xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ 3 รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาความเป็นครู ประจำปี 2562

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



มหาวิทยาลัยมหิดลมีประวัติยาวนานถึง 132 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งโรงพยาบาลศิริราชพยาบาล สำหรับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเกียรติและเป็นขวัญกำลังใจแก่บุคลากรที่มีความวิริยะอุตสาหะและปฏิบัติงานอย่างมีประสิทธิภาพจนมีผลงานดีเด่นในสาขาต่างๆ ซึ่งผู้ได้รับการคัดเลือกเข้ารับพระราชทานรางวัลจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2563 ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร

ภาพ - ศ.ดร.เจตสุมน สัตตบงกช ประจำศรี (ซ้าย) รศ.ดร.นสพ.พงศ์ราม รามสูต (กลาง)  ผศ.ดร.นพ.ทพ.บวร คลองน้อย (ขวา)
สำหรับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปี 2562 มีผู้ได้รับรางวัลดีเด่นสาขาต่างๆ จำนวน 6 ท่าน ดังนี้

รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการวิจัย ได้แก่ ศาสตราจารย์วิจัย ดร.เจตสุมน สัตตบงกช ประจำศรี ศูนย์การวิจัยมาลาเรีย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานวิจัย เรื่อง “การศึกษาเชื้อมาลาเรียชนิดไวแวกซ์ระยะติดต่อในตับ เพื่อการพัฒนายาและวัคซีน”

รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการประดิษฐ์และนวัตกรรม ได้แก่ รองศาสตราจารย์ ดร. นายสัตวแพทย์พงศ์ราม รามสูต หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยแอนติบอดี และหัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์สังคมและสิ่งแวดล้อม คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงาน เรื่อง “ยาชีวภาพแอนติบอดีมนุษย์สำหรับรักษาโรคไข้เลือดออก”

รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาการบริการ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ ทันตแพทย์บวร คลองน้อย ภาควิชาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จากผลงานการบริการ “การจัดการและการดูแลรักษาผู้ป่วยเนื้องอกและมะเร็งช่องปาก”

รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาความเป็นครู มีผู้ได้รับรางวัล จำนวน 3 ราย ได้แก่ อาจารย์ นายแพทย์เอกรินทร์ ภูมิพิเชฐ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รองศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ดร วัฒนกุลพานิชย์ ภาควิชาปรสิตหนอนพยาธิ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน และ อาจารย์ นายแพทย์ชนินทร์ ล่ำซำ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

ชมวิดิโคลิป “ศ.นพ.บรรจง มไหสวริยะ” อธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึง รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล ประจำปีการศึกษา 2562 ที่นี่ https://youtu.be/qeDtoCY9G8E

สำหรับ 3 รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาความเป็นครู ประจำปี 2562

รางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาความเป็นครู ประจำปี 2562 คนแรก “อาจารย์ นายแพทย์เอกรินทร์ ภูมิพิเชฐ” ผู้ริเริ่มการจัดการเรียนการสอวิชาเวชบำบัดวิกฤต ระดับแพทยศาสตรบัณฑิตแห่งแรกของประเทศไทยในแผนกฉุกเฉิน ทั้งสาขาอายุรกรรมและศัลยกรรม


อ.นพ.เอกรินทร์ ภูมิพิเชฐ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์แพทย์ผู้พัฒนาการสอนในรูปแบบการเชื่อมโยง ทั้งระดับชั้นปรีคลินิกและคลินิก ในรายวิชาการประยุกต์ความรู้ปรีคลินิก รายวิชาเวชบำบัดวิกฤต และรายวิชาต่างๆ ทางการแพทย์ เพื่อให้บัณฑิตมีความเข้าใจ สามารถเชื่อมโยงและประยุกต์องค์ความรู้รอบด้านเพื่อใช้ในการปฏิบัติงานด้านเวชบำบัดวิกฤตประคับประคองให้ผู้ป่วยพ้นจากวิกฤตได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้สอนวิชากฎหมายทางการแพทย์ให้กับนักศึกษาแพทย์ชั้นปรีคลินิก

มีหน้าที่ความรับผิดชอบหลัก คือ งานรักษาที่เป็นการดูแลผู้ป่วยวิกฤตที่ ICU ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีอาการหนัก เพื่อให้การรักษาหลักในผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะวิกฤตได้ผลที่ดีซึ่งเป็นงานที่หนักและท้าทาย เพราะแนวทางการรักษาในผู้ป่วยแต่ละรายไม่สามารถใช้รูปแบบการรักษาอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นตัวชี้นำการรักษาอย่างชัดเจน ต้องเกิดจากการ Design Thinking ตลอดเวลา เพื่อผู้ป่วยจะได้รับการรักษาที่ดีที่สุด

อีกส่วนหนึ่ง คือ งานสอนในระดับก่อนปริญญาและงานสอนหลังปริญญา โดยในแต่ละชั้นปีจะมีรูปแบบการสอนแตกต่างกัน ซึ่งในชั้นปี ๖ ที่ได้ร่วมกับอาจารย์ในสาขาร่วมออกแบบหลักสูตรเพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้ดูแลผู้ป่วยแผนกฉุกเฉินที่ได้ผ่านทั้งสาขาอายุรกรรมและศัลกรรมถือเป็นที่แรกในประเทศไทย ทำให้นักศึกษาแพทย์ได้เรียนรู้การดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤตในสถานการณ์จริง สำหรับในชั้นปีที่ ๒-๕ ก็มีการออกแบบการสอนที่ต่างกันออกไปเพื่อให้เชื่อมโยงกับเนื้อหาของรายวิชา อาทิ Ward Class ที่มีการนำเคสกระตุ้นให้นักศึกษาได้คิดวิเคราะห์เชื่อมโยงแบบองค์รวม การอภิปรายอย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้สอนวิชากฎหมายทางการแพทย์ให้กับนักศึกษาแพทย์ชั้นปรีคลินิก ซึ่งเป็นการสอนกฎหมายทางการแพทย์โดยทั่วไปให้น่าสนใจและนำไปใช้ได้จริง มีการยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้เรียนมองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้น สำหรับแพทย์ประจำบ้านและแพทย์ประจำบ้านต่อยอด การบรรยาย และร่วมดูแลผู้ป่วยในหอผู้ป่วย ซึ่งในส่วนนี้จะเชื่อมโยงความรู้ทุกระดับ (From Basics to Best site) ทั้ง Horizontal integration และ Vertical Integration พร้อมสอดแทรกการศึกษาแบบวิจัย เพื่อให้หมอที่จบไปมีคุณภาพและรับใช้สังคมได้ดี

ในช่วงสถานการณ์ COVID ERA ทำให้ต้องปรับการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ในบางรายวิชาและด้วยเนื้อหาที่ยาก จึงถือเป็นเรื่องใหม่ที่ผู้สอนต้องเรียนรู้และออกแบบการสอนให้มี Interactive สร้างความน่าสนใจ และต้องหาช่วงที่จะให้คำปรึกษากับผู้เรียน ลดความเครียดในรายวิชา ซึ่งเป็นความท้าทายและผลตอบรับจากนักศึกษาเป็นที่น่าพอใจมาก

อ.นพ.เอกรินทร์ กล่าวว่า “ตลอดการทำงานที่ผ่านมา ผมอยากทำให้คนไทยโดยรวมมีสุขภาพดี ดังนั้น บัณฑิตที่ผลิตออกไปจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชต้องดี มีคุณภาพ แม้ว่านักศึกษาแต่ละรายอาจจะมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน ผู้สอนคือคนสำคัญที่จะต้องปรับเพื่อให้เหมาะกับนักศึกษาแต่ละราย แม้ว่าเป้าหมายของนักศึกษาแต่ละคนจะแตกต่างกัน แต่อย่างน้อยตลอดการเรียนได้เรียนอย่างมีความสุขและอิ่มเอมใจที่ได้เป็นครูและศิษย์กันมา”

“ประโยคหนึ่งที่บอกลูกศิษย์เสมอคือ “ถ้าจะทำดีได้ไม่มาก ก็ขอให้คนไข้ไม่โชคร้ายมาเจอเรา” เพราะงานที่ทำมีความเครียดและความกดดัน คนไข้เองอาจจะไม่ได้พูดอะไรมาก แต่คนที่มีความหวัง คือ ญาติ เราต้องทบทวนการทำงานและความผิดพลาด ซึ่งหากติดตามความก้าวหน้าอย่างดีพอ จะทำให้เราทำและรับผิดชอบงานได้ดีที่สุด ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไรก็จะทำให้ไม่เครียดไม่กดดัน ผมเชื่อเสมอว่าความสำคัญของชีวิตไม่ใช่ความสำเร็จ แต่เป็นความสุขที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนให้เราทำในสิ่งที่รับผิดชอบได้ดี”

“ทุกวันนี้โลกเปลี่ยนไปการพัฒนาศักยภาพของตนเองเป็นเรื่องสำคัญ เราต้องพัฒนาและเรียนรู้สิ่งต่างๆ ให้สอดคล้องกับงานที่เราจะทำและพร้อมปรับตัวเองตลอดเวลา การที่มีความรู้รอบด้านจะส่งเสริมให้เรามีคุณค่า (Value) สำหรับอาจารย์ใหม่ แม้ว่าต้องเผชิญกับภาระงานที่อาจจะไม่ถนัดครบทุกด้าน แต่หน้าที่ของอาจารย์ต้องพร้อมที่จะเป็นที่ปรึกษาให้กับนักศึกษา การที่นักศึกษามาหาเพราะต้องการมาหาที่พึ่ง อาจารย์ต้องปรับให้เข้ากับนักศึกษา “เด็กอาจจะไม่ชอบคณะ ไม่ชอบเรา แต่อย่าทำให้เขาเกลียดวิชา” เคยมีคำพูดที่ว่า “นักศึกษาเป็นอนาคตของประเทศ” ดังนั้น อาจารย์ก็เป็นคนที่มองอนาคตของประเทศเช่นกัน”


๐ คนที่สอง “รองศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ดร วัฒนกุลพานิชย์” อาจารย์แพทย์ผู้คิดค้นแนวทางการสอนแนวใหม่ “Challenge quiz test” รับรางวัลมหาวิทยาลัยมหิดล สาขาความเป็นครู ประจำปี 2562

รศ.ดร.นพ.ดร วัฒนกุลพานิชย์ ภาควิชาปรสิตหนอนพยาธิ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล อาจารย์แพทย์ผู้คิดค้นแนวทางการสอนแนวใหม่ที่ชื่อว่า “Challenge quiz test” ช่วยให้นักศึกษามีส่วนร่วม มีความกระตือรือร้นในการเรียน อีกทั้งยังสามารถพัฒนานักศึกษาในด้านต่างๆ อีกด้วย

รศ.ดร.นพ.ดร เป็นอาจารย์แพทย์มากว่า 20 ปี นักศึกษาในแต่ละยุคมีความแตกต่างกันออกไป ปัจจุบันอาจารย์ได้คิดค้นแนวทางการสอนแนวใหม่ ในการสอนกลุ่มนักศึกษาแพทย์มา 6 ปีแล้ว เรียกว่า “Challenge quiz test” โดยไม่ใช่การสอนจากอาจารย์ไปยังนักศึกษาอยู่ฝ่ายเดียว แต่เป็นการสอนแบบ two ways participation เป็นการให้นักศึกษาคิดตาม พูดคุย ถกกันในประเด็นที่สงสัย ทำให้นักศึกษามีความกล้าในการแสดงความเห็นทางด้านวิชาการกับอาจารย์มากยิ่งขึ้น ช่วยแก้ปัญหานักศึกษาหลับในชั่วโมงเรียน เพราะนักศึกษาทุกคนจะมีโอกาสตอบคำถาม เนื่องจากเป็นการแข่งขันระหว่างกลุ่ม

การสอนวิธีนี้จะช่วยพัฒนานักศึกษาในหลายๆ ด้าน คือด้านความรับผิดชอบ มีเอกสารแจกให้นักศึกษาก่อนการเรียนการสอนประมาณ 1 สัปดาห์ นักศึกษาจะต้องอ่านทำความเข้าใจมาล่วงหน้า จึงจะสามารถตอบคำถามได้ ซึ่งคำตอบจะผิดหรือถูกอย่างน้อยก็เป็นโอกาสที่จะทำคะแนนให้กลุ่มตัวเองได้ ดังนั้น เป็นหน้าที่ของนักศึกษาที่ต้องเตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อกลุ่มของตัวเอง ด้านการตรงต่อเวลา เนื่องจากเป็นการเรียนเป็นกลุ่ม นักศึกษาต้องเข้าชั้นเรียนอย่างพร้อมเพรียงกันก่อนเริ่มการเรียนการสอน เพราะอาจารย์จะให้นักศึกษาแต่ละคนมีหมายเลขประจำตัวเรียงลำดับไป เมื่อถึงเวลาตอบคำถาม หากขาดเลขใดของกลุ่มจะทำให้กลุ่มนั้นไม่มีตัวแทนที่จะตอบคำถาม ทำให้ขาดโอกาสในการได้คะแนน

ด้านความซื่อสัตย์ ไม่อนุญาตให้นักศึกษากดกริ่งจองตอบคำถามก่อน ถ้าหากยังตอบคำถามไม่ได้ เพราะถือเป็นการเอาเปรียบกลุ่มอื่นๆ นักศึกษาจะต้องกดกริ่งตอบคำถามเมื่อพร้อมที่จะตอบเท่านั้น ซึ่งนักศึกษาจะต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตัวเองและผู้อื่น ด้านการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นักศึกษาที่มีสิทธิ์ตอบคำถาม ถ้ายังไม่สามารถตอบคำถามได้เพื่อนร่วมทีมจะสามารถช่วยตอบคำถาม ซึ่งข้อนี้จะเป็นการสอนให้รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนร่วมทีม ไม่หวงความรู้ เพราะอาจารย์จะสอนเสมอว่า ยิ่งให้เรายิ่งเก่ง

ด้านความสามัคคี การเรียนในรูปแบบนี้ทำให้นักศึกษาเข้าใจว่า ในสถานการณ์ต่างๆ แม้แต่ในห้องเรียน มีปัจจัยต่างๆ เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง หากนักศึกษาร่วมมือกัน มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ก็จะทำให้งานนั้นประสบความสำเร็จได้ และที่สำคัญอาจารย์จะให้นักศึกษามีการฝึกภาคสนาม หรือการได้เห็นเคสผู้ป่วยในโรงพยาบาล เพื่อให้นักศึกษาได้นำความรู้ทางทฤษฎีในชั้นเรียนมาใช้ในสถานการณ์จริงได้

เนื่องจากทำหน้าที่เป็นทั้งอาจารย์สอนในชั้นเรียน และแพทย์ให้การรักษาในโรงพยาบาล ซึ่งถนัดในการส่งเสริมและป้องกันปัญหาด้านสุขภาพจิต ยังได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นอาจารย์พี่เลี้ยงประจำกลุ่ม ให้การดูแลให้คำปรึกษาแก่นักศึกษาทั้งด้านวิชาการ การดำเนินชีวิต และการสร้างแรงบันดาลใจ

รศ.ดร.นพ.ดร กล่าวว่า “เราจะรับฟังปัญหาของเขา โดยเฉพาะนักศึกษาต่างชาติที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับระบบสังคม วัฒนธรรมชองไทย หากพบปัญหาของนักศึกษา อาจารย์ก็จะให้คำแนะนำและช่วยหาทางแก้ไข ซึ่งจะสามารถลดความเครียดที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการเรียนของเขาได้”


๐ คนที่สาม “อาจารย์ นายแพทย์ชนินทร์ ล่ำซำ” อาจารย์ประจำ ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และภายภาพบำบัด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากจะเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคทางด้านกระดูกและข้อ ยังมีความโดดเด่นทางด้านเวชศาสตร์การกีฬา จนเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศมากมาย และยังมีคุณลักษณะของความเป็นอาจารย์ที่น่านับถือ จนได้รับการยอมรับเป็นอย่างมาก เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูกศิษย์ของท่าน

อ.นพ.ชนินทร์ กล่าววว่า ตลอดระยะเวลาที่เริ่มรับราชการที่มหาวิทยาลัยมหิดล ก็ตั้งจิตมุ่งมั่นที่จะสืบสานพระราชปณิธานในรัชกาลที่ 9 มาโดยตลอด คือถือประโยชน์ส่วนตนเป็นที่สอง ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง จนมีโอกาสได้ทำประโยชน์อย่างเต็มที่เต็มความสามารถอีกครั้งหนึ่งในฐานะคณบดีวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา ซึ่งตนเองเป็นผู้ผลักดันการปรับปรุงหลักสูตรวิทยาศาสตร์การกีฬา ให้เป็น Outcome Based Education แม้จะยากเพราะถือเป็นเรื่องใหม่ของคนรุ่นเก่า ซึ่งต้องใช้ความพยายามในการสร้างความเข้าใจและกำลังใจแก่เพื่อนอาจารย์เป็นอย่างมากเพื่อให้ไปสู่เป้าหมายเดียวกัน โดยอาจารย์เริ่มทดลองด้วยตนเองในการจัดการเรียนสอนแบบใหม่ เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่นักศึกษาและสอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัย

การปรับเปลี่ยนการจัดการเรียนการสอนให้เป็น Outcome Based Education ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ทดลองทำ จึงอาสารับผิดชอบรายวิชาใหม่ คือ วิชากายวิภาคศาสตร์ประยุกต์ขั้นพื้นฐานและขั้นสูงเพื่อการออกกำลังกาย (Basic and advanced functional anatomy for exercise) ซึ่งเป็นวิชาพื้นฐานที่สำคัญมากของนักวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่จำเป็นต้องรู้จริงเกี่ยวกับการทำงานของอวัยวะโครงสร้างของร่างกายที่ใช้ในการออกกำลังกาย และการเล่นกีฬาเพื่อศักยภาพสูงสุดบนพื้นฐานความปลอดภัย โดยผนวกความรู้ทางเวชศาสตร์การกีฬา (Sports medicine), การเคลื่อนไหวร่างกาย (Body movement), การฝึกด้วยน้ำหนัก (Weight training), ระบบการทำงานของร่างกาย หรือ สรีรวิทยา และ ชีวกลศาสตร์ จึงทำให้วิธีการเรียนการสอนเป็นลักษณะฝึกปฏิบัติการจริง โดยทำตามครู พร้อมอธิบายวิธีการทำที่ถูกต้องพร้อมให้เหตุผลได้

ในฐานะผู้สอน จึงจำเป็นต้องสาธิตท่าทางที่ถูกต้องและสวยงามเพื่อสร้างความมั่นใจและแรงบันดาลใจให้แก่นักศึกษาตามหลักจิตวิทยา จึงเป็นทั้งโอกาสที่จะได้ปลูกฝังแนวคิด “รู้จริง ทำเองได้จริง” ผ่านวิธีการ “ทวนซ้ำ ย้ำทำ” เพื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์การกีฬาหรือผู้นำการออกกำลังกายที่สามารถถ่ายทอดและฝึกสอนผู้อื่นได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามข้อจำกัดของแต่ละบุคคล เพื่อป้องกันและลดโอกาสที่จะบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกาย

ด้วยความมุ่งหวังที่อยากเห็นบัณฑิตของวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา “เป็นสุภาพชน มีน้ำใจนักกีฬา คิดถึงผู้อื่นเป็นสำคัญ” ตามความหมายของคำว่า Sportsmanship มีความรู้จริง มีทักษะถูกต้อง ถ่ายทอดต่อได้ พร้อมปรับแก้ในกรณีมีปัญหา สมเป็นผู้รู้จริง และใฝ่การเรียนรู้ตลอดชีวิต