รองโฆษกรัฐบาล ระบุนายกฯ ย้ำการแก้ปัญหาทำประมงผิดกฎหมาย เป็นวาระแห่งชาติ ครม.เคาะงบกลางฯ ปี 63 ให้กระทรวงเกษตรฯ เดินหน้าแก้ปัญหาอย่างบูรณาการ
วันนี้ (29 ก.ค.) น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ว่าในวาระพิจารณาโครงการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ที่เสนอโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงเรื่องนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องเสี่ยงโดนใบเหลืองจากสหภาพยุโรปอีก มาตรการใดที่ออกมาแล้ว หากกระทบต่อผู้ทำประมงพื้นบ้านหรือประมงพาณิชย์ รัฐบาลพร้อมรับฟังและให้การดูแล ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กระทรวงเกษตรฯ ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการโครงการการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย วงเงินทั้งสิ้น 171.60 ล้านบาท
ที่มาของโครงการนี้ สืบเนื่องจากทางการไทยได้มีการหารือระดับทวิภาคีกับสหภาพยุโรป และมีข้อเสนอแนะว่า การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ของไทย มีแนวโน้มที่จะไม่สามารถคงประสิทธิภาพได้ หากไทยไม่ดำเนินการอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง ซึ่งฝ่ายสหภาพยุโรปยังคงติดตามการดำเนินการของไทยในหลายประเด็นอย่างใกล้ชิด อาทิ กรอบกฎหมาย การบริหารจัดการกองเรือ และการบังคับใช้กฎหมาย มากไปกว่านั้นสหรัฐอเมริกาได้มีการออกระเบียบว่าด้วยการป้องกันการทำลายสัตว์ทะเลหายากและสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (Marine Mammal Protection Act : MMPA) จากการทำประมง ซึ่งหากไทยไม่มีการเตรียมพร้อม อาจส่งผลให้ไทยไม่สามารถส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปสหรัฐอเมริกาได้ในปี 2565
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการยกระดับการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของไทยให้มีประสิทธิภาพ และเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกา ในประเด็นเรื่องการทำลายทรัพยากรสัตว์ทะเลหายากและสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม กระทรวงเกษตรฯ จึงได้จัดทำโครงการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อ 1) ให้การทำประมงของไทยทั้งในน่านน้ำไทยและนอกน่านน้ำไทยเป็นไปอย่างถูกกฎหมาย มีการรายงานและมีการควบคุมตามมาตรฐานสากล 2) เพื่อต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายรวมถึงการควบคุมไม่ให้สินค้าประมงที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมายเข้ามาในห่วงโซ่การผลิต 3) เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้า รายได้ คุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำในการประกอบอาชีพของประมงพื้นบ้าน และ 4) เพื่อการอนุรักษ์และความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำ
น.ส.รัชดากล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินงานของโครงการนี้เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่างกรมประมง กรมเจ้าท่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสวัสดิการและคุ้มแรงงาน และองค์การสะพานปลา โดยร่วมกันทำงานในด้านต่างๆ ประกอบด้วย 1) ปรับปรุงการเก็บข้อมูลการทำประมงพาณิชย์และพื้นบ้าน ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดชายทะเล 2) การตรวจสอบความถูกต้องของการบริหารจัดการเรือ ที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ 3) การตรวจสอบ ติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมงของเรือประมงไทย 4) การพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ในระบบการตรวจสอบย้อนกลับ 5) การเตรียมความพร้อมในการป้องกันการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า ในประเด็นเรื่องการทำลายทรัพยากรสัตว์ทะเลหายากและสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม และ 6) การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในภาคประมงและการจัดหาแรงงานที่ถูกกฎหมาย ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 เดือน (กรกฎาคม-กันยายน 2563)