เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ค.ศ. 2019 นักดาราศาสตร์ทั่วโลกได้เห็นดาวพุธเป็นจุดดำขนาดเล็กเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 48 กิโลเมตร/วินาที ตัดหน้าดวงอาทิตย์ ปรากฏการณ์สุริยุปราคาที่เกิดโดยดาวพุธครั้งนี้ ใช้เวลานาน 7.30 ชั่วโมง เหตุการณ์เดียวกันนี้ได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ค.ศ. 2016 และครั้งต่อไปจะเกิดในวันที่ 13 พฤศจิกายน ค.ศ. 2032 ดังนั้นโดยเฉลี่ยปรากฎการณ์นี้จะเกิด 13-14 ครั้งในหนึ่งศตวรรษ โดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคม หรือพฤศจิกายน
Pierre Gassendi ชาวฝรั่งเศส คือนักดาราศาสตร์คนแรกของโลกที่ได้ติดตามสังเกตปรากฏการณ์นี้ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน ปี 1613 (รัชสมัยพระเจ้าปราสาททอง) ด้าน Christiaan Huygens ชาวดัตช์ก็ได้เห็นเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม ค.ศ. 1661 Edmond Halley ผู้พบดาวหาง Halley และ James Cook นักสำรวจชาวอังกฤษผู้พบทวีปออสเตรเลียกับ William Herschel ผู้พบดาวเคราะห์ Neptune ก็เคยติดตามดูปรากฏการณ์นี้ เมื่อปี 1677, 1769 และ 1802 ตามลำดับ แต่ Nicolaus Copernicus นักดาราศาสตร์ชาวโปแลนด์เจ้าของความคิดที่ว่า ดวงอาทิตย์คือศูนย์กลางของระบบสุริยะ กลับไม่ได้เคยติดตามดูดาวพุธเลย
มนุษย์รู้จักดาวพุธมาตั้งแต่สมัยโบราณ ชาว Babylon ในดินแดน Mesopotamia มีเทพประจำดาวพุธ ชื่อ Nabu ผู้ทรงมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เพราะทรงรู้ชะตาชีวิตของคนทั้งโลก ด้านชาวโรมันได้กำหนดให้เทพประจำดาวพุธมีพระนามว่า Mercury ผู้ทรงคุ้มครองนักเดินทางในทุกหนแห่ง ด้วยการเหาะเหินเดินอากาศไปช่วย เพราะทรงสวมรองพระบาทที่มีปีก ชาวกรีกมีเทพ Hermes ประจำดาวพุธ ผู้ทรงเป็นทูตในการสื่อสารของบรรดาเทพทั้งในสวรรค์และยมโลก (คำ hermeneutics ที่แปลว่า ศาสตร์แห่งการตีความ มีรากศัพท์มาจากคำ Hermes)
ในปี 1882 Giovanni Virginio Schiaparelli ซึ่งเป็นผู้อำนวยการแห่งหอดูดาว Brera ในเมือง Milan ประเทศอิตาลี ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์ที่มีเลนส์เส้นผ่านศูนย์กลางยาว 20 เซนติเมตร สังเกตดาวพุธอย่างตั้งอกตั้งใจ และเพื่อให้มั่นใจว่า สายตาไม่ฝาด Schiaparelli ได้อดกาแฟและงดบุหรี่นานเป็นเดือน ก่อนจะจ้องดูดาวพุธ และได้พบว่า ผิวดาวพุธมีลักษณะคล้ายผิวดาวอังคาร คือมีเครือข่ายของเส้นต่างๆ เป็นทางยาวและตัดกันไปมาเหมือน “คลอง” ที่ใช้ในการคมนาคมของมนุษย์ต่างดาว
ในปี 1939 นักบวชโรมัน Giovanni Battista Zupi เป็นคนแรกที่ได้เห็นข้างขึ้นข้างแรมของดาวพุธ จากนั้น Johann Hieronymus Schroter นักดาราศาสตร์เยอรมันก็ได้พบว่า ณ บริเวณรอยต่อระหว่างผิวสว่างกับผิวมืดบนดาวพุธไม่คมชัด
ลุถึงปี 1965 Richard Dyce แห่งหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์วิทยุ Arecibo ในประเทศ Puerto Rico ได้ส่งคลื่นวิทยุจากโลกไปกระทบผิวดาวพุธ แล้ววิเคราะห์คลื่นที่สะท้อนกลับจนพบว่า ผิวดาวพุธในบริเวณเส้นศูนย์สูตรแห้งสนิท และบนดาวไม่มีบรรยากาศใดๆ อีกทั้งดาวหมุนรอบตัวเองโดยใช้เวลา 58.6 วัน มิใช่ 88 วัน ดังที่ George Howard Darwin (ซึ่งเป็นบุตรของ Charles Darwin) เคยอ้าง และเมื่อดาวพุธโคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยใช้เวลา 87.9 วัน อัตราส่วน 58.6/87.9 = 2/3 แสดงให้เห็นว่า เมื่อดาวพุธโคจรไปรอบดวงอาทิตย์ได้ครบ 2 รอบ มันหมุนรอบตัวเอง ได้เพียง 3 รอบเท่านั้นเอง
การสำรวจดาวพุธตลอดเวลา 50 ปี ที่ผ่านมาทำให้เรารู้ว่า
ดาวพุธโลก อยู่ห่างจากดาวอาทิตย์57.91 ล้านกิโลเมตร149.60 ล้านกิโลเมตร
รัศมี2,440 กิโลเมตร6,378 กิโลเมตร
มวล3.3 x 1023 กิโลเมตร6 x 1024 กิโลเมตร
ความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงที่ผิว3.7 เมตร/วินาที2 9.8 เมตร/วินาที2
หมุนรอบตัวเอง58.6 วัน1 วัน
โคจรรอบดวงอาทิตย์87.9 วัน365 วัน
ตารางข้างบนแสดงว่า ดาวพุธมีขนาดใหญ่กว่าดวงจันทร์ของโลก แต่เล็กกว่าดวงจันทร์ Ganymede ของดาวพฤหัสบดี รวมถึงเล็กกว่าดวงจันทร์ Titan ของดาวเสาร์ และดวงจันทร์ Triton ของดาวเนปจูนด้วย ดาวพุธมีมวล 15.6% ของโลกและโคจรรอบดวงอาทิตย์ด้วยความเร็ว 172,248 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพราะเป็นดาวที่อยู่ใกล้ดวงอาทิตย์มาก ดังนั้น คนบนโลกจะเห็นดาวพุธปรากฏอยู่ใกล้ขอบฟ้า ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นและตกประมาณ 1 ชั่วโมง โดยอยู่ในตำแหน่งที่เส้นตรง ซึ่งลากจากตาถึงดาวพุธกับดวงอาทิตย์ ทำมุมกันไม่เกิน 27 องศา การอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 40% ของระยะทางจากดวงอาทิตย์ถึงโลก ทำให้มนุษย์ที่สามารถไปดำรงชีพอยู่บนดาวพุธได้ เห็นดวงอาทิตย์มีขนาดใหญ่ประมาณ 3 เท่าของดวงอาทิตย์ที่เราเห็นจากโลก อีกทั้งให้ความสว่างมากประมาณ 11 เท่า ของที่ให้บนโลก อุณหภูมิที่ผิวด้านที่หันเข้าหาดวงอาทิตย์จะสูงถึง 427 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิด้านตรงข้ามก็เย็นจัดถึง -165 องศาสเซลเซียส แม้ผิวดาวพุธจะสามารถสะท้อนแสงอาทิตย์ได้ถึง 90% แต่การอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ยิ่งกว่าดาวเคราะห์อื่นๆ ก็มิได้ทำให้ดาวพุธมีอุณหภูมิสูงที่สุดในระบบสุริยะ เพราะอุณหภูมิที่ผิวดาวศุกร์ร้อนถึง 428 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการมีภาวะเรือนกระจกบนดาวศุกร์ และบรรยากาศบนดาวศุกร์มีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่หนาแน่นมาก
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ปี 1972 NASA ได้ส่งยาน Mariner 10 ไปสำรวจดาวพุธที่ระยะห่าง 700 กิโลเมตร โดยยานใช้เวลาถ่ายภาพนาน 3 วัน ภาพ 500 ภาพที่ถ่ายได้แสดงให้เห็นผิวดาวพุธประมาณ 40% มีหลุมอุกกาบาตเป็นจำนวนมากเหมือนผิวดวงจันทร์ โดยมีหลุมขนาดใหญ่ที่สุดชื่อ Caloris Basin ซึ่งมีเส้นผ่านศูนย์กลางยาว 1,300 กิโลเมตร จึงมีขนาดใหญ่ที่สุดในสุริยะจักรวาล และเพราะขอบของหลุมนี้สูงมาก ดังนั้นประมาณครึ่งหนึ่งของท้องหลุมจะตกอยู่ในความมืดตลอดเวลา
อีก 40 ปีต่อมา NASA ได้ส่งยานอวกาศ MESSENGER (จากคำเต็ม MErcury Surface Space Environment GEochemistry and Ranging) ไปโคจรรอบดาวพุธเป็นครั้งแรก ยานใช้เวลาในการโคจรครบรอบนาน 12 ชั่วโมง และใช้เวลา 6 เดือน ในการถ่ายภาพ ตัวยานหนัก 1,100 กิโลกรัม มีเชื้อเพลิงหนัก 600 กิโลกรัม และบรรทุกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ทำงานโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งได้แก่ 1) อุปกรณ์ magnetometer เพื่อทำหน้าที่สำรวจวัดความเข้ม และรูปทรงของสนามแม่เหล็กรอบดาวพุธ 2) อุปกรณ์ energetic particle and plasma spectrometers เพื่อทำหน้าที่วัดพลังงานของอนุภาคต่างๆ ในสนามแม่เหล็กของดาวพุธ 3) อุปกรณ์ x-ray, gamma-ray และ neutron spectrometers ทำหน้าที่วิเคราะห์ธาตุที่มีบนดาวพุธ 4) อุปกรณ์ laser altimeter ศึกษาสภาพภูมิประเทศของดาวพุธโดยใช้เลเซอร์ 5) กล้อง dual imaging system เพื่อถ่ายภาพประมาณ 75,000 ภาพ 6) อุปกรณ์ atmospheric and surface composition spectrometers ทำหน้าที่วิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของบรรยากาศและของผิว
หลังจากที่เดินทางจากโลกจนได้ระยะทางประมาณ 7,900 ล้านกิโลเมตร แล้วยานก็เดินทางถึงดาวพุธ โดยใช้เส้นทางที่อ้อมผ่านโลก 1 ครั้ง และผ่านดาวศุกร์ 2 ครั้ง แล้วยานก็เข้าสู่วงโคจรรอบดาวพุธเมื่อเดือนมีนาคม ค.ศ. 2011 (NASA ไม่ได้ยิงจรวดนำยาน MESSENGER ไปดาวพุธโดยตรง เพราะแรงโน้มถ่วงที่มากมหาศาลของดวงอาทิตย์จะดึงดูดยานให้พุ่งผ่านดาวพุธไปด้วยความเร็วที่สูงมาก จนอุปกรณ์วิทยาศาสตร์บนยานทำงานต่างๆ ไม่ทัน ยานจึงต้องปรับความเร็ว และทิศการโคจรให้พอเหมาะพอดี เพื่อจะได้เข้าวงโคจรรอบดาวพุธที่ระยะใกล้สุด 200 กิโลเมตร และไกลสุด 15,200 กิโลเมตร
MESSENGER ได้รายงานผลการสำรวจดาวพุธว่า หลุมอุกกาบาตต่างๆ ที่ผิวดาวพุธเกิดจากการระเหิดของสารประกอบที่มีบนดาว ดาวจึงมีสารประกอบที่ระเหิดกลายเป็นไอได้ง่าย นี่เป็นองค์ความรู้ที่ไม่มีใครเคยรู้มาก่อน รายงานยังแสดงอีกว่าที่ขั้วเหนือของดาวเป็นที่ราบกว้าง ซึ่งเกิดจากการถูกลาวาภูเขาไฟปกคลุม ข้อมูลนี้จึงแสดงให้เห็นว่า ในอดีตดาวพุธเคยมีการระเบิดของภูเขาไฟ
สำหรับข้อมูลสนามแม่เหล็กของดาวพุธก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์สนใจมาก เพราะทุกคนเคยคิดว่า ดาวพุธไม่น่าจะมีสนามแม่เหล็กในตัว จากการที่ดาวพุธได้ถือกำเนิดพร้อมโลกเมื่อประมาณ 4,500 ล้านปีก่อน และเป็นดาวที่มีขนาดเล็กกว่าโลก ดังนั้นเนื้อดาวน่าจะเย็นตัว จนกลายเป็นของแข็งหมดสิ้นแล้ว แต่ MESSENGER กลับพบว่าสนามแม่เหล็กบนดาวจะมีความเข้มประมาณ 1% ของสนามแม่เหล็กโลก นอกจากนี้สนามแม่เหล็กที่ปลายขั้วทั้งสอง ก็มีลักษณะไม่สมมาตร คือสนามที่ขั้วใต้มีความเข้มน้อยกว่าสนามที่ขั้วเหนือประมาณ 3 เท่า และจุดศูนย์กลางของสนามก็มิได้ซ้อนทับกับจุดศูนย์กลางของดาว แต่อยู่ห่างออกไป 480 กิโลเมตรทางทิศเหนือ นอกจากนี้แกนของ “แท่งแม่เหล็ก” บนดาวพุธ ก็ทำมุม 4.5 องศากับแกนหมุน (ในกรณีโลก แกนแท่งแม่เหล็กทำมุม 11 องศา กับแกนหมุน)
สำหรับเรื่ององค์ประกอบของดาวพุธนั้น MESSENGER ได้พบว่า ผิวดาวพุธมีเหล็กเพียง 2% ของธาตุทั้งหมด มี magnesium, potassium, chlorine และ sulfur ในปริมาณมาก แต่แทบไม่มีออกซิเจนเลย ผิวดาวพุธจึงมีธาตุที่มีองค์ประกอบคล้ายผิวดาวอังคาร นอกจากนี้การพบกำมะถันในสารประกอบเหล็กซัลไฟด์ แสดงให้เห็นว่าแก่นกลางของดาวพุธอาจเป็นเหล็กเหลวได้ นอกจากนี้ความเร่งเนื่องจากแรงโน้มถ่วงที่ผิวดาวก็มีค่าในระดับเดียวกับของดาวอังคาร
การค้นพบสุดท้ายที่สำคัญมาก คือการพบ “น้ำแข็ง” ที่บริเวณขั้วเหนือ และขั้วใต้ของดาวพุธ เพราะการส่งคลื่นวิทยุจากยานลงไปกระทบหลุมอุกกาบาตที่ดังกล่าว แล้ววิเคราะห์คลื่นสะท้อน ทำให้รู้ว่าที่ก้นหลุมมี “น้ำเข็ง” การที่เป็นเช่นนี้ เพราะขอบหลุมบางหลุมสูงชันมาก ดังนั้นแสงอาทิตย์จึงไม่เคยตกกระทบก้นหลุม มีผลทำให้ “น้ำแข็ง” ยังคงอยู่ ตั้งแต่ในอดีตที่ดาวพุธถูกดาวหางพุ่งชนตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
หลังจากที่ได้โคจรครบ 4,204 รอบ โดยใช้เวลา 4 ปี กับ 12 วัน แล้ว ยาน MESSENGER ก็ไม่มีเชื้อเพลิงเหลืออยู่ให้อุปกรณ์บนยานสามารถทำงานต่อไปได้ ดังนั้นในวันที่ 30 เมษายน ปี 2015 NASA จึงบังคับยานให้พุ่งชนดาวพุธด้วยความเร็ว 14,000 เมตรต่อวินาที โดยได้นำธงชาติอเมริกันที่ทำด้วยวัสดุไม่ลุกไหม้ลงไปด้วย เพื่อเป็นหลักฐานที่แสดงว่า ยานอวกาศจากอเมริกายานหนึ่งได้เดินทางมาสำรวจดาวพุธแล้ว
ในปี 1995 ที่มีการพบดาวเคราะห์ดวงแรกชื่อ 51 Pegasi b ซึ่งอยู่นอกระบบสุริยะนั้น ข่าวการค้นพบได้ทำให้การศึกษาธรรมชาติของดาวพุธเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน เพราะถ้านักวิทยาศาสตร์เข้าใจดาวพุธได้ทะลุปรุโปร่ง โอกาสที่จะเข้าใจธรรมชาติของดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ที่โคจรใกล้ดาวฤกษ์มากก็จะไม่มีปัญหาใดๆ
ดังนั้น ในวันที่ 19 ตุลาคม ปี 2017 องค์การอวกาศยุโรป (Europe Space Agency, ESA) และองค์การสำรวจอวกาศของญี่ปุ่น (Japan Aerospace Exploration Agency, JAEA) จึงได้ร่วมมือกันส่งยาน BepiColombo ไปเยือนดาวพุธ (BepiColombo เป็นชื่อของนักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาเลียน ชื่อ Giuseppe Colombo ผู้มีชื่อเล่นว่า Bepi และเป็นบุคคลแรกที่เสนอให้ NASA นำยานเข้าสู่วงโคจรรอบดาวพุธ โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงของทั้งดาวศุกร์และโลกช่วยด้วยการอ้อมผ่านหลายครั้ง) จรวดได้นำยาน BepiColombo ทะยานออกจากฐานยิงที่เมือง Kourou ในประเทศ Frencd Guiana เพื่อไปให้ถึงดาวพุธในปี 2025 ยานมูลค่า 505 หมื่นล้านบาทได้บรรทุกยานลูกพ่วงไปด้วย 2 ยาน คือ 1) ยาน Mercury Planetary Orbiter (MPO) ของ ESA ที่จะศึกษาปฏิกิริยาเคมี และปฏิกิริยานิวเคลียร์บนผิวดาว เพื่อจะได้รู้ประวัติความเป็นมาของดาวพุธ 2) ยาน Mercury Magnetospheric Orbiter (MMO) ของ JAEA ซึ่งจะทำหน้าที่วิเคราะห์สนามแม่เหล็กของดาวพุธและศึกษาลมสุริยะจากดวงอาทิตย์
ตามแผนที่กำหนด เมื่อยาน BepiColombo เดินทางใกล้จะถึงดาวพุธ ยาน MPO และ MMO จะแยกตัวออกจากยานแม่ แล้วพุ่งเข้าโคจรรอบดาวพุธเป็นวงรี โดยมีระยะใกล้สุดและไกลสุดเท่ากับ 480 และ 1,500 กิโลเมตรตามลำดับ ด้านยาน MMO ก็จะโคจรรอบดาวพุธเป็นวงรีเช่นกัน โดยมีระยะใกล้สุด 590 กิโลเมตรและไกลสุด 11,640 กิโลเมตร จากนั้นข้อมูลที่ได้จากยานทั้งสองก็จะถูกส่งไปที่ยาน BepiColombo เพื่อส่งกลับโลก โดยใช้เครื่องส่งที่ทำงานด้วยพลังงานแสงอาทิตย์
ตามปกติคนทั่วไปมักสนใจดาวพุธน้อยกว่าดาวอังคารและดาวศุกร์ แต่สำหรับนักฟิสิกส์แล้วดาวพุธเป็นดาวที่ทุกคนสนใจ เพราะเป็นดาวที่ทำให้ Albert Einstein มีชื่อเสียงมาก จากการสามารถอธิบายวิถีโคจรที่ผิดปกติของดาวพุธได้ว่า เป็นไปตามทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป และมิได้เป็นไปตามกฎแรงโน้มถ่วงของ Newton
นับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ Urbain Le Verier นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสได้สังเกตเห็นวงโคจรของดาวพุธรอบดวงอาทิตย์ว่ามิได้เป็นวงรีปิด แต่เปิดเล็กน้อย คือวงโคจรในแต่ละรอบมิได้ซ้ำรอยเดิม มีผลทำให้แกนหลักของวงโคจรเบนไปเป็นมุม 1 องศา ในทุก 625 ปี เพราะทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของ Newton มิสามารถอธิบายความผิดปกตินี้ได้ นักฟิสิกส์ในสมัยนั้นหลายคนจึงคิดว่า กฎแรงโน้มถ่วงของ Newton ผิด คือ ใช้ไม่ได้ นักดาราศาสตร์บางคนอ้างว่า เพราะดวงอาทิตย์มิได้เป็นทรงกลมที่สมบูรณ์แบบ คือ มีความป่องตรงบริเวณศูนย์สูตร บางคนคิดว่ามีดาวเคราะห์ชื่อ Vulcan โคจรอยู่ระหว่างดาวพุธกับดวงอาทิตย์ และอิทธิพลแรงโน้มถ่วงของ Vulcan ได้ทำให้วงโคจรของดาวพุธเป็นดังที่ทุกคนเห็น แต่ข้อสังเกตเหล่านี้มิได้รับการยืนยันโดยการวัดหรือเห็นใดๆ เลย
จนกระทั่งถึงปี 1915 Einstein จึงได้เสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ซึ่งได้อธิบายว่าแรงโน้มถ่วงระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวพุธ เกิดจากการบิดโค้งของอวกาศในบริเวณรอบดวงอาทิตย์ ทำให้บริเวณนั้นเป็นแอ่งลึก ดาวพุธจึงสามารถโคจรไปตามผนังของแอ่งเป็นวงรีรอบดวงอาทิตย์ได้
ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของ Einstein สามารถอธิบายวิถีโคจรของดาวพุธได้อย่างดีเยี่ยม และยังแสดงให้เห็นอีกด้วยว่า ในกรณีที่สนามแรงโน้มถ่วงมีความเข้มน้อย ทฤษฎีของ Einstein จะกลายรูปเป็นทฤษฎีของ Newton
ณ วันนี้ นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์หลายคนกำลังสนใจอิทธิพลของแรงโน้มถ่วง ทั้งจากดวงอาทิตย์ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวเนปจูน ดาวยูเรนัส โลก ดาวอังคาร และดาวศุกร์ ที่กระทำต่อดาวพุธ โดยใช้ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป จากเดิมที่ Einstein ได้เคยพิจารณาเฉพาะดวงอาทิตย์แต่เพียงดวงเดียว การคำนวณโดยใช้ supercomputer แสดงให้เห็นว่า แกนหลักของวงโคจรของดาวพุธจะเบี่ยงเพิ่มอีก 1 องศา ในทุก 2,000 ล้านปี ซึ่งมุมเบี่ยงเบนที่น้อยนิดนี้ ยาน BepiColombo จะพยายามวัดให้จงได้ ข้อมูลที่ได้จากการวัดจะยืนยันความถูกต้องสมบูรณ์แบบของทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป หรือล้มล้างทฤษฎีนี้เพื่อสร้างทฤษฎีใหม่ ก็ยังเป็นปริศนาที่ไม่มีใครมีคำตอบ
ด้าน Jacques Lasker ซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศส จาก Bureau des Longitude ที่ปารีสในประเทสฝรั่งเศสก็ได้ใช้ supercomputer คำนวณวิถีโคจรของดาวเคราะห์ทุกดวงในระบบสุริยะ โดยใช้ทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของ Newton และพบว่า ในอีก 5,000 ล้านปี วงโคจรของดาวพุธจะตัดกับวงโคจรของดาวศุกร์ เพราะดาวศุกร์มีมวลมากกว่าดาวพุธ ดังนั้นการโคจรใกล้กันมากจะทำให้ดาวพุธถูกแรงโน้มถ่วงของดาวศุกร์เหวี่ยงกระเด็นออกนอกระบบสุริยะ
สำหรับนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ก็มีทฤษฎีวิวัฒนาการของดวงอาทิตย์ ที่แสดงให้เห็นว่า ในอีก 5,400 ล้านปี เมื่อเชื้อเพลิงไฮโดรเจนในดวงอาทิตย์หมด ดวงอาทิตย์จะกลายสภาพเป็นดาวยักษ์แดงที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 1,000 เท่าของปัจจุบัน และเมื่อถึงเวลานั้นดาวพุธก็จะถูกดูดกลืนเข้าไปในดวงอาทิตย์
ดังนั้น ในอีก 5,000 ล้านปี ระบบสุริยะอาจไม่มีดาวพุธเป็นดาวบริวารอีกต่อไป
อ่านเพิ่มเติมจาก Exploring Mercury: the iron planet โดย Robert G. Strom และ Ann L. Sprague จัดพิมพ์โดย Springer ในปี 2003
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์