ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีมอบผลิตภัณฑ์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม “บาล์มตะไคร้ อว.” มีประสิทธิภาพ ความปลอดภัยในการรักษาโรคน้ำกัดเท้า และสามารถรักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราอื่นๆ ด้วย เช่น กลาก เกลื้อน ซึ่งเป็นผลงานการวิจัยและพัฒนาของ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ อำเภอพระนครศรีอยุธยา ลาดบัวหลวง ท่าเรือ เสนา บางบาล มหาราช บางประหัน และอำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี โอกาสนี้ ผศ.ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการและโฆษกกระทรวง อว. ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. ผู้บริหาร กระทรวง อว. และผู้แทนชุมชนทั้งสองจังหวัด เข้าร่วมในพิธีฯ ดังกล่าว
ศ. (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวในตอนหนึ่งว่า กระทรวง อว. เห็นความสำคัญของปัญหาประเทศ ปัญหาของประชาชน และเป็นความมุ่งมั่นที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ระยะปานกลาง และระยะยาว กระทรวง อว. พารอดด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม กิจกรรมมอบบาล์มตะไคร้ อว. เพื่อช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมในวันนี้เป็นผลงานของ วว. ซึ่งพัฒนาเทคโนโลยีได้หลายมิติช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า โดยการสนับสนุนการวิจัยโดย วช. ทั้งสองหน่วยงานปฏิบัติงานได้รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์และมีคุณภาพ ทำให้เห็นว่ากระทรวง อว. ไม่เพียงเก่งทางวิชาการเท่านั้น แต่มีความคล่องแคล่วว่องไว และใกล้ชิดชุมชน
ศ. (วิจัย) ดร. ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวถึงรายละเอียดการวิจัยและพัฒนาบาล์มตะไคร้ อว. ซึ่งเป็นหนึ่งผลงานคุณภาพของ วว. ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เข้าไปช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสมุนไพรไทย สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสังคมว่า ประเทศไทยประสบเหตุการณ์น้ำท่วมเป็นประจำทุกๆ ปี และเกิดขึ้นระยะเวลาที่ยาวนานหลายเดือน สถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบัน ยังคงมีจังหวัดที่น้ำท่วมขังสูงยาวนานหลายสัปดาห์ ส่งผลให้ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนต้องใช้ชีวิตปะปนกับการเดินในน้ำ จนเริ่มมีอาการคัน เป็นแผลบริเวณเท้า หรือที่รู้จักกันว่า “โรคน้ำกัดเท้า” ซึ่งเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มักพบในคนที่ต้องลุยน้ำและแช่น้ำเป็นเวลานาน บริเวณเท้าจึงมีความชื้นอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดอาการเท้าเปื่อย ลอก คัน และแสบ และอาจมีโอกาสติดเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราตามมาได้ ในช่วงเวลาที่น้ำท่วมในหลายๆ พื้นที่อาจเป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงการลุยน้ำ การป้องกันโรคน้ำกัดเท้าโดยการรักษาความสะอาดของเท้าและทำให้เท้ามีความชื้นน้อยที่สุดจึงเป็นเรื่องสำคัญ
“ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร วว. ได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรมาเป็นเวลากว่า 40 ปี โดยนำสมุนไพรไทยมาสกัดแล้วพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับป้องกันและรักษาโรคและอาการต่างๆ จากงานวิจัยการใช้ประโยชน์จากพืชหอมได้สกัดน้ำมันหอมระเหยหลายชนิด และนำมาทดสอบฤทธิ์ในการต้านเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ พบว่าน้ำมันตะไคร้ที่มีองค์ประกอบสำคัญคือ สารซิทรัล (Citral) มีคุณสมบัติสามารถต้านเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคผิวหนังได้ เหมาะสมที่จะพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ในการรักษาเชื้อราบนผิวหนัง และได้ทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ผสมน้ำมันตะไคร้ นำไปทดสอบฤทธิ์ต้านเชื้อราพบว่าได้ผลดีกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาด วว. จึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์บาล์มตะไคร้จากสารสกัดน้ำมันตะไคร้เพื่อรักษาโรคเท้าน้ำกัดที่มีทั้งประสิทธิภาพและความปลอดภัย นอกจากนี้ยังสามารถรักษาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อรา อื่นๆ เช่น กลาก เกลื้อนได้อีกด้วย” ผู้ว่าการ วว. กล่าว
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. มีภารกิจสำคัญในการบริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่นักวิจัย หน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ในประเด็นสำคัญของประเทศ มุ่งเน้นการสร้างผลงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และแก้ไขปัญหาได้จริงอย่างทันท่วงที ทั้งเชิงวิชาการ เชิงเศรษฐกิจ เชิงสังคมและชุมชน และเชิงนโยบาย เพื่อใช้เป็นกลไกในการพัฒนาและแก้ปัญหาเร่งด่วนสำคัญของประเทศ ในครั้งนี้ประเทศไทยต้องประสบสถานการณ์น้ำท่วม และยังคงมีจังหวัดที่น้ำท่วมขังสูง ยาวนานหลายสัปดาห์ ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน ต้องเดินลุยน้ำและแช่น้ำเป็นเวลานาน จนเริ่มมีอาการของ “โรคน้ำกัดเท้า” การป้องกันโรคน้ำกัดเท้าโดยรักษาความสะอาด และทำให้เท้ามีความชื้นน้อยที่สุดจึงเป็นเรื่องสำคัญ วช. เล็งเห็นว่า สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนา โดยนำสมุนไพรไทยมาสกัดแล้วพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับป้องกันและรักษาโรคและอาการต่างๆ ได้ วช. จึงได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยและประสบผลสำเร็จในการนำมาสู่การใช้ประโยชน์ของผลิตภัณฑ์บาล์มตะไคร้เพื่อรักษาน้ำกัดเท้า