xs
xsm
sm
md
lg

ทีมโรงงานผลิตท่อและนักพัฒนาคว้าชัยแข่งขันใช้ IoTตอบโจทย์อุตสาหกรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เนคเทค-สวทช. จัดแข่งขัน Smart Factory IoT Challenge 2020 ยกระดับอุตสาหกรรมไทย ตอบโจทย์ในยุค Industry 4.0 ทีมชนะเลิศใช้อินเทอร์เน็ตดึงข้อมูลติดตามหอหล่อเย็นโรงงานผู้ผลิตท่อ

ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ด้วยการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และหน่วยงานพันธมิตร ร่วมจัดโครงการ Smart Factory IoT Challenge 2020 การแข่งขันที่จับคู่ผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมกับนักพัฒนาเพื่อนำเทคโนโลยี IoT มายกระดับกระบวนการภายในโรงงาน เตรียมความพร้อมสู่การก้าวเป็นโรงงานอัจฉริยะ

โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซ่าลาดพร้าว กรุงเทพฯ: 15 กรกฎาคม 2563 โครงการแข่งขัน Smart Factory IoT Challenge 2020 ที่จัดโดยเนคเทค-สวทช. ต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 2 มุ่งส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoT ไปใช้ให้เกิดประโยชน์และแก้ปัญหาจริงในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นการเตรียมความพร้อมภาคอุตสาหกรรมไทยสู่ยุค Industry 4.0 เพราะ IoT คือเทคโนโลยีที่จะมาช่วยบูรณาการข้อมูลต่างๆ ในภาคการผลิตเข้าด้วยกันเพื่อควบคุม ปรับปรุง หรือวางแผนการผลิตอย่างเหมาะสม สามารถสร้างคุณค่าให้กับกระบวนการผลิตและการบริการลูกค้าได้

โครงการแข่งขัน Smart Factory IoT Challenge 2020 ได้เริ่มดำเนินการเปิดรับสมัครโรงงานและนักพัฒนาที่สนใจตั้งแต่ปลายปี 2562 โดยในเดือนมกราคม 2563 โครงการฯ ได้คัดเลือกโรงงานที่มีโจทย์ชัดเจนน่าสนใจให้เหลือเพียง 9 โรงงาน และคัดสรรนักพัฒนาที่มีผลงานประสบการณ์เป็นที่ประจักษ์ให้เข้าสู่กิจกรรมการจับคู่ระหว่างโรงงานและนักพัฒนาเพื่อฟอร์มทีมแข่งขันและเริ่มต้นลงมือพัฒนาผลงาน โดยมีทีมผ่านรอบแรกทั้งสิ้น 9 ทีม เนคเทค-สวทช. สนับสนุนเงินทุนทีมละ 20,000 บาท

พร้อมทั้งมอบเครื่องมือพัฒนาซึ่งเป็นงานวิจัยของ เนคเทค-สวทช. ให้ทีมนำไปใช้ในผลงาน ได้แก่ แพลตฟอร์ม NETPIE IoT และอุปกรณ์ Universal Remote Terminal Unit (uRTU) นอกจากนี้ทีมที่ผ่านรอบแรกทั้งหมดยังได้รับการอบรมวิธีการใช้งานแพลตฟอร์ม NETPIE และอุปกรณ์ uRTU ในการสร้างระบบ IoT อีกด้วย

NETPIE (https://www.netpie.io) เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการเชื่อมต่ออุปกรณ์หรือแอปพลิเคชันด้วยเทคโนโลยี IoT มีฟีเจอร์ต่างๆ เช่น การเก็บข้อมูลเซนเซอร์ หน้าจอแสดงผล การแจ้งเตือน การจัดการอุปกรณ์และข้อมูล และอื่นๆ อีกมากมายที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้การพัฒนาอุปกรณ์หรือระบบ IoT กลายเป็นเรื่องง่าย รวดเร็ว ทั้งยังเสถียรและปลอดภัย

uRTU เป็นอุปกรณ์สำหรับตรวจวัดและสั่งการอุปกรณ์ได้หลายประเภท โดยสามารถเพิ่มหรือลดจำนวน Input/Output ด้วยการเพิ่มหรือลดโมดูลขยายของ uRTU ได้ตามความต้องการ และยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้อย่างหลากหลาย เช่น ระบบเฝ้าระวัง ระบบอ่านค่าข้อมูลเพื่อควบคุบการเปิด-ปิดอุปกรณ์ในโรงงาน และระบบอ่านค่าพารามิเตอร์ต่าง ๆ เพื่อส่งข้อมูลไปประมวลผลยัง Server

ทั้งนี้ เป็นระยะเวลา 6 เดือนมาแล้วที่ทีมผู้เข้าแข่งขันจะต้องฝ่าฟันอุปสรรคแสนสาหัสจากสถานการณ์โควิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเดินทาง การจัดหาอุปกรณ์ และการดิ้นรนปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของโรงงาน จนกระทั่งมาถึงวันนี้มีการกลั่นกรองคัดเลือกผลงานอีกถึง 2 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมการจากเนคเทค-สวทช. ได้เดินทางไปยังโรงงานเพื่อตรวจการทำงานของผลงานที่ติดตั้งใช้งานจริง มีทีมที่ยืนหยัดสามารถพัฒนาผลงานผ่านเข้ามาถึงรอบชิงชนะเลิศในวันนี้ทั้งสิ้น 7 ทีม คือ

1. ทีม BNSTH คู่กับ บริษัท นิธินัตถ์ เมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด 2. ทีม บนเมฆ คู่กับ บริษัท พีรพัฒน์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) 3. ทีม Robot of Things คู่กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที.เจ. ซัพพลาย 4. ทีม iCube คู่กับ บริษัท ป๊อบปูล่าร์ แพค จำกัด 5. ทีม HCRL2020 คู่กับ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) 6. ทีม Pied Piper คู่กับ บริษัท ไทยก้าวไกลกรุ๊ป จำกัด และ 7. ทีม Robot System คู่กับ บริษัท ซัพพลาย ไอคอน จำกัด

จากการแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศใช้รูปแบบ Pitching ปรากฏว่า ทีม Pied Piper เป็นทีมชนะเลิศ ทีม HCRL2020 เป็นทีมรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง และทีม iCube เป็นรองชนะเลิศอันดับสอง โดยคณะกรรมการกิตติมศักดิ์ประกอบด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานผู้ให้การสนับสนุนการแข่งขันคือ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และธนาคารกรุงเทพ ร่วมกับผู้บริหารและนักวิจัยทรงคุณวุฒิจากเนคเทค-สวทช.

รางวัลสำหรับทีมชนะเลิศ ในส่วนของโรงงานจะได้รับโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณ และนักพัฒนาจะได้รับโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 150,000 บาท

รางวัลสำหรับทีมรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ในส่วนของโรงงานจะได้รับโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณ และนักพัฒนาจะได้รับโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 80,000 บาท

รางวัลสำหรับทีมรองชนะเลิศอันดับสอง ในส่วนของโรงงานจะได้รับโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณ และนักพัฒนาจะได้รับโล่รางวัลและประกาศเกียรติคุณ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท

โครงการแข่งขัน Smart Factory IoT Challenge 2020 ได้รับความสนับสนุนจากหน่วยงานพันธมิตรคือ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท เน็กซ์พาย จำกัด และบริษัท กราวิเทคไทย (ไทยแลนด์) จำกัด






กำลังโหลดความคิดเห็น