xs
xsm
sm
md
lg

บนเส้นทางสู่ดวงจันทร์ของจีนและอินเดีย

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน



ถ้ามีใครถามคุณว่า ใครคือคนที่ทำให้จีนเป็นมหาอำนาจทางการทหารด้วยการสร้างระเบิดปรมาณูและระเบิดไฮโดรเจน รวมถึงได้พัฒนาจรวดนำวิถีข้ามทวีปและจรวดไปดวงจันทร์ คุณอาจจะตอบว่าไม่ทราบ แต่สำหรับชาวจีนทุกคนแล้ว เขาคนนั้น คือ Qian Xuesen ผู้ซึ่งแม้จะเสียชีวิตไปตั้งแต่ปี 2009 ชื่อเสียงเรียงนามของ Qian Xuesen ก็ไม่ได้ทำให้คนจีนลืมเลือน เพราะตั้งแต่ท่านประธาน Máo Zédong เสียชีวิต Qian Xuesen ก็ได้ก้าวขึ้นมาเป็นเทพองค์ใหม่ให้ชาวจีนได้เทิดทูน  

ด้วยการสร้างพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารสามชั้น ในนคร Shanghai เพื่อเก็บสรรพสิ่งที่ Qian Xuesen เคยใช้และสัมผัสตั้งแต่วัยเด็ก ตลอดจนถึงวัยเรียนที่สถาบัน Massachusetts Institute of Technology (MIT) แสจละที่ Caltech พิพิธภัณฑ์ยังได้เก็บภาพถ่ายของ Qian ขณะถูกกักบริเวณอยู่ที่ Los Angeles เป็นเวลา 5 ปี เพราะถูกกล่าวหาว่า สมคบกับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ในจีน เพื่อล้มระบบการปกครองของสหรัฐอเมริกา พิพิธภัณฑ์ยังเก็บแม้แต่กากตั๋วโดยสารที่ Qian ใช้ในการเดินทางโดยเรือชื่อ SS. President Cleveland จากนคร San Francisco ถึง Hong Kong เมื่อครั้งที่ Qian อพยพกลับบ้านเกิด และยังได้จัดแสดงภาพบุคคลสำคัญของโลกได้เดินทางมาเยี่ยม Qian ด้วย

ทันทีที่กลับถึงเมืองจีน Qian ก็ได้ใช้ประสบการณ์สร้างอาวุธสงครามที่เขาได้จากการทำงานที่ Jet Propulsion Laboratory (JPL) ในเมือง Pasadena รัฐ California เพื่อจัดตั้งองค์การพัฒนาจรวดและอวกาศของจีน ได้พยายามทุกวิถีทางให้จีนมีการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ด้วย เพื่อจีนจะได้ทัดเทียมชาติมหาอำนาจ

ในที่สุดความฝันและความพยายามของ Qian ก็เป็นจริง เพราะในวันที่ 16 ตุลาคม ค.ศ. 1964 ขณะเวลา บ่าย 3 โมง จีนก็ได้ประสบความสำเร็จในการทดลองระเบิดปรมาณูลูกแรก จีนจึงเป็นชาติที่ 5 ของโลก ตามหลังอเมริกา (1945) รัสเซีย (1949) อังกฤษ (1952) และฝรั่งเศส (1960) ที่กองทัพมีระเบิดปรมาณูใช้ จากนั้นจีนก็ได้ก้าวกระโดดไปสร้างระเบิดไฮโดรเจนอย่างรวดเร็ว และเมื่อถึงวันที่ 17 มิถุนายน ค.ศ. 1967 คือเพียง 32 เดือน หลังจากที่สร้างระเบิดปรมาณูได้ จีนก็มีระเบิดไฮโดรเจนใช้ ในขณะที่อเมริกาและรัสเซีย ต้องใช้เวลานานถึง 86 เดือน และ 75 เดือน ตามลำดับ จีนจึงเป็นประเทศมหาอำนาจลำดับที่ 4 ของโลกที่มีระเบิดไฮโดรเจน เพราะมีก่อนฝรั่งเศสเสียอีก

นอกจากจะมีบทบาทในการช่วยสร้างระเบิดนิวเคลียร์แล้ว Qian ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ริเริ่มการพัฒนาจรวดเพื่อใช้ในสงคราม และปล่อยดาวเทียมคมนาคม รวมถึงในการยิงจรวดเพื่อปล่อยดาวเทียมให้โคจรรอบดวงจันทร์ และปล่อยยานลงบนดวงจันทร์ด้วย

Qian เกิดเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ค.ศ. 1911 ที่เมือง Hángzhou ในมณฑล Zhejiang ซึ่งอยู่ห่างจากนคร Shanghai ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ประมาณ 175 กิโลเมตร เมื่อบิดาได้งานใหม่ที่ปักกิ่ง Qian ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย Beijing Normal University จากนั้นได้ไปศึกษาต่อที่ Shanghai Jiaotong University และจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เมื่ออายุ 23 ปี ในสาขาวิศวกรรมเครื่องกล แล้วได้เข้าทำงานที่กองทัพอากาศในเมือง Nanjing

อีกหนึ่งปีต่อมา Qian ได้ทุนไปศึกษาต่อที่ MIT ในสหรัฐอเมริกา และได้รับปริญญาโทภายในเวลาเพียงหนึ่งปี Qian เล่าว่า เขารู้สึกประทับใจในระบบการเรียนที่อเมริกามาก เพราะที่นั่นเน้นการทดลอง ซึ่งแตกต่างจากการเรียนในจีนที่เน้นภาคทฤษฎี จากนั้น Qian ได้ไปเรียนต่อระดับปริญญาเอกที่ California Institute of Technology (Caltech) ที่เมือง Pasadena รัฐ California และทำวิทยานิพนธ์โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาชื่อ Theodore von Karman ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และ von Karman ก็ได้พบว่า Qian เก่งคณิตศาสตร์มาก 

นอกจากนี้ก็มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล คือสามารถเห็นภาพของเหตุการณ์ต่างๆ ในจินตนาการได้ ครั้นเมื่อ Qian ได้รู้จักกับศิษย์ของ von Karman หลายคน ซึ่งต่างก็สนใจการสร้างจรวด Qian ก็ได้เบนความสนใจไปสู่ความพยายามจะสร้างจรวดบ้าง และได้ทดลองสร้างจรวดที่ห้องปฏิบัติการ Guggenheim Aeronautical Laboratory ของ Caltech จนมีความรู้และเทคนิคพื้นฐานในการสร้างจรวดเป็นอย่างดี


หลังจากที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกแล้ว Qian ได้งานเป็นวิศวกรจรวดที่ห้องปฏิบัติการ JPL ของอเมริกา ซึ่งอเมริกาในเวลานั้นมีจุดมุ่งหมายจะแข่งขันการพัฒนาสมรรถภาพของจรวดให้ดีกว่าจรวด V-2 ของกองทัพเยอรมัน

ในปี 1949 Qian วัย 38 ปี ได้รับแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ด้าน Aeronautical Engineering ที่ JPL ตามคำรับรองของ von Karman

เมื่อถึงต้นทศวรรษของปี 1950 ซึ่งเป็นเวลาที่กองทัพ Red Guards ในจีนกำลังเรืองอำนาจ และผู้มีอำนาจในกระบวนการนี้ได้พยายามจะเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองของประเทศจีน เมื่อหน่วยงานสืบราชการลับของอเมริกาคือ Federal Bureau of Investigation (FBI) ทราบว่า Qian เคยไปประชุมกับสมาชิก Red Guards ในอเมริกาจึงตั้งข้อกล่าวหาว่า Qian กำลังวางแผนจะล้มล้างระบบการปกครองของอเมริการ่วมกับพวก Red Guards Qian ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านั้นทุกข้อ แต่ศาลอเมริกันก็ไม่เชื่อและสั่งกักบริเวณไม่ให้ Qian เดินทางออกนอกพื้นที่ โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นเวลา 5 ปี และให้มีภาระสอนหนังสือเพียงหน้าที่เดียว การกระทำเช่นนี้ได้ทำให้ Qian รู้สึกขมขื่นมาก ตลอดเวลาที่ถูกกักบริเวณในฐานะนักโทษการเมือง รัฐบาลจีนได้ติดต่อเจรจากับรัฐบาลอเมริกันเพื่อขอแลกเปลี่ยน Qian กับเชลยศึกชาวอเมริกันที่กองทัพจีนจับได้ในสงครามเกาหลี เมื่อตกลงกันได้ Qian ก็ได้รับการปล่อยตัว และได้ประกาศขอลาออกจากตำแหน่งศาสตราจารย์แห่ง Caltech ทันที พร้อมกันนั้นก็ได้ออกแถลงการณ์ขอเดินทางกลับจีนในวันที่ 4 สิงหาคม ปี 1955

ประสบการณ์ของ Qian ในการสร้างจรวดและอาวุธสงคราม ที่ JPL ได้ถูกนำมาใช้ในการจัดตั้งโครงการสร้างจรวดของจีน โดยเริ่มตั้งแต่การพัฒนาระบบการทำงานของคนในองค์การ ผลปรากฎว่า Qian ทำงานได้ผลดีมาก จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นประธานที่ปรึกษาของกระทรวงกลาโหม ซึ่งมีหน้าที่ผลิตอาวุธนิวเคลียร์และพัฒนาจรวดพิสัยไกลของจีน นี่จึงเป็นการทำงานต่อยอดงานของบรรพบุรุษชาวจีนที่ได้ประสบความสำเร็จในการสร้างจรวดเป็นชาติแรกของโลก เมื่อประมาณ 800 ปีก่อน

ประวัติศาสตร์ได้มีบันทึกว่า คนจีนไม่เพียงแต่จะสร้างดินปืนได้เป็นชาติแรกของโลกเท่านั้น แต่ยังสร้างจรวดได้เป็นชาติแรกของโลกด้วย โดยได้เรียกจรวดว่า ลูกศรไฟ ในปี 1232 (ก่อนจะมีอาณาจักรสุโขทัย) ทหารจีนได้ใช้จรวดยิงต่อสู้กองทัพมองโกลที่มาบุกโจมตีเมือง Kai-feng-fu จรวดจีนซึ่งทำจากปล้องไม้ไผ่ที่บรรจุดินปืน ได้ทำให้กองทัพมองโกลพ่ายแพ้ แต่ปี 1232 ก็มิใช่ปีที่จีนประดิษฐ์จรวด เพราะปีนั้นเป็นปีที่มีการใช้จรวดเป็นครั้งแรก และจีนคงสร้างจรวดได้ก่อนนั้นนานแล้ว

จากนั้นเทคโนโลยีการสร้างจรวดของจีนก็ได้แพร่สู่ดินแดนอาหรับ เมื่อนักเคมีชาวซีเรียชื่อ Hassam Er-Rammah ในปี 1280 ได้ออกแบบทอร์ปิโดที่สามารถเคลื่อนที่ไปในน้ำได้ ลุถึงปี 1379 ประวัติศาสตร์ของอิตาลีก็ได้กล่าวถึงการทำสงครามยึดเกาะ Chiozza ว่าทหารได้ใช้จรวดโจมตีเมือง แต่ความสนใจในเทคโนโลยีจรวดได้เกิดขึ้นอย่างจริงจังเมื่อปี 1789 จากการที่กองทัพอังกฤษต้องพ่ายแพ้ในการสู้รบกับทหารอินเดียภายใต้การนำของเจ้าชาย Hyder Ali แห่งอาณาจักร Mysore ซึ่งได้ใช้จรวดที่ทำจากปล้องไม้ไผ่ สังหารทหารอังกฤษได้เป็นจำนวนมาก เหตุการณ์นี้ทำให้ William Congreve ซึ่งเป็นนักประดิษฐ์และนายทหารอังกฤษหันมาสนใจการออกแบบจรวด ถึงปี 1807 จรวดของ Congreve ก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นอาวุธสงครามชนิดหนึ่งที่กองทัพอังกฤษใช้ในการยิงถล่มเมืองหลวง Copenhagen ของเดนมาร์กจนได้รับชัยชนะ

อีก 6 ปีต่อมา อาวุธจรวดของ Congreve ก็สามารถพิชิตกองทัพของจักรพรรดิ Napoleon ได้ ในการทำสงครามที่เมือง Leipzig ตัวจรวดที่ใช้นี้ทำด้วยทองแดงและสามารถยิงได้ไกล 3 กิโลเมตร การแพ้สงครามมีผลทำให้ Napoleon เริ่มเสื่อมพระราชอำนาจ พัฒนาการของจรวดก้าวสำคัญได้เกิดขึ้นอีกในปี 1930 เมื่อ Robert H. Goddard ใช้ออกซิเจนเหลวและแกสโซลีนเป็นเชื้อเพลิงในจรวดเป็นครั้งแรก และ Goddard ได้กล่าวว่า มนุษย์อาจใช้จรวดเชื้อเพลิงเหลวนี้ในการส่งยานให้เดินทางไปถึงดวงจันทร์ได้

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ผู้นำ A. Hitler ของเยอรมนีได้ให้ทุนวิจัยแก่วิศวกรชื่อ Werner von Braun เพื่อพัฒนาจรวด V-1 และ V-2 ให้เป็นประโยชน์และใช้ในการถล่มทำลายกรุง London เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ รัฐบาลสหรัฐฯ ได้กวาดต้อนวิศวกรจรวดของเยอรมนีไปอเมริกาเพื่อสร้างจรวดสำหรับใช้ในสงครามและวิจัยวิทยาศาสตร์ให้รัฐบาลอเมริกัน


ผลที่ตามมาคืออเมริกาสามารถส่งดาวเทียม Explorer 1 ขึ้นโคจรในอวกาศได้ในปี 1958 หลังดาวเทียม Sputnik ของรัสเซียเพียง 1 ปี และได้พบแถบรังสี Van Allen ที่ห่อหุ้มโลก หลังจากนั้นดาวเทียมก็ถูกใช้เป็นห้องทดลองวิทยาศาสตร์ในอวกาศ

ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับประวัติศาสตร์ในช่วงเวลานี้คือ Werner von Braun แห่งกองทัพนาซี ได้รับการยกย่องโดยชาวอเมริกันว่าเป็นบิดาแห่งจรวดของอเมริกา ในขณะที่ Qian ซึ่งก็มีบทบาทในการสร้างจรวดที่ JPL กลับเป็นบุคคลที่อเมริกาไม่ต้องการ เพราะ Qian เป็นคนจีน และถูกสันนิษฐานว่าเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ แต่เมื่อถึงวันนี้ Qian ได้รับเกียรติอย่างสมบูรณ์โดยได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งจรวดของจีน และเมื่อครั้งที่เกิดสงครามอ่าว Gulf War ในปี 1990 ทหารอิรักก็ได้ใช้จรวดที่ Qian สร้างยิงถล่มทหารอเมริกัน เป็นการ “เอาคืน”

Qian ใช้ชีวิตอย่างสมถะเงียบๆ ในจีน จนจีนได้เปลี่ยนจากประเทศด้อยพัฒนามาเป็นประเทศมหาอำนาจ และได้เสียชีวิตที่ปักกิ่ง เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ค.ศ. 2009 สิริอายุ 98 ปี โดยไม่ทันเห็นว่าในปี 2019 ยานอวกาศ Chang’e 4 ของจีนได้ร่อนลงจอดบนดวงจันทร์ ในด้านที่หันออกจากโลกตลอดเวลา โดยยานได้ลงจอดในหลุมอุกกาบาตชื่อ Von Karmen ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา และเป็นที่เคารพรักของ Qian

ความก้าวหน้าทางอวกาศของจีนที่สำคัญๆ ตั้งแต่ปี 1970 เป็นต้นมา ได้แก่ การปล่อยดาวเทียมดวงแรกชื่อ Dongfanghong I ที่หนัก 173 กิโลกรัม โดยใช้จรวด Long March 1 ขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1970

ในปี 2003 Yang Liwei ได้เป็นมนุษย์อวกาศของจีนคนแรกที่ขึ้นโคจรในอวกาศในโครงการ Shenzhou 5 จีนจึงเป็นประเทศที่สามที่สามารถส่งคนขึ้นอวกาศได้ ตามหลังรัสเซียและอเมริกา

ถึงปี 2011 จีนได้สร้างสถานีอวกาศ Tiangong I ที่มีมนุษย์อวกาศ 2 คน ไปโคจรรอบโลก ตั้งแต่เดือนกันยายน 2011 จนกระทั่งถึงเมษายน 2018 ยาน Tiangong I ก็ตกสู่โลก เมื่อหมดอายุทำงาน
ในปี 2013 จีนได้ส่งยานอวกาศ Chang’e 3 ไปลงบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ยานได้ลงจอด ณ ที่ราบ Mare Imbrium บนดวงจันทร์ จีนจึงเป็นประเทศที่สามที่สามารถส่งยานไปลงบนดวงจันทร์ได้

และเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ค.ศ. 2020 ยานอวกาศ Chang’e 5 ที่จีนส่งไปลงบนดวงจันทร์ เพื่อเก็บหินและดินบนดวงจันทร์กลับมาวิเคราะห์บนโลก ได้เดินทางกลับถึงจีน และจีนก็หวังว่า ข้อมูลต่างๆ ที่ได้จากการวิเคราะห์จะช่วยให้มนุษย์รู้ประวัติความเป็นมาของดวงจันทร์สมบูรณ์ขึ้น


ส่วนขั้นตอนต่อไปในอนาคตคือ จีนมีโครงการจะสร้างสถานีสำรวจบนดวงจันทร์ โดยใช้หุ่นยนต์ทำงานประจำที่นั่น แล้วส่งมนุษย์อวกาศไปทำนุบำรุงและซ่อมแซมอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ต่างๆ เป็นครั้งคราว รวมถึงจะมีการถลุงแร่และค้นหาแหล่งเชื้อเพลิง เพื่อให้ยานอวกาศได้แวะเติมก่อนออกเดินทางไกลไปดาวอังคาร หรือในช่วงขากลับจากดาวอังคาร ก่อนจะเดินทางถึงโลก

นอกจากจีนแล้ว อินเดียก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ประสบความสำเร็จในการส่งยานอวกาศไปเยือนดวงจันทร์ ดาวอังคาร และดาวเคราะห์น้อย ทั้งๆ ที่เป็นประเทศ “ด้อยพัฒนา” แต่อินเดียก็มีโครงการอวกาศที่หลากหลายรูปแบบและเป็นที่น่าสนใจ โครงการอวกาศของอินเดียได้ถือกำเนิดในปี 1948 เมื่อ 72 ปีก่อน จากวิสัยทัศน์ของนักฟิสิกส์ชื่อ Vikram Sarabhai ทั้งๆ ที่ในปี 1974 อินเดียได้ประสบความสำเร็จในการทดลองระเบิดปรมาณูลูกแรกที่นักวิทยาศาสตร์อินเดียสร้างเอง และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ประกาศบอยคอตต์ไม่ให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรมและกิจการวิทยาศาสตร์ของอินเดียทุกรูปแบบ แต่เมื่อถึงวันนี้ อินเดียมีระบบเครือข่ายดาวเทียมสำรวจทางไกลที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดประเทศหนึ่งในโลก เพราะสังคมและชุมชนของอินเดียทั้งประเทศได้ประโยชน์ จนทำให้ชาวโลกหันมาสนใจว่า อินเดียกับจีนกำลังแข่งขันกันเป็นเจ้าอวกาศแห่งเอเชีย ใช่หรือไม่

ความจริงการแข่งขันกันในเรื่องอวกาศนี้ เกิดจากการที่ชาติต่างๆ ต้องการจะมีความสามารถในการพึ่งตนเองได้เป็นสำคัญ คือไม่ต้องซื้อผลิตภัณฑ์หรือต้องอาศัยคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญชาติอื่น มาสร้างความมั่นคงทางเอกราชและทางเศรษฐกิจให้อินเดีย รวมถึงต้องการจะมีรายได้จากการขายสินค้าเทคโนโลยีอวกาศด้วย แม้ ณ วันนี้ในสายตาคนทั่วไป อินเดียดูจะเป็นชาติที่ล้าหลังจีน แต่จีนก็ตระหนักดีว่า อินเดียเป็นคู่แข่งที่มีความเข้มแข็งทางวิชาการและเทคโนโลยีไม่แพ้จีน

อินเดียเป็นประเทศใหญ่ที่พลเมืองประมาณ 500 ล้านคนอยู่ในฐานะยากจน แต่มีเครือข่ายระบบดาวเทียมสื่อสารที่ดีมาก จึงทำให้การสาธารณสุขของอินเดียมีคุณภาพดี เพราะแพทย์สามารถรักษาคนไข้ โดยใช้ระบบตรวจและรักษาทางไกล (telemedicine) ได้ ด้านการสอนหนังสือทางไกลแก่นักเรียนในชนบทที่อยู่ห่างไกลก็สามารถทำได้ไม่มีปัญหา การมีดาวเทียมสำรวจสภาวะอากาศและทะเลตลอดเวลา เพื่อเตือนภัยพายุ cyclone และคลื่น tsunami ก็สามารถทำให้การจัดการเกษตรกรรมของอินเดียได้รับการพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ จนองค์การจัดการวิจัยอวกาศของอินเดีย (Indian Space Research Organization ISRO) อ้างว่า เงินทุกรูปีที่รัฐบาลอินเดียได้ลงทุนไป จะให้ผลตอบแทนที่มีมูลค่าสองรูปี แม้โครงการเครือข่ายดาวเทียมของอินเดียจะทำให้ชาวอินเดียทุกคนเห็นประโยชน์และคุณค่าของดาวเทียมได้อย่างชัดเจน แต่กรณีการส่งจรวดไปดวงจันทร์นั้น มิได้ทำให้บรรดาคนจนในอินเดียรู้สึกว่าได้รับผลประโยชน์แต่อย่างใด

ถึงกระนั้น องค์การ ISRO ก็ยังได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลทุกปี (ปี 2020 ได้หกแสนล้านบาท) และตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา อินเดียสามารถส่งจันทรยาน–1 (Chandrayan-1) ไปเยือนดวงจันทร์ได้ และได้ยิงจรวดขึ้นจากฐานยิงบนเกาะ Sriharikota ในอ่าว Bengal เพื่อนำดาวเทียมไปโคจรรอบดวงจันทร์ รวมถึงสำรวจผิวโดยใช้ระบบสำรวจทางไกล เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบของดินและหินบนดวงจันทร์ และได้ให้ดาวเทียมทำแผนที่ภูมิศาสตร์ของดวงจันทร์ด้วย ในปี 2019 อินเดียก็ได้ส่งยาน Chandrayan-2 ไปดวงจันทร์อีก แต่ยานได้พุ่งชนผิวดวงจันทร์ขณะร่อนลง เพราะอุปกรณ์บังคับยานทำงานบกพร่อง

ซึ่งความพยายามเหล่านี้ เป็นผลที่เกิดจากความคิดและวิสัยทัศน์ของ Vikram Ambalal Sarabhai คนที่ทำให้ชาวอินเดียทุกคนพากันยกย่องว่า เป็นบิดาของโครงการอวกาศของอินเดีย


Sarabhai ถือกำเนิดในครอบครัวที่มีฐานะดีแห่งเมือง Ahmedabad ในแคว้น Gujarat เมื่ออินเดียได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1947 Sarabhai มีอายุ 28 ปี และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีด้านฟิสิกส์ที่มหาวิทยาลัย Cambridge ในประเทศอังกฤษ จากนั้นได้กลับมาทำงานวิจัยเรื่อง รังสีคอสมิกกับ C. V. Raman (ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์โนเบลประจำปี 1930 จากการพบการกระเจิงแบบ Raman) ในเวลาต่อมา Sarabhai ได้ตัดสินใจว่า ประเทศอินเดียซึ่งเป็นบ้านเกิดที่เขารักมากจะต้องเป็นชาติหนึ่งที่โลกยอมรับว่ามีความสามารถด้านอวกาศด้วย จึงได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการ Physical Research Laboratory (PRL) ขึ้นที่บ้านเกิด โดยได้รับทุนสนับสนุนจากครอบครัวและเพื่อนๆ เพื่อทำงานวิจัยเรื่องอวกาศ นอกจากนี้ Sarabhai ก็ยังได้จัดตั้งสถาบันวิจัยการจัดการของอินเดียขึ้นที่เมือง Ahmedabad ด้วย การเป็นคนมีอุดมการณ์สูง ที่ทำงานอย่างทุ่มเท และเป็นคนที่มีวิสัยทัศน์ ได้ทำให้ Sarabhai มีชื่อเสียงมาจนทุกวันนี้

ในเบื้องต้น ห้องปฏิบัติการ PRL ของ Sarabhai ทำงานวิจัยด้านรังสีคอสมิกและศึกษาบรรยากาศของโลกเท่านั้น แต่เมื่อเทคโนโลยีด้านอื่นๆ ของโลกกำลังรุดหน้าไปตลอดเวลา Sarabhai ก็ได้พบว่า การใช้ดาวเทียมสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถทำให้วิถีชีวิตของชาวอินเดียทุกคนดีขึ้นได้

ในปี 1957 ที่รัสเซียส่งดาวเทียม Sputnik-1 ขึ้นโคจรรอบโลก และได้นำโลกเข้าสู่ยุคอวกาศ เหตุการณ์นี้ได้ทำให้เกิดการแข่งขันการเป็นเจ้าอวกาศระหว่างรัสเซียกับอเมริกา นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดียชื่อ Jawaharlal Nehru ซึ่งเป็นผู้ที่มีความศรัทธาและความเชื่อว่า วิทยาศาสตร์สามารถแก้ปัญหาและทำให้คุณภาพชีวิตของคนอินเดียดีขึ้นได้ จึงได้ขอให้ Homi Jehangir Bhabha ซึ่งเป็นนักฟิสิกส์นิวเคลียร์แห่งสถาบัน Institute of Fundamental Research และมีชื่อเสียงจากการศึกษาการกระเจิงระหว่าง electron กับ positron เป็นคนแรก (Bhabha scattering) มาช่วยวางนโยบายวิทยาศาสตร์ของอินเดีย เพราะ Bhabha รู้ดีว่า ถ้าไม่มีการวางแผนและการลงมือทำอย่างจริงจัง ช่องว่างของความเจริญระหว่างประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนาจะกว้างขึ้นตลอดเวลา และวิทยาศาสตร์เป็นวิธีเดียวเท่านั้นที่สามารถทำให้ช่องว่างของความแตกต่างนั้นอันตรธานได้

ดังนั้นเมื่อรัสเซียส่งมนุษย์อวกาศชื่อ Yuri Gagarin ขึ้นอวกาศได้เป็นคนแรกในปี 1961 อินเดียก็รู้ว่าประเทศถึงเวลาต้องดำเนินการโครงการอวกาศอย่างจริงจังแล้ว Sarabhai จึงเข้าทำงานภายใต้คำแนะนำของ Bhabha ที่ Indian National Committee for Space Research เพื่อสร้างจรวดและฐานยิงที่หมู่บ้าน Thumba ในแคว้น Kerala โดยมี A. P. J. Abdul Kalam ซึ่งเป็นวิศวกรอวกาศ (ต่อมา Kalam ได้เป็นประธานาธิบดีของอินเดีย) เป็นหัวหอกคนสำคัญ จรวดลำแรกของอินเดียได้ทะยานออกจากฐานยิงเมื่อปี 1963

จากนั้นโครงการอวกาศของอินเดียก็ได้เบนเป้าไปสู่การสร้างและการปล่อยดาวเทียม และรัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์วิจัย Space Science and Technology Centre ขึ้นที่เมือง Thiruvananthapuram ในแคว้น Kerala และได้ประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียมดวงแรกของอินเดียในปี 1980

ลุถึงปี 1999 อินเดียได้เริ่มคิดจะไปดวงจันทร์ หลังจากที่ได้ระดมความคิดของนักวิทยาศาสตร์อินเดียประมาณ 100 คน จนได้ผลสรุปว่า อินเดียจะต้องไปดวงจันทร์ให้จงได้ เพื่อขยายขอบเขตความรู้ของมนุษย์ และแสดงให้โลกรู้ว่า อินเดียมิได้เก่งแค่สร้างและปล่อยดาวเทียมได้เท่านั้น นอกจากนี้ผลประโยชน์ที่จะเกิดตามมาจากโครงการนี้ คือ นิสิตหนุ่ม-สาวอินเดียที่เก่งและรักชาติจะได้เข้ามามีบทบาทในโครงการอวกาศของอินเดียด้วย

โครงการอวกาศของอินเดีย ได้วางแผนจะส่งหุ่นยนต์ไปสำรวจดวงจันทร์ เพื่อค้นหา helium-3 ที่สามารถใช้เป็นเชื้อเพลิงในปฏิกิริยา fusion รวมถึงจะสร้างยานที่จะเดินทางไปดาวอังคาร ดาวเคราะห์น้อย และสำรวจดวงอาทิตย์ด้วย

เพราะโครงการอวกาศเป็นเรื่องที่ต้องลงทุนมาก ดังนั้นการจะทำทุกสิ่งทุกอย่างเอง จึงเป็นเรื่องสิ้นเปลืองสำหรับอินเดีย รัฐบาลจึงขอความร่วมมือจากนักวิทยาศาสตร์ต่างชาติ และนี่ก็มิได้เป็นปัญหาใดๆ เพราะนักวิทยาศาสตร์อินเดียได้พิสูจน์แล้วว่า มีผลงานและมีความสามารถที่พร้อมจะพิชิตอวกาศร่วมกับชาติอื่นได้

เมื่ออินเดียเริ่มโครงการอวกาศใหม่ๆ Sarabhai ต้องตอบคำถามบ่อยมากว่า ในประเทศที่กำลังพัฒนา โครงการอวกาศมีความจำเป็นเพียงใด ซึ่ง Sarabhai ก็ได้ตอบว่า ดาวเทียมของอินเดียมีบทบาทมากในการพัฒนาชาติ แต่สำหรับการไปดวงจันทร์นั้น อินเดียมุ่งหวังจะวิจัยร่วมกับชาติอื่น มิใช่จะแข่งขันไปว่าใครจะถึงก่อน

Sarabhai เสียชีวิตเมื่อปี 1971 ในวัย 52 ปี และคงรู้สึกยินดีมากที่ได้รู้ว่าโครงการอวกาศของอินเดียที่ตนได้วางแผนไว้ กำลังเดินรุดหน้าไปด้วยดี เพราะอินเดียมีแผนจะส่งยานไปลงบนดวงจันทร์ ในปี 2021 ที่บริเวณขั้วใต้ โดยลงจอดที่บริเวณระหว่างหลุมอุกกาบาต Manzinus C กับ Simpelius N เพราะนี่เป็นตำแหน่งที่ไม่มียานของชาติใดเคยสำรวจมาก่อน และเพื่อสำรวจหาน้ำแข็ง และปี 2022 อินเดียก็จะส่งยาน Aditya-L1 ไปศึกษาดวงอาทิตย์

เห็นชาติอื่นเขาแล้ว คงพอจะดูออกว่า เราควรทำและต้องทำอะไรบ้าง

อ่านเพิ่มเติมจาก India’s rise to the Moon, โดย Subhadra Menon ใน Nature ฉบับที่ 455 หน้า 874 ประจำวันที่ 16 ตุลาคม 2008

และ China’s Space Program : From Conception to Manned Spaceflight โดย Brain Harvey จัดพิมพ์โดย Springer-Verlag ปี 2004



สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น