยนให้เด็กไทยกล้าคิดและรู้จักวางแผนอนาคตทางอาชีพของตนเอง
เปลี่ยนการศึกษาไทยให้ยั่งยืนกับ “insKru”
insKru (อิน สครู) เป็นทีมผู้สร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ช่วยครูสร้างห้องเรียนคุณภาพให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยเหมาะสมแก่การเรียนรู้ด้วยคลังไอเดียการสอนจากเพื่อนๆ ครู และระบบการประเมินการสอนที่ทำให้ครูได้ยิน ‘เสียง’ ของนักเรียน ที่ปรับจากการมุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลงในภาพใหญ่มาเป็นการจุดประกายความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ก่อนขยายไปในวงกว้าง จากเดิมที่ insKru เน้นการเข้าไปเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการสอนในรูปแบบการจัดการอบรมให้กับหน่วยงานต่างๆ ผ่านการสนับสนุนเชิง CSR แต่สถานการณ์ต่างๆ ที่เจอทำให้ insKru เปลี่ยนแนวคิดในการดำเนินธุรกิจ มาเป็นการพูดคุยกับบุคลากรทางการศึกษาโดยตรงโดยใช้แพลตฟอร์มเป็นสื่อกลาง นำเสนอวิธีการเรียนการสอนที่น่าสนใจ ตอบโจทย์ผู้เรียน ทำให้บรรยากาศในห้องเรียนดีขึ้น ทำให้ครูไม่ต้องแข่งกันสอนแต่มาช่วยกันสอน และช่วยพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพไปด้วยกัน
เปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมกับ “Food Loss Food Waste”
ทีม Food Loss Food Waste นำเสนอธุรกิจที่ต่อยอดการจัดการขยะในชุมชนมาสู่การพัฒนาสินค้าที่ผลิตจากขยะอินทรีย์ โดยใช้หนอนและแมลงเป็นตัวช่วยในกระบวนการย่อยสลาย และแปรรูปขยะให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ปุ๋ย อาหารสัตว์ ฯลฯ ตฤณ รุจิรวณิช บอกว่า ความเปลี่ยนแปลงในโลกธุรกิจนั้นเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด สิ่งสำคัญคือธุรกิจจะปรับตัวและก้าวข้ามไปได้อย่างไรมากกว่า “การเข้าร่วมโครงการ BC4C ทำให้พวกเรามองเห็นว่า ธุรกิจสามารถเติบโตได้พร้อมกับสังคม การสร้างผลกำไรทางธุรกิจสามารถนำมาบริหารความต่อเนื่อง และทำให้พวกเรามีโอกาสที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในสังคมต่อไป Food Loss Food Waste มีโอกาสเข้าไปส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนให้กับชุมชนบนเกาะสมุย โดยให้ชุมชนนำหนอนแมลงวันมาย่อยขยะอินทรีย์ จนได้เป็นดิน ปุ๋ย ที่นำมาปลูกพืชผักเป็นอาหารไว้กินบนเกาะ ความสำเร็จที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนเทียนเล่มแรกที่จุดแล้วส่งต่อไฟมาให้พวกเรา หลังจากนี้คือการส่งต่อประกายไฟให้เทียนเล่มอื่นๆ ขยายให้สังคมกับสิ่งแวดล้อมอยู่ด้วยกันได้อย่างยั่งยืน”
5 กิจการนี้เป็นตัวอย่างของกิจการของคนรุ่นใหม่ที่เกิดจากแนวคิดที่กล้าพอจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมในเชิงบวก เราทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงแบบนี้ได้เช่นกัน เพียงแค่กล้าที่จะคิด และที่สำคัญที่สุดคือลงมือทำ การสนับสนุนเหล่ากิจการเพื่อสังคมด้วยการอุดหนุนสินค้าหรือบริการของพวกเขาเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมได้เช่นเดียวกัน เหมือนกับโครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม “Banpu Champions for Change” หรือ BC4C โดยบริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และสถาบัน ChangeFusion ที่ยังคงพร้อมเดินหน้าถ่ายทอดองค์ความรู้และสนับสนุนเงินทุนในการเริ่มต้นธุรกิจ เพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SE รุ่นใหม่ หนุนให้กิจการเพื่อสังคมในไทยเติบโต เพื่อร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้สังคมไทยอย่างยั่งยืนต่อไป
เกี่ยวกับ บมจ. บ้านปู
บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำด้านพลังงานที่หลากหลายในระดับนานาชาติ ดำเนิน 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน และกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานใน 10 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย จีน ออสเตรเลีย สปป.ลาว มองโกเลีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม
“พลังความรู้ คือพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา”
บ้านปูเชื่อว่า “การเรียนรู้” เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนา “คน” ซึ่งจะขับเคลื่อนชุมชนและสังคมให้พัฒนาอย่างยั่งยืนในระยะยาว โครงการซีเอสอาร์ของบ้านปูในทุกประเทศ จึงมุ่งเน้นสนับสนุนและส่งเสริมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องให้กับเยาวชนและชุมชนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง การดำเนินชีวิตประจำวัน การเรียนรู้ทั้งในและนอกห้องเรียน การฝึกฝนเพื่อพัฒนาศักยภาพและทักษะชีวิต หรือการค้นคว้า เรียนรู้ และค้นพบองค์ความรู้ด้วยตนเองหรือร่วมกับคนอื่นๆ
เกี่ยวกับ โครงการพลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม หรือ Banpu Champions for Change (BC4C)
โครงการ “พลังเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม” หรือ Banpu Champions for Change (BC4C) เป็นหนึ่งในโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมของบ้านปู เริ่มดำเนินการในปี 2554 ต่อยอดมาจากการส่งเสริมการสร้างผู้ประกอบการทางสังคมรุ่นใหม่ในโครงการ “ตลาดประกอบฝัน” (Youth Innovation Marketplace: YIM) หรือเรียกสั้นๆ ว่าโครงการ “ยิ้ม” ที่บ้านปูสนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2549 โดยได้พัฒนารูปแบบของโครงการไปสู่การสนับสนุนเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่มีพลังสร้างสรรค์และศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดำเนินกิจการเพื่อสังคม หรือ Social Enterprise (SE) ซึ่งมุ่งเน้นความเชื่อมโยงระหว่างธุรกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยใช้การบริหารจัดการควบคู่กับคุณธรรม จริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ