xs
xsm
sm
md
lg

เชื้อดื้อยาทำให้สังคมไทยต้องแบกภาระ 1.3 แสนล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นางสาวตวงรัตน์ โพธะ นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารเภสัชกิจ (หลักสูตรนานาชาติ) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล (เจ้าของผลงานวิจัย)
นศ.ปริญญาเอก คณะเภสัชศาสตร์ ม.มหิดล วิจัยประเมินผลกระทบจากเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพด้านระบาดวิทยาและเศรษฐศาสตร์ พบสังคมต้องแบกภาระต้นทุน 134,500 ล้านบาท หวังนำผลการศึกษาขยายสู่แผนยุทธศาสตร์ชาติ

ปัญหาเชื้อดื้อยาเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลก ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพ คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของประชากรโลก เนื่องจากมีการใช้ยาต้านจุลชีพอย่างไม่เหมาะสม ทำให้เชื้อแบคทีเรียมีการปรับตัว จนทำให้ยาต้านจุลชีพที่มีใช้กันอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถรักษาโรคติดเชื้อที่เคยรักษาได้

ในขณะที่โควิด-19 ซึ่งกำลังแพร่ระบาดทั่วโลกนั้นเป็นเรื่องของไวรัส แต่ก็เป็นอีกประเด็นทางการแพทย์ เนื่องจากวิธีการรักษาโรคติดเชื้อที่เกิดจากแบคทีเรียและไวรัสมีความแตกต่างกัน แต่ก็มีความเกี่ยวเนื่องกัน คือ ถึงแม้จะมีการติดเชื้อไวรัสระหว่างการรักษา ก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ต้องรักษาตามอาการ ซึ่งหากติดเชื้อแบคทีเรียก็ต้องรักษาแบคทีเรีย และถ้าแบคทีเรียที่ติดเชื้อเกิดดื้อยาก็จะเป็นปัญหาในทำนองเดียวกัน

น.ศ.ตวงรัตน์ โพธะ นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาบริหารเภสัชกิจ (หลักสูตรนานาชาติ) คณะเภสัชศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล ได้วิจัย เรื่อง "การวิเคราะห์ภาระทางระบาดวิทยาและภาระทางเศรษฐศาสตร์ของปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในประเทศไทย" ซึ่งเป็นผลงานวิจัยที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้ารอบเสนอผลงานชิงรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น ประจำปี 2563 ของบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล

งานวิจัยดังกล่าวมีอาจารย์ที่ปรึกษาหลัก คือ รศ.ดร.เภสัชกรอาทร ริ้วไพบูลย์ ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และอาจารย์ที่ปรึกษาร่วม ได้แก่ ผศ.ดร.กำธร มาลาธรรม หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศ.ปีเตอร์ คอยเต (Professor Dr.Peter Coyte) จากจากสถาบันการจัดการและประเมินผลนโยบายสุขภาพ (Institute of Health Policy Management and Evaluation) วิทยาลัยสาารณสุข (School of Public Health) มหาวิทยาลัยโตรอนโต (University of Toronto) ประเทศแคนาดา

รศ.ดร.เภสัชกรอาทร ริ้วไพบูลย์ กล่าวแนะนำผลงานวิจัยของ นางสาวตวงรัตน์ โพธะ ในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาหลักว่า นักศึกษาได้ทำงานวิจัยวิทยานิพนธ์เพื่อศึกษาผลกระทบของโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลจากกลุ่มเชื้อแบคทีเรียสำคัญที่ดื้อยาต้านจุลชีพหลายขนาน โดยใช้ข้อมูลปฐมภูมิจากโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ ได้แก่ โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลด้านระบาดวิทยาและผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ให้กับผู้กำหนดนโยบายในการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์การจัดการการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทยต่อไป

หลักสูตรปริญญาเอกสาขาบริหารเภสัชกิจ ปัจจุบันได้เปลี่ยนชื่อเป็นสาขาเภสัชศาสตร์สังคมเศรษฐศาสตร์ และการบริหาร หลักสูตรนานาชาติ ก่อตั้งขึ้นในปี 2535 มีนโยบายให้นักศึกษาเลือกหัวข้อวิทยานิพนธ์จากปัญหาหรือโจทย์วิจัยของหน่วยงาน หรือประเทศของนักศึกษาเอง เนื่องจากมหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะเภสัชศาสตร์มีบทบาทสำคัญในการสร้างคนให้เป็น "ปัญญาของแผ่นดิน" เพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่แก่สังคมไทยและสังคมโลก ให้นักศึกษาได้สำเร็จการศึกษาออกไปเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพและคุณธรรม ใช้ความรู้ที่ได้รับไป สร้างประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติ

ด้าน น.ส.ตวงรัตน์ ได้กล่าวถึงผลงานวิจัยของตนว่า เป็นการศึกษาที่ศึกษาทั้งผลกระทบด้านระบาดวิทยา และผลกระทบด้านเศรษฐศาสตร์จากโรคติดเชื้อดื้อยา ที่เก็บข้อมูลปฐมภูมิ แล้วสร้างแบบจำลอง เป็นข้อมูลระดับประเทศ เพื่อใช้ในการวางแผนยุทธศาสตร์ชาติได้มีการเก็บข้อมูลปฐมภูมิจากโรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

นักวิจัยเลือกผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบคทีเรีย 5 ชนิดที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคติดเชื้อในโรงพยาบาล ได้แก่ A. baumannii, E. coli, K. pneumoniae, P. aeruginosaและ S. aureus และติดเชื้อที่ 3 อวัยวะสำคัญ ได้แก่ กระแสเลือด ทางเดินปัสสาวะ และทางเดินหายใจส่วนล่าง โดยเก็บข้อมูลลักษณะผู้ป่วยข้อมูลทางคลินิก การดูแลรักษา และต้นทุนจากฐานข้อมูลโรงพยาบาลและสัมภาษณ์ผู้ป่วยหรือญาติ เพื่อเก็บข้อมูลต้นทุนที่เกิดกับผู้ป่วยและครอบครัว ได้แก่ ค่ารักษาพยาบาลเพิ่มเติมที่อาจใช้บริการในสถานพยาบาลอื่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าจ้างผู้ดูแล และต้นทุนการเสียเวลาของผู้ป่วยและญาติผู้ดูแลผู้ป่วย

จากนั้นได้นำข้อมูลเหล่านี้ มาวิเคราะห์ด้วยแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ พบว่า ในปี 2555 ประเทศไทย มีผู้ป่วยติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพ 111,295 คน เสียชีวิต 48,258 คน และต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลนานขึ้น 123,000 วัน แต่หากสามารถป้องกันผู้ป่วยจำนวนนี้จากการติดเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพได้ จะสามารถลดภาระต้นทุนค่ารักษาพยาบาลลงได้ประมาณ 72,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ เป็นค่ายาต้านจุลชีพ 8,300 ล้านบาท เมื่อรวมต้นทุนที่เกิดกับผู้ป่วยและญาติ เป็นต้นทุนรวมของสังคมประมาณ 134,500 ล้านบาท

ข้อมูลเหล่านี้ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ให้เห็นผลกระทบขนาดใหญ่ของปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชีพ ซึ่งจะใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนการดำเนินการแก้ไขอย่างเป็นระบบของประเทศ

น.ศ.ตวงรัตน์ จะเสนอผลงานในกลุ่มที่ 3 วิทยาศาสตร์สุขภาพและวิทยาศาสตร์สุขภาพประยุกต์ ระดับปริญญาเอก ในวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 เวลา 13.30 – 15.00 น. ผ่าน Zoom ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียด และลงทะเบียนเพื่อเข้าฟังแบบออนไลน์ได้ที่ https://www.facebook.com/grad.mahidol สอบถาม email : veerachat.pan@mahidol.ac.th



นางสาวตวงรัตน์ โพธะ และคณะอาจารย์ที่ปรึกษา


กำลังโหลดความคิดเห็น