xs
xsm
sm
md
lg

อะตอมประดิษฐ์ : หนัก, พญา, กลวง

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน



เมื่อห้าศตวรรษก่อนคริสตกาล Leucippus ปราชญ์กรีกแห่งเมือง Abderian ซึ่งตั้งอยู่ทางเหนือของประเทศกรีซ ได้อธิบายเหตุผลที่สรรพสิ่งในธรรมชาติ มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นด้านรูปสมบัติหรือคุณสมบัติ ว่าเป็นเพราะทุกสิ่งทุกอย่างประกอบด้วยสิ่งที่เล็กที่สุด คือ อะตอม (atom) ซึ่งไม่สามารถจะแบ่งแยกได้ และอะตอมมีโครงสร้างที่แตกต่างกัน ตามเอกลักษณ์เฉพาะของสิ่งนั้นๆ

ข้อคิดที่สำคัญนี้มิได้รับความสนใจจากใครอย่างจริงจัง จนกระทั่งถึงคริสต์ศตวรรษที่ 17 เมื่อ Pierre Gassendi ชาวฝรั่งเศส และ John Dalton ชาวอังกฤษ ในศตวรรษที่ 18 ได้ใช้แนวคิดเรื่องอะตอมในการอธิบายธรรมชาติของปฏิกิริยาเคมี กฎของแก๊ส รวมถึงกฎทรงมวลในการทดลองทางเคมีด้วย แม้ข้อเสนอเรื่องอะตอมจะอธิบายเหตุการณ์ต่างๆ ได้ดี แต่เมื่อยังไม่มีใครเคยเห็นอะตอมเลย ดังนั้นการยอมรับว่าอะตอมมีตัวตน จึงยังไม่แพร่หลาย

จนกระทั่งถึงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อ Jean Perrin ได้ศึกษาการเคลื่อนที่แบบ Brown (Brownian motion) ของละอองเรณูที่ลอยอยู่บนผิวน้ำ และเห็นอนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้เคลื่อนที่แบบ สะเปะสะปะ คือมีทิศทางที่ไม่แน่นอน จากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง โดย Perrin ได้วัดระยะทางที่อนุภาคเคลื่อนที่ได้เป็นฟังก์ชันของเวลา และพบว่าไม่มีใครสามารถอธิบายผลการสังเกตเห็นของ Perrin ในครั้งนั้นได้ จนกระทั่ง Albert Einstein ได้อธิบายว่า การที่เป็นเช่นนั้นเพราะ ละอองเรณูถูกโมเลกุลของน้ำพุ่งชนตลอดเวลา โดยจะชนอย่างรุนแรงบ้าง และอย่างแผ่วเบาบ้าง ในหลายทิศทาง จนทำให้ละอองเรณูเคลื่อนที่แบบหลงทิศหลงทางตลอดเวลา เมื่อสูตรที่ Einstein นำเสนอให้ผลสอดคล้องกับผลการสังเกตของ Perrin ทุกประการ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา โลกวิทยาศาสตร์ก็เริ่มยอมรับว่า ธรรมชาติมีโมเลกุลและอะตอมจริง

กระนั้นความรู้เกี่ยวกับโครงสร้างของอะตอมก็ยังไม่ได้ก้าวเข้าสู่การเป็นความรู้หลักของวิทยาศาสตร์ จนกระทั่งปี 1911 เมื่อ Ernest Rutherford ได้พบนิวเคลียส (nucleus) จากการทดลองยิงอนุภาคแอลฟา ที่ได้จากการสลายตัวของธาตุเรเดียม ให้พุ่งผ่านแผ่นทองคำเปลว แล้วพบว่าอนุภาคแอลฟาส่วนมากทะลุผ่าน และมีเพียงส่วนน้อยที่กระดอนกลับ Rutherford จึงนำเสนอแบบจำลองของอะตอมว่า มีโครงสร้างเหมือนระบบสุริยะ คือมีนิวเคลียสที่มีประจุบวกอยู่ที่ศูนย์กลาง และมีอิเล็กตรอน ซึ่งมีประจุลบหลายอนุภาคโคจรไปรอบๆ

ลุถึงเดือนกรกฎาคม ค.ศ. 1913 Niels Bohr นักฟิสิกส์ชาวเดนมาร์ก ได้นำแบบจำลองอะตอมของ Rutherford ไปใช้ในการอธิบายที่มาของแสงที่อะตอมไฮโดรเจนเปล่งออกมา จากการได้พบว่าแสงเหล่านั้นมีความยาวคลื่น 656, 486, 434 และ 410 นาโนเมตร (1 นาโนเมตร = 10-9 เมตร) โดย Bohr ได้อธิบายว่า เกิดจากการที่พลังงานของอิเล็กตรอนมีค่าเป็นหน่วยๆ (คือเป็นควอนตัม) และการเปลี่ยนพลังงานของอิเล็กตรอนเวลามันเคลื่อนที่จากวงโคจรนอกเข้าสู่วงโคจรใน จะทำให้พลังงานส่วนเกินเปลี่ยนไปเป็นพลังงานแสง ซึ่งมีความยาวคลื่นต่างๆ กัน ดังที่นักทดลองเห็น และวัดความยาวคลื่นได้

แม้ Bohr จะใช้สมมติฐานหลายประเด็นที่ดูเลื่อนลอยและขัดแย้งกับความรู้ฟิสิกส์ในเวลานั้น แต่สูตรของ Bohr ก็สามารถอธิบายที่มาของเส้นสเปกตรัมไฮโดรเจน ซึ่งเป็นชุด Balmer ได้อย่างอัศจรรย์ Bohr ยังได้ทำนายอีกด้วยว่า นอกจากชุด Balmer แล้ว ก็ยังมีชุด Lyman และชุด Paschen ด้วย ในเวลาต่อมา Theodore Lyman และ Friedrich Paschen ก็ได้พบสเปกตรัมชุดที่มีความยาวคลื่นตรงตามที่ Bohr ได้คำนวณไว้ทุกประการ

ความยิ่งใหญ่ของความคิดเรื่องโครงสร้างอะตอมที่ Bohr นำเสนอ คือ Bohr เป็นคนแรกที่นำทฤษฎีควอนตัมมาใช้ในการอธิบายธรรมชาติของอะตอม

แบบจำลองอะตอมของ Bohr ได้ทำให้ทุกคน “เห็น” ภาพของอะตอม และมีความรู้เกี่ยวกับขนาดของอะตอมเป็นครั้งแรกว่า อะตอมไฮโดรเจน ซึ่งเป็นอะตอมที่เล็กที่สุด เวลาอยู่ในสถานะพื้นฐาน (ground state) จะมีรูปทรงเป็นทรงกลมที่มีรัศมียาว 0.5X10-10 เมตร และอะตอมมีขนาดใหญ่กว่านิวเคลียสประมาณ 100,000 เท่า ซึ่งหมายความว่า ถ้านิวเคลียสมีรัศมี 1 เมตร อิเล็กตรอนในอะตอมไฮโดรเจน จะอยู่ห่างออกไป 100,000 เมตร หรือ 100 กิโลเมตร ความยาว 0.5X10-10 เมตร นี้ มีชื่อเรียกว่า รัศมี Bohr (a0)

ทฤษฎี Bohr ยังทำนายอีกว่า ความเร็วของอิเล็กตรอนในวงโคจรวงแรก (คือในสถานะพื้นฐาน) มีค่าประมาณ Zc α (Z คือ จำนวนโปรตอนที่มีในนิวเคลียสของอะตอม ดังนั้นในกรณีไฮโดรเจนและยูเรเนียม Z จึงมีค่าเป็น 1 และ 92 ตามลำดับ ส่วน c คือ ความเร็วแสง และ α คือ ค่าคงตัวโครงสร้างละเอียด (fine-structure constant) ที่มีค่าโดยประมาณเท่ากับ 1/137

ดังนั้น ถ้าสูตรความเร็วนี้เป็นจริง Z ก็จะมีค่ามากกว่า 137 ไม่ได้ เพราะถ้าเกิน 137 ความเร็วของอิเล็กตรอนก็จะมีค่ามากกว่าความเร็วแสง และนั่นหมายความว่า ในแบบจำลองอะตอมของ Bohr อะตอมในธรรมชาติจะมีนิวเคลียสที่มีโปรตอนจำนวนมากกว่า 137 อนุภาคไม่ได้ ณ วันนี้ธาตุที่หนักที่สุด คือ oganesson ที่นิวเคลียสของธาตุนี้ มีโปรตอนเพียง 118 อนุภาคเท่านั้นเอง

แต่ปัจจุบันนักฟิสิกส์ได้ใช้แบบจำลองอะตอมของ Paul Dirac แทนแบบจำลองอะตอมของ Bohr แล้ว เพราะทฤษฎีของ Dirac ถูกต้องและสมบูรณ์กว่า โดย Paul Dirac ได้นำทฤษฎีควอนตัมของ Planck และทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษของ Einstein มาอธิบายสมบัติของอะตอมไฮโดรเจน ทั้งนี้เพราะอิเล็กตรอนมีความเร็วค่อนข้างสูง ดังนั้น กลศาสตร์ Newton ที่ Bohr ใช้ จึงต้องถูกแทนที่ด้วยกลศาสตร์ Einstein

ทฤษฎีนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่าทฤษฎี quantum electrodynamics (QED) โดยมีสมการ Dirac ที่ใช้อธิบายพฤติกรรมของอะตอมที่มีนิวเคลียส ซึ่งไม่มีขนาด คือเป็นจุด และทฤษฎีให้ผลคำนวณในทำนองเดียวกันว่า Z จะต้องมีค่าไม่เกิน 137 และ ถ้า Z มีค่าเกิน 137 พลังงานของอิเล็กตรอนในอะตอมก็จะมีค่าเป็นจำนวนเชิงซ้อน ซึ่งเป็นไปไม่ได้

เพื่อจะได้ก้าวข้ามความเป็นไปไม่ได้นี้ การสร้างแบบจำลองอะตอมที่ถูกต้องจึงต้องมีการพิจารณาขนาดของนิวเคลียสด้วย และเมื่อได้พิจารณาว่านิวเคลียสว่ามีขนาดแล้ว ผลคำนวณก็จะเปลี่ยนเป็นว่า นิวเคลียสของอะตอมที่ไหญ่ที่สุด จะมีโปรตอนได้มากถึง 173 อนุภาค และถ้า Z มีค่ามากกว่า 173 พลังงานของอิเล็กตรอนก็จะมีค่ามากกว่ามวลนิ่ง (rest mass) ของอิเล็กตรอน 2 เท่า ซึ่งจะทำให้เกิดอนุภาคอิเล็กตรอนและโพซิตรอน (positron) ที่จะทำลายกันและกัน และมีผลทำให้อะตอมนั้นสลายในทันที

ตามปกติธาตุที่พบในธรรมชาติ ถ้าเป็นธาตุที่หนักมาก มันจะเป็นธาตุกัมมันตรังสี ที่จะสลายตัวในเวลารวดเร็ว หรือเราอาจกล่าวอีกรูปแบบหนึ่งได้ว่า ธาตุมีครึ่งชีวิตสั้น ส่วนธาตุที่เสถียร (คือ ไม่สลายตัว) และหนักที่สุด คือ bismuth -209 (มีโปรตอน 83 อนุภาค และนิวตรอน 126 อนุภาค ในนิวเคลียส) อีกทั้งมีครึ่งชีวิตค่อนข้างนานคือ (1.9 ± 0.2) X1019 ปี ซึ่งนานกว่าอายุของเอกภพนับพันล้านเท่า นอกจากนี้ เวลาธาตุนี้สลายตัวจะให้อนุภาคแอลฟา ส่วนธาตุอีก 2 ธาตุ ที่ “เสถียร” เพราะมีครึ่งชีวิตนาน คือ thorium-232 กับ uranium -238 ซึ่งมีครึ่งชีวิต 1.4X1010 และ 4.5 พันล้านปี ตามลำดับ

แบบจำลองของนิวเคลียสชื่อ shell model ได้ทำนายว่า อะตอมยูเรเนียมที่หนักที่สุดจะมีโปรตอน 92 อนุภาค และมีจำนวนนิวตรอนได้ถึง 208 อนุภาค ดังนั้นอะตอมนี้จึงมี mass number (เลขมวล) เท่ากับ 300

เพราะธาตุธรรมชาติที่หนักที่สุด คือ uranium -238 และถ้ามีการเพิ่มจำนวนนิวตรอนและโปรตอนให้แก่นิวเคลียสนี้ เราก็จะได้ธาตุใหม่ที่มีมวลมากขึ้นเรื่อยๆ คือ เป็นธาตุที่ 93, 94, ... ทว่านิวเคลียสที่ได้จะไม่เสถียร เพราะโปรตอนที่มีมากในนิวเคลียสจะผลักกันทำให้โอกาสให้มันแตกแยกจากกันมีมากขึ้นๆ นั่นคือเสถียรภาพของนิวเคลียสจะลดลงๆ

ที่ห้องปฏิบัติการ GSI Helmholtz Centre for Heavy Ion Research ณ เมือง Darmstadt ในประเทศเยอรมนีนักฟิสิกส์ได้ยิงนิวเคลียสของธาตุ titanium -50 (ที่มีโปรตอน 22 อนุภาค และนิวตรอน 28 อนุภาค) ให้พุ่งชนยิงนิวเคลียนของ berkelium -249 และคาดว่าจากกระสุนจำนวน 5X1012 อนุภาค/วินาที จะมีธาตุที่ 119 เกิดขึ้นเพียง 1 หรือ 2 อะตอม

ณ วันนี้การยิงนิวเคลียสที่มีมวลมากเข้าหากัน ได้เป็นเทคนิคหลักที่นักฟิสิกส์ใช้ในการสร้างธาตุใหม่เพื่อขยายตารางธาตุ (periodic table) ให้ได้ธาตุที่มีมวลมากขึ้นตลอดเวลาร่วม 70 ปี ที่ผ่านมา จนได้ธาตุ 116 (livermorium) ซึ่งมีโปรตอน 116 อนุภาค ซึ่งนิวเคลียสของมันมีนิวตรอนได้ตั้งแต่ 174-177 อนุภาค แต่ตราบถึงทุกวันนี้โลกก็ยังไม่มีธาตุที่ 119 หรือ 120 และโอกาสที่จะได้ธาตุที่หนักกว่า ธาตุ 120 ขึ้นไปจะมีค่าน้อยลงๆ จนในที่สุดเมื่อจำนวนโปรตอนมีมากขึ้นๆ ในที่สุดโอกาสก็จะเป็นศูนย์ นั่นคือ การสร้างธาตุหนักจะเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป และเมื่อวันนั้นมาถึง นักฟิสิกส์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้ก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไป

ส่วนที่ Joint Institute for Nuclear Research ที่เมือง Dubna ในประเทศรัสเซีย ซึ่งได้ประสบความสำเร็จในการสร้างธาตุที่ 118 จากการยิง calcium -48 ให้พุ่งชน californium -98 ซึ่งเป็นธาตุกัมมันตรังสี และกำลังทดลองยิงอนุภาคชนิดอื่นๆ แต่ให้เฉียดเป้า แทนที่จะยิงตรงเป้า เพื่อเพิ่มโอกาสในการหลอมรวมนิวเคลียสต่างมวลให้มีมากขึ้น

การสร้างอะตอมหนัก จึงเป็นหัวข้อวิจัยที่น่าสนใจมากอีกเรื่องหนึ่งในอนาคต

นอกจากจะพยายามสร้างอะตอมหนัก (heavy atom) แล้ว การสร้างพญาอะตอม (giant atom) ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่สำคัญและน่าสนใจมากเช่นกัน

ในกรณีอะตอมปกติ อิเล็กตรอนจะโคจรอยู่ห่างจากนิวเคลียสที่ระยะทางประมาณ 10-10 เมตร แต่ในอะตอม Rydberg อิเล็กตรอนที่อยู่ในสถานะพื้นฐานของอะตอมนี้จะอยู่ห่างจากนิวเคลียสประมาณ 106 (ล้าน)เท่าๆ ของอะตอมปกติ ดังนั้นอะตอม Rydberg จึงมีขนาดเล็กกว่าจุดมหัพภาคเพียงเล็กน้อย และสามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่า

ชื่อของอะตอม Rydberg นี้ ตั้งตามชื่อของนักฟิสิกส์ชาวสวีเดนชื่อ Johannes Rydberg ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีความเชี่ยวชาญการวัดความยาวคลื่นของแสงที่อะตอมต่างๆ เปล่งออก การศึกษาธรรมชาติของอะตอม Rydberg ได้เกิดขึ้นหลังจากที่โลกมีเลเซอร์ และใช้เลเซอร์ในการกระตุ้นอิเล็กตรอนให้โคจรอยู่ห่างจากนิวเคลียสมาก จนอาจถึงวงโคจรที่มีเลขควอนตัมเท่ากับ 1,000 ซึ่งมีผลทำให้แรงดึงดูดระหว่างอิเล็กตรอนกับนิวเคลียสมีค่าน้อยมาก จนเวลาอิเล็กตรอนถูกรบกวนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่มีพลังงานน้อยนิด อิเล็กตรอนก็จะหลุดจากอะตอมในทันที ดังนั้นเพื่อให้อะตอม Rydberg มีเสถียรภาพและปราศจากการรบกวนใดๆ การสร้างอะตอมชนิดนี้ จึงต้องกระทำในสุญญากาศ และกักขังให้มันลอยอยู่โดยใช้สนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูง

อะตอม Rydberg มีประโยชน์ในการใช้ศึกษาธรรมชาติของอันตรกิริยาไฟฟ้าระหว่างอะตอม เพราะตามปกติเวลาอะตอมของแก๊สอยู่ห่างกันเป็นระยะทาง 10-6 เมตร (ไมโครเมตร) คือใหญ่ประมาณ 10,000 เท่าของอะตอมปกติ อันตรกิริยาระหว่างอะตอมเกือบจะไม่มีเลย แต่ในกรณีอะตอม Rydberg ที่อยู่ใกล้กันระดับไมโครเมตร อิเล็กตรอนทั้งสองที่อยู่ในวงโคจรนอกสุดจะผลักกัน ทำให้ระดับพลังงานของมันทั้งสองเปลี่ยน คืออะตอมทั้งสองจะไม่ได้อย่างอิสระต่อกันอีกต่อไป เพราะได้กลายเป็นโมเลกุล ที่มีอิเล็กตรอนร่วมกันและเคลื่อนที่ “ช้า” จนสามารถควบคุมความเร็วได้ เพื่อให้นักทดลองสามารถสร้าง logic gate แบบควอนตัมในคอมพิวเตอร์ควอนตัมได้

หรือในกรณีที่มีอะตอม Rydberg หลายอะตอมอยู่ด้วยกัน การศึกษาระบบนี้ ก็จะช่วยปูทางให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจธรรมชาติของของแข็ง เช่น ตัวนำยวดยิ่งอุณหภูมิสูงได้ เพราะเหล่าอิเล็กตรอนที่อยู่ไกลจากนิวเคลียส และอยู่ใกล้กันจะมีอันตรกิริยาต่อกันอย่างรุนแรง เหมือนใน superconductor แบบ high Tc

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า อะตอมในธรรมชาติมีโครงสร้างที่มีรูปแบบง่ายๆ เหมือนสุริยะจักรวาล คือมีนิวเคลียสอยู่ที่ศูนย์กลาง และมีอิเล็กตรอนจำนวนมากโคจรอยู่โดยรอบเป็นวงๆ ซึ่งวงกลมเหล่านี้มีจุดศูนย์กลางร่วมกัน ในสภาพเช่นนี้ อิเล็กตรอนที่อยู่วงนอกสุดจะถูกกำจัดออกจากอะตอมได้ง่ายกว่า อิเล็กตรอนที่อยู่วงใน

ดังนั้นถ้ามีการใช้รังสีเอ็กซ์ที่มีพลังงานสูง และโฟกัสรังสีให้พุ่งตรงไปที่อิเล็กตรอนที่โคจรอยู่วงในๆ อิเล็กตรอนก็จะไม่สามารถต้านรังสีเอ็กซ์ได้ และจะกระเด็นหลุดจากอะตอมในทันที

ที่ห้องปฏิบัติการ Stanford Linear Accelerator ณ Menlo Park ใน California ได้มีการใช้แสงเลเซอร์ที่มีความยาวคลื่นระดับรังสีเอ็กซ์ (สั้นมาก) จึงมีพลังงานสูงมาก โดยแสงนี้จะถูกปล่อยออกมาเป็นห้วงๆ (pulse) ซึ่งมีความยาวห้วงละ 0.03 มิลลิเมตร และภายในแสงแต่ละห้วงมีอนุภาคแสง 100,000 อนุภาค จากนั้นนักทดลองได้โฟกัสแสงให้พุ่งผ่านพื้นที่ 10-14 ตารางมิลลิเมตร ไปที่อะตอมนีออน-10 (neon) ทำให้อิเล็กตรอน 2 อนุภาคที่อยู่วงในสุดกระเด็นออก ส่วน 8 อิเล็กตรอน ที่อยู่วงนอก ยังคงอยู่ ซึ่งจะทะยอยกระโจนลงมาอยู่วงใน และจะถูกอนุภาคแสงเลเซอร์พุ่งชนจนกระเด็นไปอีก

การปรับพลังงานแสงเลเซอร์ให้เหมาะสม จะทำให้นักทดลองสามารถกำหนดได้ว่า จะให้อิเล็กตรอนในวงใดกระเด็นออก และเมื่ออิเล็กตรอนที่อยู่วงใน ถูกกำจัดออกจนหมดแล้ว อะตอมนั้นก็มีลักษณะ “กลวง” คือ ไร้อิเล็กตรอนใดๆ จากนั้นให้อะตอมกลวงที่ได้นี้ ลอยไปปะทะผิวโลหะ เพราะอะตอมได้สูญเสียอเล็กตรอนไปหมดแล้ว ดังนั้น อะตอมกลวงจึงมีประจุลัพธ์เป็นบวก คือ เป็น ion บวก และเวลาอะตอมกลวง ลอยเข้าใกล้ผิวโลหะ จนอยู่ห่างที่ระยะทาง 10-10 เมตร มันจะดึงดูดอิเล็กตรอนจากโลหะขึ้นไปอยู่ในวงโคจรนอก ซึ่งจะตกลงสู่วงโคจรในในเวลาต่อมา และจะปล่อยแสงออกมา

การยิงอิเล็กตรอนไปและปล่อยแสงออกมาจึงเป็นการช่วยทำความสะอาดผิว ณ ตำแหน่งที่ อะตอมกลวงมาสัมผัส เพราะที่ผิวของโลหะนั้น จะมีการทำความสะอาด (กระบวนการเดียวกันนี้ ได้เกิดขึ้นบนดาวพุธ เวลาไอออนบวกจากลมสุริยะ พุ่งปะทะผิวดาว แล้วปล่อยแสงออกมา) หรือเวลาตัวไอออนบวกปะทะผิวแผ่นคาร์บอน การชะล้างที่ผิวก็จะทำให้เกิดรูใหญ่ที่มีรัศมีระดับนาโนเมตร ให้นักทดลองสามารถปรับขนาดของรูได้ โดยการปรับพลังงานของไอออน และใช้รูกลมนั้น ในการกลั่นกรองโมเลกุลขนาดเล็ก ดังนั้นรูนาโนจะมีประโยชน์ในการให้ DNA เคลื่อนที่ผ่าน เวลาต้องการจะอ่านรหัสพันธุกรรม


อ่านเพิ่มเติมจาก The limits of nuclear mass and charge โดย W Nazarewicz ในนิตยสาร Nature Physios Vol.14, June 4, 2018


สุทัศน์ ยกส้าน

ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย

อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์
กำลังโหลดความคิดเห็น