xs
xsm
sm
md
lg

“Muhammad” Abdus Salam นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลปี 1979 ผู้ถูกอัปเปหิออกจากบ้านเกิดเมืองนอน

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน



Abdus Salam เป็นนักฟิสิกส์ชาวมุสลิมคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ประจำปี 1979 ร่วมกับ Steven Weinberg และ Sheldon Glashow ชาวอเมริกันจากผลงานการสร้างทฤษฎี electroweak ซึ่งได้จากการรวมทฤษฎีอันตรกิริยาแม่เหล็กไฟฟ้า (electromagnetic interaction) กับทฤษฎีอันตรกิริยาอย่างอ่อน (weak interaction) เข้าเป็นทฤษฎีหนึ่งเดียว และเมื่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทฤษฎีนี้ทำนายไว้ได้รับการยืนยันโดยการทดลองว่าถูกต้องทุกประเด็น คนทั้งสามจึงได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ร่วมกัน

นอกจากจะมีชื่อเสียงโด่งดังในฐานะผู้ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์แล้ว Salam ยังเป็นนักเคลื่อนไหวทางวิชาการที่จริงจังในอุดมการณ์ โดยได้พยายามทำความฝันของตนเองให้เป็นจริงอย่างแข็งขันด้วย การชักชวนผู้นำของประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาทั้งหลายให้ตระหนักในการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ จากนั้นก็ได้รณรงค์ให้องค์การ UNESCO สนับสนุนและช่วยในการจัดตั้งสถาบัน International Center for Theoretical Physics (ICTP) ขึ้นที่เมือง Trieste ในประเทศอิตาลีจนเป็นผลสำเร็จ ในปี 1964

ความน่าสนใจของอัจฉริยะบุคคลท่านนี้ คือการเป็นนักฟิสิกส์ผู้ถือกำเนิดในประเทศปากีสถาน ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา แต่มีความสามารถด้านฟิสิกส์ที่ทัดเทียมกับนักฟิสิกส์อัจฉริยะในประเทศที่พัฒนาแล้ว จนโลกยอมรับว่าตลอดหนึ่งสหัสวรรษที่ผ่านมา Salam เป็นนักฟิสิกส์ชาวมุสลิมผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด นับตั้งแต่ปราชญ์ Hasan Ibn al-Haytham ซึ่งเป็นทั้งนักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์และนักฟิสิกส์มุสลิมผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 10 อันเป็นยุคทองของวิทยาศาสตร์ในโลกอิสลาม

Abdus Salam (นามนี้แปลว่า ผู้รับใช้สันติภาพ) การใช้เพียงชื่อต้นกับชื่อสกุล ทำให้ Salam แตกต่างจากชาวมุสลิมทั่วไปที่นิยมมีตั้งแต่ 3 ชื่อขึ้นไป

Salam เกิดเมื่อวันที่ 29 มกราคม ค.ศ. 1926 ที่เมือง Jhang (ในเวลานั้นเมืองนี้อยู่ในประเทศอินเดีย) ซึ่งอยู่ห่างจากนคร Islamabad ประเทศปากีสถานไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 300 กิโลเมตร บ้านของ Salam ในวัยเด็กมีเพียง 2 ห้อง เพราะครอบครัวยากจน จึงไม่มีไฟฟ้าใช้ ทำให้ต้องจุดตะเกียงน้ำมันก๊าดเวลาจะอ่านหนังสือในเวลากลางคืน บิดาเป็นข้าราชการผู้น้อยในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และเป็นคนเคร่งศาสนามาก แต่ก็สนับสนุนลูกชายให้เรียนหนังสืออย่างเต็มที่ เพื่อจะได้เป็นข้าราชการเมื่อเติบใหญ่

เมื่อเรียนจบระดับมัธยมศึกษา Salam วัย 14 ปี ได้ทุนไปเรียนต่อที่ Government College ในเมือง Lahore โดยสอบเข้าได้คะแนนสูงสุดในประวัติการสอบเข้าของวิทยาลัย ความเก่งและฉลาดของ Salam ทำให้ชาวเมือง Jhang รู้สึกยินดี ชื่นชมและภูมิใจมาก

อีก 3 ปีต่อมา Salam ได้ตีพิมพ์งานวิจัยชิ้นแรกเรื่องการหาผลเฉลยของชุดสมการที่ Srinivasa Ramanujan ซึ่งเป็นอัจฉริยะนักคณิตศาสตร์ในอดีตได้เคยเสนอวิธีหาไว้ แต่วิธีการแก้สมการของ Salam สามารถเข้าใจได้ง่ายกว่า และวิธีการที่ใช้ก็กระชับและกระทัดรัดกว่า

เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 การสอบเข้ารับราชการของอินเดียต้องหยุดระงับ เพราะชอบคณิตศาสตร์มาก Salam จึงไปเรียนคณิตศาสตร์ในมหาวิทยาลัย Punjab จนจบการศึกษาระดับปริญญาโท จากนั้นไม่นานก็ได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศที่วิทยาลัย St. John’s College แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge ในประเทศอังกฤษ เพื่อเข้าเรียนระดับปริญญาตรีในสาขาคณิตศาสตร์ (เพราะมาตรฐานการศึกษาของอินเดียต่ำกว่าของอังกฤษ) แต่ในเวลาเดียวกันก็เรียนฟิสิกส์ด้วย โดยมี Dirac เป็นคนสอนกลศาสตร์ควอนตัม และสำเร็จการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยมอันดับหนึ่งในทั้งสองสาขา เมื่อรู้ตัวดีว่า ไม่ชอบ ไม่มีความอดทน และไม่มีความสามารถในการทดลองฟิสิกส์เลย Salam จึงขอให้อาจารย์ชื่อ Nicholas Kemmer เป็นที่ปรึกษาในการทำวิทยานิพนธ์ทางฟิสิกส์ทฤษฎี เรื่องสมบัติของอนุภาค pion และสามารถสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกได้ในปี 1952 ขณะมีอายุเพียง 26 ปี

ในช่วงเวลานั้นวงการฟิสิกส์ทฤษฎีกำลังสนใจการใช้เทคนิค renormalization เพื่อคำนวณหามวลและประจุยังผลของอิเล็กตรอนโดยใช้ทฤษฎี Quantum Electrodynamics (QED) ของ Julian Schwinger, Sin-Itino Tomonaga, Richard Feynman และ Freeman Dyson ดังนั้นในการทำวิจัยหลังปริญญาเอก Salam จึงใช้ทฤษฎี QED ศึกษาสมบัติต่างๆ ของอนุภาค meson ซึ่งเป็นอนุภาคที่เป็นสื่อในอันตรกิริยาอย่างเข้ม (strong interaction) และสามารถแก้ปัญหานี้ได้ภายในเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ เมื่อ Paul Matthews ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทรู้ข่าวและ Matthews ได้ทุนวิจัยจากสถาบัน Institute for Advanced Study ที่ Princeton ในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงชวน Salam เดินทางไปด้วย ทั้งสองทำงานวิจัยร่วมกันจนสำเร็จลุล่วงหลายชิ้น โดยใช้เทคนิค renormalization ผลที่ตามมาคือ ทุกคนในวงการฟิสิกส์รู้สึกตื่นเต้นในความสามารถของหนุ่มปากีสถานคนนี้มาก

ในปี 1953 Salam ได้เดินทางกลับประเทศปากีสถาน เพื่อเข้าพิธีสมรสและรับตำแหน่งศาสตราจารย์คณิตศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัย Punjab กับ Government College ด้วยความคาดหวังที่สูงมากว่าจะพยายามพัฒนาฟิสิกส์ในประเทศปากีสถานให้ก้าวหน้าจนทัดเทียมโลกตะวันตก แต่กลับพบว่าความฝันอันสูงสุดกับวิถีชีวิตทำงานที่แท้จริงที่นั่น เป็นเรื่องที่ไปด้วยกันไม่ได้ เพราะปากีสถานขาดแคลนทั้งคนที่สนใจฟิสิกส์และอุปกรณ์ที่ใช้ในการทำวิจัยฟิสิกส์ Salam เอง ก็พบว่าตนกำลังสูญเสียความสามารถและความกระตือรือล้นในการวิจัยฟิสิกส์อย่างรวดเร็ว เพราะไม่มีโอกาสได้เสวนาฟิสิกส์กับใครๆ เลย อีกทั้งไม่มีวารสารวิจัยฟิสิกส์ที่ทันสมัยให้อ่านด้วย นอกจากนี้บรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยที่นั่นก็ไม่มีใครทำงานวิจัยอย่างจริงจัง Salam จึงไม่มีเพื่อนที่สนใจปัญหาที่คล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับปัญหาที่ตนสนใจเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกันเลย ในที่สุดก็ได้ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัย เพื่อกลับไปใช้ชีวิตเป็นนักฟิสิกส์เต็มตัวที่ประเทศอังกฤษ และได้เข้ารับตำแหน่งอาจารย์ที่ St. John’s College แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge ในปี 1956


ย้อนอดีตไปก่อนนั้น 3 ปี คือในปี 1953 Clyde Cowan กับ Frederick Reines (Reines ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1995 แต่ Cowan ไม่ได้ เพราะเสียชีวิตไปก่อน) จากการพบอนุภาค neutrino และ T. D. Lee กับ C. N. Yang (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1957) ได้เสนอหลักการ Parity Violation ที่อุบัติในอันตรกิริยาอย่างอ่อน (weak interaction) เพื่ออธิบายการเกิดความอสมมาตรในการสลายตัวของธาตุกัมมันตรังสี ซึ่งทำให้ electron ที่ออกมามี spin ซ้ายมากกว่า spin ขวา Salam ได้พบว่าตนสามารถอธิบายปรากฏการณ์นี้ได้เช่นกัน โดยใช้สมการ Dirac (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1933) ถ้าให้มวลของอนุภาคนิวตริโนที่ออกมาด้วย มีค่าเป็นศูนย์ ทว่าผลงานนี้ไม่ได้รับการตีพิมพ์ เพราะถูก W. Pauli (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1945) กล่าวตำหนิว่า Salam คิดเหลวไหล

ข่าวความสำเร็จที่โลกภายนอกไม่รู้นี้ได้ทำให้ Patrick Blackett (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1948) ซึ่งในเวลานั้นเป็นหัวหน้าภาควิชาฟิสิกส์ที่ Imperial College ตัดสินใจเชิญ Salam วัย 31 ปี ไปรับตำแหน่งศาสตราจารย์ฟิสิกส์ทฤษฎีที่ Imperial College แห่งมหาวิทยาลัยลอนดอน และ Salam ก็ตัดสินใจรับงาน ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้ทำให้ชาวปากีสถานทั้งประเทศรู้สึกภูมิใจ ที่ชาวปากีสถานได้เป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยอังกฤษ
Salam ได้เริ่มสร้างทีมนักวิจัยทฤษฎีที่มุ่งศึกษาสมบัติของอนุภาคมูลฐาน จนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เมื่อศิษย์ของ Salam ชื่อ Yuval Ne’eman กับ Salam ได้เสนอทฤษฎี ace ส่วน Murray Gell-Mann (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1969) เสนอทฤษฎี quark ว่ามี 3 ชนิด ซึ่งเป็นองค์ประกอบของอนุภาคโปรตอนกับนิวตรอน ทฤษฎียังได้พยากรณ์อีกว่า เอกภพจะต้องมีอนุภาค omega minus ด้วย ในที่สุดคำทำนายนี้ก็เป็นจริง เมื่อทีมวิจัยภายใต้การนำของ Nicholas Samios ที่ห้องปฏิบัติการณ์ Brookhaven ได้พบอนุภาคนี้ในปี 1964

หลังจากนั้น Salam กับศิษย์ชื่อ Ronald Shaw ก็ได้พิสูจน์ว่าทฤษฎี Non-Abelian Gauge ของ C. N. Yang กับ R. Mills ที่ใช้อธิบายอันตรกิริยาอย่างเข้มระหว่างนิวคลีออนในนิวเคลียสสามารถใช้ในทฤษฎีอันตรกิริยาอย่างอ่อนได้ด้วย ผลงานนี้ทำให้ Salam วัย 33 ปี ได้รับเลือกเป็นสมาชิกของสมาคม Royal Society (F. R. S.) แห่งลอนดอนและเป็นสมาชิกที่มีอายุน้อยที่สุดในเวลานั้น ในปี 1959

ลุถึงปี 1967 Salam ได้ประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต เมื่อสามารถรวมทฤษฎีอันตรกิริยาแม่เหล็กไฟฟ้ากับทฤษฎีอันตรกิริยาอย่างอ่อนเข้าเป็นหนึ่งเดียว และเรียกว่าทฤษฎี electroweak (คำนี้เป็นคำที่ Salam บัญญัติ) เพราะสามารถอธิบายปรากฏการณ์แม่เหล็กไฟฟ้าและปรากฏการณ์กัมมันตรังสีได้ในเวลาเดียวกัน และได้ไปบรรยายผลงานนี้ในที่ประชุม Nobel Symposium ซึ่งจัดขึ้นที่กรุง Stockholm ในประเทศสวีเดน แต่นักฟิสิกส์ที่นั่นไม่ได้สนใจมาก เพราะแม้แต่ Murray Gell-Mann (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1969) ซึ่งเป็นประธานของที่ประชุม เมื่อถึงเวลากล่าวสรุปประเด็นสำคัญที่ได้จากการสัมมนา ก็ไม่ได้เอ่ยถึงผลงานของ Salam เลย ว่าเป็นผลงานที่สำคัญ เพราะจะเป็นพื้นฐานในการสร้างทฤษฎี Standard Model ในเวลาต่อมา

วงการฟิสิกส์ได้เริ่มให้ความสนใจในผลงานของ Salam เมื่อนักฟิสิกส์ชาวอเมริกันชื่อ Steven Weinberg กับ Sheldon Glashow ซึ่งทำงานวิจัยอย่างเป็นอิสระจากกัน ได้เสนอผลงานที่มีเนื้อหาและให้ผลลัพธ์เดียวกันกับทฤษฎี electronweak ที่ได้ทำนายว่าเอกภพจะต้องมีอนุภาค W+, W-, และอนุภาค Z0 ที่มีมวลและมีประจุ + , - , กับ 0 ตามลำดับ โดยอนุภาคทั้งสามนี้จะเกิดขึ้นเวลานิวเคลียสกัมมันตรังสีสลายตัว ทฤษฎียังได้ทำนายอีกว่าอันตรกิริยา neutral current ก็สามารถเกิดขึ้นได้ด้วย เมื่อคำทำนายทั้งหลายได้รับการยืนยันว่าถูกต้อง โดยทีมวิจัยที่ศูนย์วิจัยนิวเคลียร์ของยุโรป (CERN) ที่กรุง Geneva ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ นักฟิสิกส์ทั้งสามจึงได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ประจำปี 1979 ร่วมกัน (ใจความสำคัญของทฤษฎี electroweak อยู่ท้ายบทความนี้)

เวลามีคนมาสัมภาษณ์ Salam เรื่องเหตุผลที่เลือกอาชีพเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีและต้องเร่ร่อนไปทำงานวิจัยในต่างประเทศ Salam เล่าว่า เขาชอบคณิตศาสตร์มาก และฟิสิกส์ทฤษฎีเป็นวิชาที่ต้องใช้คณิตศาสตร์ในการอธิบายปรากฏการณ์ธรรมชาติ ดังนั้นฟิสิกส์จึงเป็นอาชีพที่ถนัด อย่างไรก็ดี ก็รู้สึกเสียใจที่ต้องจากบ้านเกิดเมืองนอนไปทำงานในประเทศอังกฤษ แต่เมื่อตระหนักว่า ถ้าไม่ไป ก็จะกลายเป็นคนไร้สมรรถภาพทางสติปัญญา ด้วยเหตุผลนี้หลังจากที่ได้ประสบความสำเร็จจนโลกยอมรับแล้ว Salam จึงได้พยายามช่วยเหลือบรรดานักวิทยาศาสตร์ในโลกที่สาม ให้ไม่ต้องเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปทำงานในประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นจึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยฟิสิกส์ทฤษฎีเพื่อให้นักฟิสิกส์ในประเทศด้อยพัฒนาทั้งหลายสามารถเดินทางไปรับการอบรม เพื่อฟื้นฟูความสามารถ และบุกเบิกความสนใจในวิทยาการใหม่ๆ โดยให้ทำงานวิจัยร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำของประเทศที่พัฒนาแล้ว เป็นระยะเวลาสั้นๆ ที่สถาบัน International Center for Theoretical Physics (ICTP) ที่เมือง Trieste ในประเทศอิตาลี

เมื่อกรอบความคิดตกผลึก Salam ได้นำความคิดนี้ไปเขียนเป็นโครงการขอความช่วยเหลือและขอทุนสนับสนุนจากองค์การ UNESCO และจากบรรดาผู้นำในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประธานาธิบดี John F. Kennedy ของสหรัฐอเมริกา, นายกรัฐมนตรี Zhou En-lai ของจีน, ประธานาธิบดี Francois Mitterand ของประเทศฝรั่งเศส, และนายกรัฐมนตรี Margaret Thatcher ของประเทศอังกฤษ เมื่อผู้นำทุกคนเห็นด้วยและเห็นชอบ สถาบัน ICTP จึงอุบัติ ผลงานนี้ได้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ทุกคนยอมรับว่า นอกจาก Albert Einstein แล้ว ไม่มีนักฟิสิกส์คนใดในโลกจะมีอิทธิพลบนเวทีนานาชาติมากเท่า Abdus Salam

ในปี 1964 ที่ ICTP ถือกำเนิด Salam ได้รับเลือกเป็นผู้อำนวยการคนแรก และได้ครองตำแหน่งนี้จนกระทั่งถึงเดือนธันวาคม ปี 1993 เมื่อ Salam ล้มป่วยด้วยโรคพาร์กินสัน จนทำให้ทำงานบริหารสถาบันไม่ได้

ตามปกติ Salam ทำงานหนักวันละประมาณ 15 ชั่วโมง โดยจัดแบ่งเวลาไปทำงานบริหารในช่วงเช้า และให้ช่วงบ่ายเป็นเวลาทำงานวิจัย ผู้ร่วมวิจัยของ Salam มีหลายคน เช่น John Strathdee, John Ward และ Paul Matthews ทุกคนมีความรู้สึกว่า Salam เป็นคนมีเสน่ห์ มีอัธยาศัยเป็นมิตรกับทุกคนและมีอารมณ์ขัน บุคลิกภาพนี้ทำให้คนที่เข้าพบและสนทนาด้วยรู้สึกอบอุ่น และนึกไม่ถึงว่า อัจฉริยะของโลกคนนี้จะวางตัวสบายๆ เช่นนี้


ในด้านชีวิตครอบครัว Salam มีภรรยา 2 คน คนแรก เป็นชาวปากีสถานชื่อ Amtul Hafeez Begum และคนที่สอง เป็นนักชีวเคมีชาวอังกฤษ ชื่อ Louise Johnson ซึ่งเคยปรารภว่า Salam ไม่มีเวลาให้ครอบครัวมาก แต่จะมีเวลาสำหรับฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์เสมอ

ตัว Salam เองก็เชื่อว่า วิทยาศาสตร์เป็นศาสตร์เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ช่องว่างของความเจริญระหว่างประเทศที่ด้อยพัฒนากับประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถแคบลงได้ จึงได้สนับสนุนให้ประเทศมุสลิมทั่วโลกส่งเสริมการวิจัยวิทยาศาสตร์ให้เป็นเหมือนดังที่ปราชญ์มุสลิมในอดีตตั้งแต่ยุคของ Avicenna กับ Ibn al-Haytham ได้เคยทำไว้ ต่อมาอีกไม่นาน Salam ก็ได้จัดตั้งสถาบันใหม่คือ Third World Academy of Sciences ขึ้น และได้เข้าดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการคนแรกของสถาบันนี้ ตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ย้อนอดีตไปก่อนนั้น เมื่อเริ่มมีชื่อเสียง Salam ได้เคยรับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดี Ayub-Khan แห่งสาธารณรัฐปากีสถาน และได้เป็นสมาชิกคนหนึ่งในคณะกรรมการที่ปรึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสหประชาชาติ ครั้นเมื่อรัฐบาลของประธานาธิบดี Khan ถูกโค่นอำนาจด้วยการปฏิวัติ ความสัมพันธ์ระหว่าง Salam กับรัฐบาลใหม่ของปากีสถานก็เริ่มเสื่อมลงๆ จนถึงจุดสิ้นสุดในปี 1974 หลังจากที่อินเดียประสบความสำเร็จในการทดลองระเบิดปรมาณูที่สร้างเองลูกแรกแล้ว ประธานาธิบดี Zulfikar Ali Bhutto แห่งปากีสถาน ซึ่งเป็น “ศัตรู” กับอินเดียก็ได้ออกแถลงการณ์ว่า ชาวมุสลิมนิกาย Ahmadiyya (ที่มี Salam เป็นสมาชิก) ซึ่งนับถือ Mirza Ghulam Ahmad เป็นศาสดานั้น เป็นพวกนอกรีต จึงถูกห้ามไม่ได้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์ที่นคร Mecca ในประเทศ Saudi Arabia นอกจากนี้สุเหร่าทั้งหลายของคนนิกายนี้ก็ถูกวางเพลิง Salam เอง ถูกห้ามไม่ให้เดินทางไปเยี่ยมเยือนประเทศมุสลิมใดๆ และเมื่อ Salam ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ เขาถูกสั่งห้ามไม่ให้แสดงปาฐกถาแม้แต่ในประเทศปากีสถานเอง อีกทั้งถูกปฏิเสธไม่ให้พบนาง Benazir Bhutto ซึ่งในเวลานั้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยนางได้ให้เหตุผลว่า “ไม่มีเวลาให้พบ”

ดังนั้นแม้ Salam จะได้รับเกียรติยศทางวิชาการถึงระดับสูงสุดจากนานาชาติ เช่น เป็นสมาชิกของสมาคมวิชาการทั้งในอเมริกา สวีเดน รัสเซีย ฯลฯ รวมทั้งสิ้น 24 ประเทศ ได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ 45 ปริญญา จากมหาวิทยาลัยใน 28 ประเทศ ได้รับเหรียญ Atom for Peace และเหรียญ Copley Medal ซึ่งถือเป็นเกียรติสูงสุดจากสมาคม Royal Society ของอังกฤษ รวมถึงได้รับเหรียญและสายสะพายในตำแหน่ง KBE (Knight of the British Empire) ของอังกฤษ แต่ Salam กลับไม่ได้รับการเชิดชูและเป็นที่ยอมรับในประเทศบ้านเกิดของตน

ในปี 1984 แพทย์ได้ตรวจพบว่า Salam เริ่มป่วยเป็นโรค supranuclear palsy (อาการหนึ่งในกลุ่มโรค Parkinson) ซึ่งทำให้ร่างกายมีอาการสั่นตลอดเวลา และการเคลื่อนไหวเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะเจ็บจนต้องนั่งรถเข็น

ในปี 1993 ทางสถาบัน ICTP จึงได้จัดงานเลี้ยงเพื่อขอบคุณและอำลาวิทยบุรุษผู้ได้ให้กำเนิดสถาบัน และกำลังป่วยหนัก จนพูดไม่ได้ แต่ยังฟังรู้เรื่อง ในงานเลี้ยงมีนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลมาร่วมงานหลายคน เช่น C. N. Yang (ปี 1957) และ S. Weinberg (ปี 1979) ทุกคนได้กล่าวขอบคุณและชื่นชมผลงานของ Salam หลังจากที่แขกผู้มีเกียรติทุกคนได้กล่าวคำสดุดีและขอบคุณแล้ว คนพูดคนสุดท้ายเป็นนักศึกษาหนุ่มจากประเทศปากีสถาน ซึ่งได้ทุนมาศึกษาต่อที่ ICTP เมื่อกล่าวคำขอบคุณจบ ก็เดินไปโค้งคารวะ Salam อย่างนอบน้อม และบอก Salam ซึ่งนั่งอยู่บนรถเข็นว่า “Sir, I am a student from Pakistan. We are very proud of you”

Salam ตัวสั่นด้วยความตื้นตันใจ ใบหน้าอาบด้วยหยาดน้ำตาที่ไหลริน

ในที่สุดนักฟิสิกส์รางวัลโนเบลจากปากีสถานที่ถูกเนรเทศออกนอกประเทศ ก็จบชีวิตอย่างสงบ เมื่อเวลาเช้าของวันที่ 21 พฤศจิกายน ค.ศ. 1996 ศพถูกนำไปฝังที่เมือง Rabwah ในประเทศปากีสถาน หลังพิธีศพเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ขอให้ครอบครัว Salam ลบคำว่า Muslim ออกจากป้ายหลุมฝังศพ คือ จาก “The First Muslim Nobel Laureate ให้เหลือเพียง “The First Nobel Laureate”

ในปี 2000 วิทยาลัย Government College ที่ Salam เคยเป็นนิสิตได้อนุมัติตำแหน่ง Salam Professor of Physics เพื่อเป็นเกียรติแก่บุคคลผู้ได้ทุ่มเทชีวิตให้ฟิสิกส์ในทุกแห่งหน ทั้งที่ Cambridge, Princeton, London และ Trieste แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากในการพัฒนาฟิสิกส์ของประเทศโลกที่สาม

ในปี 2008 Gordon Fraser ได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ “Cosmic Anger: Abdus Salam The First Muslim Nobel Scientist” ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Oxford University Press ผู้ประพันธ์ได้บรรยายอัตชีวประวัติ สไตล์การทำงานและบทบาททางการเมืองของ Salam ว่ามีความประสงค์จะเก่งฟิสิกส์ (ซึ่งทำได้) และมีความต้องการจะนำโลกที่สามไปสู่ความรุ่งเรืองทางวิทยาศาสตร์ (ก็ทำได้ระดับหนึ่ง) Salam จึงเป็นนักฟิสิกส์คนหนึ่งที่ทำอะไรได้มากกว่านักฟิสิกส์ทั่วไป แต่เป็นคนที่ประเทศมาตุภูมิ ไม่ให้สร้างอนุสาวรีย์ให้ และห้ามเชิดชู ในขณะที่มีชีวิตอยู่


ในปี 2018 นายกรัฐมนตรีของปากีสถาน Nawaz Sharif ได้ออกแถลงการณ์ประกาศให้ National Centre for Physics ที่มหาวิทยาลัย Quaid-i-Azam ในกรุง Islamabad เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น Professor Abdus Salam Centre for Physics

ทฤษฎี Electroweak Interaction ของ Glashow, Salam และ Weinberg

ทฤษฎี Quantum Electrodynamics (QED) ตั้งอยู่บนหลักสมมาตรที่เรียกว่า gauge invariance ซึ่งแถลงว่า เวลาวิเคราะห์อันตรกิริยาไฟฟ้าระหว่างประจุ เราสามารถเปลี่ยนค่าของสนามไฟฟ้าได้ โดยสมการที่ใช้ในการบรรยายอันตรกิริยานั้น ไม่เปลี่ยนรูป การที่เป็นเช่นนี้ เพราะอนุภาค photon ซึ่งเป็นพาหะที่ใช้ในอันตรกิริยาไฟฟ้า ไม่มีมวล

ในปี 1954 C. N. Yang กับ R. Mills ได้พยายามนำหลักสมมาตรนี้มาใช้ในการสร้างทฤษฎีอันตรกิริยานิวเคลียร์ แต่พบว่ามีปัญหา เพราะทฤษฎีพยาการณ์ว่า ธรรมชาติจะต้องมีอนุภาคที่ไม่มีมวล แต่มีประจุได้ ซึ่งในเวลานั้น ยังไม่มีใครพบหรือคิดว่ามีอนุภาคดังที่ว่านั้น

Sheldon Glashow ซึ่งเป็นศิษย์ของ Julian Schwinger (รางวัลโนเบลฟิสิกส์ 1965) ได้นำหลักการของ Yang-Mills มาใช้ในการรวมอันตรกิริยาแม่เหล็กไฟฟ้ากับอันตรกิริยาอย่างอ่อนให้เป็นหนึ่งเดียว โดยเสนอว่าพาหะที่ใช้ในอันตรกิริยาทั้งสองรูปแบบจะต้องมี 4 ชนิด คืออนุภาค photon ที่ไม่มีมวล และอนุภาค boson อีก 3 ชนิด ที่มีมวล ซึ่งจะบังเกิดเวลาระบบดำเนินไปโดยใช้อันตรกิริยาอย่างอ่อน เพราะสมการมีสมมาตรไม่เหมือนเดิม (คือ แตก เหตุการณ์นี้จึงเรียก symmetry breaking) แต่ในเบื้องต้น Glashow ไม่สามารถอธิบายได้ว่า การแตกสมมาตรจะทำให้เกิดอนุภาคใหม่ที่มีมวลได้อย่างไร

ในปี 1964 Robert Brout และ Francois Englert แห่ง University of Brussel ในประเทศเบลเยี่ยม ได้เสนอทฤษฎี spontaneous symmetry breaking ที่สามารถทำให้อนุภาคเกิดใหม่มีมวลได้ โดยใช้หลักการว่า ในสุญญากาศมีสนาม Higgs ซึ่งจะทำหน้าที่เหนี่ยวรั้งอนุภาคทุกชนิด และการเหนี่ยวรั้งนี้จะมีค่ามากหรือน้อย ก็จะทำให้อนุภาคมีมวลมากหรือน้อยตามไปด้วย

สนาม Higgs ที่มีอนุภาค Higgs จึงเป็นไปในทำนองเดียวกับที่สนามไฟฟ้ามีอนุภาค photon

ในปี 1967-8 Steven Weinberg จาก MIT และ Abdus Salam จาก Imperial College จึงนำแนวคิดของ Glashow ไปพัฒนาต่อ โดยกำหนดให้อันตรกิริยาไฟฟ้าและอันตรกิริยาอย่างอ่อนมีพาหะ 4 ชนิด โดยอนุภาคชนิดแรก คือ photon ไม่มีมวล และอีก 3 ชนิด คือ W+, W-, และ Z0 โดยที่ทั้งสามอนุภาคมีมวล แต่ W+, W- มีประจุ และ Z0 เป็นกลาง

ตามทฤษฎีนี้ เวลาระบบอนุภาคมีพลังงานสูงมาก อนุภาคพาหะทั้งสี่จะไม่มีมวล และจะมีอันตรกิริยาต่อกันขณะอนุภาคอยู่ที่ระยะใกล้กันมาก และขณะนั้นความรุนแรงของอันตรกิริยาไฟฟ้า และอันตรกิริยาอย่างอ่อนจะเท่ากัน นักฟิสิกส์กล่าวถึงเหตุการณ์ขณะระบบมีพลังงานสูงเช่นนี้ว่า อันตรกิริยา electronweak มี gauge symmetry คือ สมการที่ใช้มีลักษณะเป็น gauge invariance ที่ไม่เปลี่ยนรูป แม้เราจะเปลี่ยนอนุภาคจากอิเล็กตรอนที่มีประจุ กับนิวตริโนที่ไม่มีประจุก็ตาม

แต่ในระบบที่มีพลังงานต่ำ เช่นในห้องปฏิบัติการทั่วไป เมื่อเหตุการณ์แตกสมมาตรเกิดขึ้น (symmetry breaking) อันตรกิริยาทั้งสองรูปแบบจะมีความรุนแรงแตกต่างกัน และพิสัยของอันตรกิริยาก็แตกต่างกันด้วย อนุภาค W+, W-, และ Z0 ในอันตรกิริยาอย่างอ่อนจะเริ่มมีมวล โดยอาศัยกลไก Brout–Englert–Higgs ทำให้พิสัยของอันตรกิริยาค่อนข้างสั้น ส่วนอนุภาค photon จะยังคงสภาพไม่มีมวลเหมือนเดิม โดยที่พิสัยของอันตรกิริยาไฟฟ้ามีได้ไกลถึงอนันต์

ทฤษฎีของ Glashow - Salam – Weinberg ได้ทำนายว่ามวลของ W+, W-, และ Z0 มีค่าประมาณ 80-90 พันล้านอิเล็กตรอนโวลท์

การค้นพบอนุภาคทั้งสามในปี 1982-3 ที่ศูนย์ปฏิบัติการนิวเคลียร์ของยุโรป (CERN) ทำให้ Carlo Rubbia และ Simon van der Meer ได้รับรางวัลโนเบลฟิสิกส์ปี 1984


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น