xs
xsm
sm
md
lg

เมินเสียงค้าน! รบ.ญี่ปุ่นเตรียมปล่อย ‘น้ำปนเปื้อนรังสี’ ฟุกุชิมะทิ้งลงทะเล

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจที่จะปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะลงสู่มหาสมุทร โดยคาดว่าจะมีประกาศอย่างเป็นทางการภายในเดือนนี้

หลังจากที่โรงไฟฟ้า ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ได้รับความเสียหายรุนแรงจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิเมื่อปี 2011 บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ โค (เทปโก) ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงไฟฟ้าก็ได้นำน้ำที่ใช้หล่อเย็นเพื่อป้องกันการหลอมละลายของแท่งเชื้อเพลิงมาเก็บกักไว้ในแทงก์ จนเวลานี้มีน้ำสะสมอยู่มากกว่า 1 ล้านตันแล้ว

ฮิโรชิ คาจิยามะ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ระบุว่า แม้ขณะนี้จะยังไม่มีการตัดสินใจ แต่รัฐบาลก็จำเป็นที่จะต้องทำในเร็ววัน

“การปิดโรงไฟฟ้า ฟุกุชิมะ ไดอิจิ คือขั้นตอนสำคัญของการฟื้นฟูจังหวัดฟุกุชิมะจากภัยพิบัตินิวเคลียร์ และเพื่อไม่ให้กระบวนการดังกล่าวล่าช้าออกไปอีก เราจำเป็นต้องตัดสินใจโดยเร็ว” คาจิยามะ ให้สัมภาษณ์ โดยไม่ได้ลงรายละเอียดหรือกำหนดกรอบเวลา

น้ำปนเปื้อนรังสีซึ่งเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการทำความสะอาดที่คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกนับสิบๆ ปี ในขณะที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกซึ่งกรุงโตเกียวเป็นเจ้าภาพในปีหน้าจะต้องใช้สนามแข่งขันบางจุดที่อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าไม่ถึง 60 กิโลเมตร

ทั้งนี้ แผนของรัฐบาลญี่ปุ่นคาดว่าจะเผชิญกระแสต่อต้านจากชาวประมงท้องถิ่น รวมถึงเสียงประท้วงจากประเทศเพื่อนบ้าน 

สัปดาห์ที่แล้ว ผู้แทนจากอุตสาหกรรมปลาในญี่ปุ่นออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลระงับแผนปล่อยน้ำปนเปื้อนรังสีฟุกุชิมะลงสู่ทะเล โดยชี้ว่าจะทำให้ความพยายามกอบกู้ชื่อเสียงและความเชื่อมั่นในความปลอดภัยของอาหารทะเลจากฟุกุชิมะตลอดหลายปีที่ผ่านมาต้องสูญเปล่า

เกาหลีใต้ยังคงแบนการนำเข้าอาหารทะเลจากฟุกุชิมะมาจนถึงทุกวันนี้ และเมื่อปีที่แล้วก็ได้เรียกเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสถานทูตญี่ปุ่นเข้าไปคุย เพื่อสอบถามว่าจะจัดการกับน้ำปนเปื้อนรังสีอย่างไร

เมื่อต้นปีนี้ คณะผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นได้เสนอให้มีการระบายน้ำบางส่วนลงสู่มหาสมุทร หรือทำให้ระเหยเป็นไอ ทว่าตัวเลือกทั้ง 2 อย่างล้วนถูกประชาชนต่อต้านอย่างหนัก

น้ำปนเปื้อนรังสีในโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะมีที่มาจากหลายแหล่ง นอกจากน้ำที่ใช้หล่อเย็นเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แล้วก็ยังมีน้ำใต้ดินและน้ำฝนที่ซึมเข้าไปในโรงงานทุกๆ วัน ซึ่งน้ำทั้งหมดนี้จะต้องผ่านกระบวนการกรองอย่างพิถีพิถัน

ระบบกรองสามารถกำจัดไอโซโทปกัมมันตรังสีออกไปได้เกือบหมด ยกเว้นทริเทียม (Tritium) ซึ่งเป็นสารกัมมันตรังสีที่มีครึ่งชีวิตยาวนาน






กำลังโหลดความคิดเห็น