สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ผนึกกำลังร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และ ม.แม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ ลงพื้นที่ ถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรมปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา พร้อมเปิดศูนย์เรียนรู้พื้นที่ต้นแบบ “ชุมชนไม้มีค่า” หวังพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน
วันนี้ (31 ต.ค.) ที่ชุมชนบ้านบุญแจ่ม ต.น้ำเลา อ.ร้องกวาง จ.แพร่ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) และมหาวิทยาลัยแม่โจ้-แพร่ เฉลิมพระเกียรติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ ถ่ายทอดเทคโนโลยี และนวัตกรรม การปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา พร้อมเปิดศูนย์เรียนรู้พื้นที่ต้นแบบ “ชุมชนไม้มีค่า” เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน
ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลัก รับโจทย์และสนับสนุนการบูรณาการการขับเคลื่อน โครงการชุมชนไม้มีค่า ตามมติคณะรัฐมนตรี ในการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกไม้มีค่า เพื่อสร้างแหล่งอาหารและพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน โดย วช. ได้นำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาช่วยสนับสนุน และขยายผลให้นักวิจัยทำงานร่วมกับพื้นที่ และหน่วยงานอื่น ๆ ดำเนินการในรูปแบบให้เกิดกล้าไม้ ขยายผลให้มีพืชทางเลือกภายใต้ร่มเงาไม้มีค่า ซึ่งการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซาเป็นหนึ่งในความเชี่ยวชาญของนักวิจัย จาก วว. ผสานการทำงานร่วมกับพี่น้องเกษตรกร โดยใช้ต้นทุนไม่สูง เป็นอาชีพที่เกษตรกรคุ้นเคย มีมูลค่าทางการตลาดสูง อีกทั้ง พื้นที่ชุมชนบ้านบุญแจ่มแห่งนี้ยังมีความเหมาะสมกับการเพาะปลูกเห็ดดังกล่าวอีกด้วย
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า วว.มีประสบการณ์ด้านการวิจัยเห็ดมานานกว่า 20 ปี เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับป่าชุมชน ในการส่งเสริมการปลูกไม้มีค่า ให้ชุมชนเกษตรกรรักษาและอาศัยประโยชน์จากป่า ทำให้งานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ของ วว.ได้ลงสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม เกิดความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและชุมชนเป็นอย่างดี นับเป็นการขับเคลื่อน BCG Model ของประเทศ เพื่อให้คนไทยได้มีแหล่งอาหารที่ปลอดภัยและป่าที่อุดมสมบูรณ์
นายสุรพล วงศ์สุขพิศาล ปลัดจังหวัดแพร่ กล่าวว่า นวัตกรรมการปลูกพืชเศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก วช. ส่งผลให้ชาวบ้านเกิดการเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ในท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม สร้างแหล่งอาหาร โดยการปลูกไม้เศรษฐกิจร่วมกับการเพาะเห็ดป่า เข้ามาหนุนเสริมให้ชุมชนเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน จนได้เป็นชุมชนแบบอย่างด้านการพัฒนา ด้วยป่าชุมชนบ้านบุญแจ่มที่มีความอุดมสมบูรณ์ไปด้วยน้ำและป่าไม้เป็นอันดับต้น ๆ ของจังหวัดแพร่ นำมาสู่การเปิดศูนย์เรียนรู้พื้นที่ต้นแบบ “ชุมชนไม้มีค่า” บ้านบุญแจ่ม ในวันนี้
พร้อมกันนี้ ดร.สุจิตรา โกศล ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เปิดเผยว่า พืชผักในพื้นที่ป่าเป็นแหล่งอาหาร และสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน โดยเฉพาะเห็ดไมคอร์ไรซา เช่น เห็ดเผาะ เห็ดระโงก เห็ดตะไคล เห็ดน้ำหมาก เห็ดน้ำแป้ง เห็ดถ่าน ที่เจริญและเกิดดอกโดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างรากับระบบรากของพืชชั้นสูงแบบเกื้อกูลกัน แต่เมื่อพื้นที่ป่าต้นน้ำถูกบุกรุก ทำลาย เพื่อทำการเกษตรเชิงเดี่ยวจนถึงขั้นวิกฤต จึงกระทบไปถึงการให้ผลผลิตของอาหารป่า และสภาพภูมิอากาศโลก ดังนั้น การส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชไม้มีค่า หรือพืชเศรษฐกิจในชุมชน ไปพร้อม ๆ กับการเพาะเห็ดไมคอร์ไรซา ในรูปแบบของวนเกษตรอินทรีย์ จึงเป็นวิธีการที่เหมาะสม ชุมชนลดการใช้สารเคมี สามารถสร้างรายได้ได้ทั้งรายวัน รายเดือน และรายปี จากการเก็บเกี่ยวผลผลิตทั้งสองประเภท สร้างความมั่นคง ด้านอาหารชุมชนและระบบนิเวศป่า
สำหรับชุมชนบ้านบุญแจ่ม คณะนักวิจัย พบเห็ดพื้นบ้านป่าที่สามารถกินได้ จำนวน 9 สกุล 16 ชนิด เช่น เห็ดน้ำหมาก เห็ดหน้าม่อย เห็ดน้ำแป้ง ร้อยละ 75 ของเห็ดที่กินได้ จัดเป็นเห็ดไมคอร์ไรซาที่พบเฉพาะในป่าเต็ง-รัง ซึ่งมีไม้วงศ์ยาง ได้แก่ เต็ง รัง และยางพลวง คณะนักวิจัยจึงจัดการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการเพาะเห็ดป่าไมคอร์ไรซา อาทิ การเตรียมกล้า การผลิตและเติมหัวเชื้อ การเตรียมพื้นที่ ตลอดจนการบำรุงดูแล ร่วมกับการปลูกไม้มีค่าในพื้นที่อย่างเหมาะสม พืชยืนต้น อาทิ ยางนา สัก ตะเคียนทอง พืชไม้ผล อาทิ ผักกูด มะม่วงหิมพานต์ กาแฟ และพืชประดับตกแต่ง เพื่อสร้าง Model ให้เกษตรกรและพื้นที่อื่นที่สนใจ โดยทดลองนำเชื้อเห็ดตับเต่าดำ ที่เพาะเลี้ยงเส้นใยบนเมล็ดข้าวฟ่าง หรือ บนอาหารเลี้ยงเชื้อเหลว ไปใส่ลงบริเวณโซนรากของต้นหางนกยูงไทย ซึ่งเป็นพืชอาศัยของเห็ดตับเต่า อายุ 1 ปี และดูแลให้น้ำอย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้เห็ดตับเต่าเจริญออกดอก ให้ผลผลิตจำนวนมากตลอดทั้งปี ดอกเห็ดมีขนาดโต สมบูรณ์ มีน้ำหนักระหว่าง 100-700 กรัมต่อดอก ขายได้ราคาแพง และช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโต ผลผลิต และคุณภาพของพืชเศรษฐกิจให้ดีขึ้นกว่าปกติ 2-3 เท่าด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะพันธ์ุไม้ยืนต้น 58 ชนิด ที่รัฐบาลส่งเสริมให้ปลูก เกษตรกรยังสามารถใช้เป็นหลักค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันการเงินได้
เห็ดป่าไมคอร์ไรซา มีส่วนสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ ประกอบด้วย 2 ประเภท คือ เอนโดไมคอร์ไรซา และ เอคโตไมคอร์ไรซา โดยมีทั้ง กลุ่มเห็ดกินได้ กลุ่มเห็ดกินไม่ได้ และกลุ่มเห็ดพิษ ความหลากหลายของเห็ดจะแตกต่างกันไปตามปัจจัยสภาพสิ่งแวดล้อม หรือ ระบบนิเวศป่าไม้ ซึ่งไมคอร์ไรซาสามารถเจริญอยู่ร่วมกับรากพืชชั้นสูงในลักษณะพึ่งพาอาศัยกัน เส้นใยของราทำหน้าที่ช่วยระบบรากพืชในการดูดน้ำและธาตุอาหารจากดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดูดซับธาตุฟอสเฟตให้แก่พืช ส่วนราจะได้รับสารอาหารจากพืชเพื่อการดำรงชีวิต