วันมหิดล เป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย”
วันนี้ (24 ก.ย.) วันมหิดล ตรงกับวันที่ 24 กันยายนของทุกปี อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระผู้ได้รับการถวายพระสมัญญาภิไธยจากแพทย์และประชาชนทั่วไปว่า พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย
คณะแพทยศาสตร์สิริราชพยาบาลได้ขนานนาม วันอันเป็นที่ระลึกสำคัญนี้ว่า “วันมหิดล” เพื่อเป็นการถวายสักการะ
ประวัติวันมหิดล
ในปี พ.ศ. 2493, 21 ปี หลังจากที่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ได้เสด็จสวรรคต คณะแพทยศาสตร์ได้ร่วมใจกันสร้างพระราชานุสาวรีย์ขึ้น ณ ใจกลางโรงพยาบาลศิริราช โดยมอบให้กรมศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการสร้าง มีศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี เป็นผู้ควบคุม เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายความกตัญญูกตเวทีและเฉลิมฉลองพระเกียรติคุณให้ไพศาลเป็นแบบฉบับให้อนุชนรุ่งหลังได้จำเริญตามรอยพระยุคลบาทสืบไป โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาเสด็จพระราชดำเนินในพิธีเปิดพระราชนุสาวรีย์เมื่อวันที 27 เมษายน 2493 และในวันที่ 24 กันยายนปีเดียวกันนี้เอง นักศึกษาแพทย์ได้ริเริ่มจัดงานขึ้นเป็นครั้งแรก เนื่องในวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ โดยมีพิธีวางพวงมาลา ถวายบังคมพระรูป อ่านคำสดุดีพระเกียรติ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ และทางคณะแพทย์ศาสตร์ พร้อมด้วยศิริราชพยาบาล ได้มีความเห็นพ้องต้องกันว่า ให้ยึดถือเอาวันที่ 24 กันยายนของทุกปี เป็นวันที่น้อมรำลึกถึงพระองค์ โดยให้ชื่อว่าวันมหิดล และงานวันมหิดลได้จัดขึ้นอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่ 24 กันยายน 2499 โดยจัดให้มีพิธีสงฆ์ ทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารเช้า และการนำพวงมาลาไปสักการะที่พระรูป
พระราชานุสาวรีย์นี้ได้รับการตกแต่งเพิ่มเติมครั้งแรกเมื่อปี 2517 และอีกครั้งในปี พ.ศ. 2525 ซึ่งเป็นการบูรณปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่โดยสร้างรากฐาน และบริเวณโดยรอบทั้งหมดเพื่อให้ถาวร สง่างาม และสมพระเกียรติยิ่งขึ้น ดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้
พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก
ทรงส่งบุคคลไปศึกษาวิชาต่างประเทศด้วยทุนส่วนพระองค์ พระราชทานทุนการศึกษาให้มหาวิทยาลัยเพื่อเก็บดอกผลส่งคนไปศึกษาต่างประเทศ เรียกว่า “ทุนวิทยาศาสตร์แห่งแพทย์”
พระราชทานทุนเพื่อค้นคว้า และการสอนในโรงพยาบาลศิราราชซึ่งนับว่าเป็นทุนแรกของทุน ประเภทนี้ในประเทศไทย ทรงเป็นผู้แทนของรัฐบาลทำการติดต่อมูลนิธิร็อกกี้เฟลเลอร์ให้ช่วยเหลือปรับปรุงการศึกษาแพทย์และพยาบาลให้ได้มาตรฐานสากล
พระราชทานทุนทรัพย์ส่วนพระองค์เพื่อขยายกิจการของโรงพยาบาลศิริราช อันรวมทั้งที่ดินและอาคารเพื่อใช้เป็นสถานที่เรียน หอผู้ป่วย และหอพักนักศึกษาแพทย์และพยาบาล ติดต่อกันเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี ทุนทรัพย์ส่วนพระองค์ที่พระราชทานเพื่อประโยชน์ของการแพทย์ด้วยประการต่างๆ รวมทั้งที่มอบไว้เป็นมรดกอีกจำนวนหนึ่งเพื่อใช้ในการให้ทุนแพทย์ไปศึกษาต่างประเทศทั้งสิ้น เป็นจำนวนเงินประมาณหนึ่งล้านสี่แสนบาท