xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์ประเมินไฟป่าออสเตรเลียทำสัตว์ตาย 3 พันล้านตัว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ฝูงปศุสัตว์เล็มหญ้าท่ามกลางหมอกควันจากไฟป่าที่เปลี่ยนสีท้องฟ้าเป็นสีแดง (AFP / Peter Parks)
นักวิทยาศาสตร์เผยผลการศึกษาพบไฟป่าออสเตรเลียทำสัตว์ตายเกือบ 3 พันล้านตัว นับเป็นหนึ่งในโศกนาฏกรรมของสัตว์ป่าที่เลวร้ายที่สุดเหตุการณ์หนึ่งในโลกยุคใหม่

เอเอฟพีรายงานว่านักวิทยาศาสตร์จากหลายมหาวิทยาลัยในออสเตรเลียได้ศึกษาผลกระทบจากไฟป่าที่มีต่อสัตว์ป่า และได้ข้อสรุปว่า ไฟป่าคร่าชีวิตสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 143 ล้านตัว สัตว์เลื้อยคลาน 2.46 พันล้านตัว นก 180 ล้านตัว และกบอีก 51 ล้านตัว

ทว่ารายงานไม่ได้ระบุว่า มีสัตว์ป่ามากเท่าไรที่เสียชีวิตจากไฟป่าโดยตรง แต่ คริส ดิคแมน (Chris Dickman) หนึ่งในผู้ร่วมศึกษาได้ให้ข้อมูลว่า แม้จะมีสัตว์ป่าที่รอดชีวิตจากเปลวเพลิงได้ แต่สัตว์ป่าเหล่านั้นก็ไม่ได้รอดไปได้ด้วยดี เพราะยังต้องเผชิญการขาดแคลนอาหาร ไร้ถิ่นอาศัยและหลบภัยจากนักล่า

ทั้งนี้ ในช่วงปลายปี ค.ศ.2019 และต้นปี ค.ศ.2020 ไฟป่าออสเตรเลียทำลายทุ่งไม้พุ่ม (bushland) และป่าที่เต็มไปด้วยกิ่งไม้แห้งเป็นพื้นที่มากกว่า 115,000 ตารางกิโลเมตรทั่วออสเตรเลีย และยังมีผู้เสียชีวิตจากเหตุไฟป่าอีกมากกว่า 30 ราย ส่วนบ้านเรือนของผู้คนถูกไฟป่าทำลายไปหลายพันหลัง

เหตุการณ์ไฟป่าออสเตรเลียที่เพิ่งผ่านไปนั้น เป็นฤดูกาลไฟป่าที่กินพื้นที่กว้างและยืดเยื้อที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของออสเตรเลีย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ให้เหตุผลว่าของรุนแรงของวิกฤตไฟป่านี้เป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change)

ลิลี ฟาน อีเดน (Lily van Eeden) นักวิทยาศาสตร์หัวหน้าทีมจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (University of Sydney) ระบุว่า การศึกษาก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ม.ค.ประเมินว่าไฟป่าได้คร่าสัตว์ไปหลายพันตัวในรัฐทางตะวันออกของนิวเซาท์เวลส์ที่ถูกไฟป่าทำลายรุนแรงที่สุด แต่การสำรวจล่าสุดที่เพิ่งเผยผลการศึกษาออกมานี้ เป็นการศึกษาครั้งแรกที่ครอบคลุมพื้นที่ไฟป่าทั่วแผ่นดินใหญ่

อย่างไรก็ตาม ผลจากการสำรวจยังอยู่ระหว่างการแปลผล โดยรายงานฉบับเสร็จสมบูรณ์จะเผยแพร่ในเดือนหน้า แต่ทีมนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้กล่าวว่า จำนวนสัตว์ 3 พันล้านตัวที่ได้รับผลกระทบจากไฟป่าก็ดูจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก

ทางด้าน เดอร์มอท์ โอกอร์แมน (Dermot O'Gorman) กรรมการผู้บริหารสาขาออสเตรเลียของกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (World Wide Fund for Nature) หรือ WWF ซึ่งเป็นคณะกรรมการรายงานการศึกษาครั้งนี้ กล่าวว่าระหว่างการค้นพบนั้นเป็นเรื่องน่าตกใจ และยังยากที่จะนึกถึงเหตุการณ์อื่นใดที่มีการฆ่าหรือกำจัดสัตว์ไปมากมายขนาดนี้

“เหตุการณ์นี้จัดเป็นหนึ่งในพิบัติภัยของสัตว์ป่าที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ปัจจุบัน” กรรมการผู้บริหารของ WWF สาขาออสเตรเลียกล่าว

สถานการณ์อันย่ำแย่ของโคอาลาระหว่างเกิดไฟป่าทำให้สื่อนานาชาติพุ่งความสนใจไปที่สถานการณ์อันเลวร้ายนี้ และเชื่อว่ามีโคอาลาหลายพันตัวต้องตายจากไฟป่า แต่รายงานของรัฐบาลเมื่อต้นปีนี้ระบุว่ายังมีสัตว์และพืชเฉพาะถิ่นอีก 100 สปีชีส์ที่สูญเสียถิ่นอาศัยไปกับเปลวไฟ ซึ่งทำให้เห็นภาพความสูญเสียมากกว่าที่คิดไว้

นักวิทยาศาสตร์ยังกล่าวด้วยว่า ภาวะโลกร้อนทำให้ฤดูร้อนของออสเตรเลียยาวนานขึ้น และยิ่งเพิ่มความอันตราย ขณะที่ฤดูหนาวก็สั้นลง ยิ่งทำให้เตรียมการป้องกันไฟป่าทุ่งพุ่มไม้ได้ยากยิ่งขึ้น

รายงานวิจัยครั้งนี้เกิดจากการรวมตัวกันศึกษาของทีมนักวิทยาศานตร์จากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (University of Sydney) มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (University of New South Wales) มหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล (University of Newcastle) มหาวิทยาลัยชาร์ลสสเติร์ต (Charles Sturt University) และกลุ่มอนุรักษ์นกเบิรืดไลฟ์ออสเตรเลีย (BirdLife Australia)

ฝูงปศุสัตว์เล็มหญ้าท่ามกลางหมอกควันจากไฟป่าที่เปลี่ยนสีท้องฟ้าเป็นสีแดง (AFP / Peter Parks)

ภาพชาวเมืองออสเตรเลียพยายามดับไฟป่า (AFP / Peter Parks)

ภาพเฮลิคอปเตอร์ขณะดับไฟป่าออสเตรเลียเมื่อช่วงปลายปี ค.ศ.2019 (AFP / William West)

ภาพทางอากาศเผยควันพวยพุ่งจากไฟป่าที่หุบเขาริชมอนด์ นิวเซาท์เวลส์ เมื่อช่วงปลายปี ค.ศ.2019 (AFP / Saeed Khan)


กำลังโหลดความคิดเห็น