เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด โดย มูลนิธิการศึกษาเชล 100 ปี ภายใต้การบริหารจัดการของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเดินหน้ามอบทุนส่งเสริมการวิจัยสำหรับนักศึกษาปริญญาโท และ ปริญญาเอก ในสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิศกรรมศาสตร์ ปิโตรเคมี โลจิสติกส์ พลังงานทดแทน และทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 16 ทุน มูลค่ารวมกว่า 1,500,000 บาท
นับว่าตอกย้ำความตั้งใจของเชลล์ในการผลักดันงานวิจัยของนักศึกษาให้สามารถนำมาพัฒนาให้เกิดประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรม ส่งเสริมศักยภาพวงการนวัตกรรมและเทคโนโลยีไทย เพื่อสร้างประโยชน์ต่อภาคเศรษฐกิจของประเทศชาติต่อไป
ปนันท์ ประจวบเหมาะ ประธานกรรมการบริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ด้วยเจตนารมณ์ เติมสุขให้ทุกชีวิต เชลล์เชื่อเสมอว่าความสุขและความภูมิใจขององค์กรเกิดจากการมีส่วนช่วยในการมอบโอกาสให้แก่ผู้อื่น ซึ่งนอกเหนือจากนโยบายในการส่งมอบพลังงานสะอาด เพิ่มประสิทธิภาพ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เชลล์เชื่อว่าการสนับสนุนศักยภาพและทักษะบุคลากรนั้น ถือเป็นการมอบโอกาส ยกระดับคุณภาพชีวิต และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การมอบทุนการศีกษาในครั้งนี้ยังเป็นการผลักดันและสนับสนุนให้ผลงานของนักศึกษาสามารถนำมาพัฒนาเพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ ภาคสังคม รวมถึงประเทศชาติที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน”
ในปีนี้ ทุนสนับสนุนการวิจัยระดับบัณฑิตศึกษา มูลนิธิการศึกษาเชล 100 ปี ได้มอบให้กับนักศึกษาจำนวน 16 ทุน จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี โดยสนับสนุนทุนการวิจัยระดับปริญญาเอกเรื่องละไม่เกิน 200,000 บาท และระดับปริญญาโทเรื่องละไม่เกิน 100,000 บาท รวมทุนสนับสนุนทั้งสิ้นมูลค่ากว่า 1,500,000 บาท
สองผลงานวิจัยเด่น จากนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
นายนรพนธ์ วิเชียรสาร นักศึกษาระดับปริญญาเอก สาขาวิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า “ผลงานวิจัย ‘การสลายคอเลสเตอรอลในหลอดเลือดโดยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีพลาสมา’ เป็นการศึกษาการพัฒนาระบบพลาสมาเพื่อสร้างอนุมูลอิสระอนุพันธ์ออกซิเจนที่ว่องไวและศึกษาความยาวของโครโมโซมชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการสร้างดุลสมการรีดอกซ์ในเซลล์ ซึ่งหากการศึกษาการสลายคอเลสเตอรอลในหลอดเลือดผ่านการวิเคราะห์และพัฒนาระบบพลาสมานี้สามารถพัฒนาและทำการวิจัยออกมาได้สำเร็จ ก็อาจนำมาซึ่งการยืดอายุของมนุษย์ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้นานขึ้นได้ การได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากเชลล์ เป็นเสมือนหนึ่งกำลังใจสำคัญในการเดินหน้าและพัฒนาผลงานของตัวเอง อีกทั้งยังช่วยสร้างความมั่นใจว่าผลงานวิจัยที่เรากำลังทำอยู่นั้นได้ดำเนินมาอย่างถูกทาง และมีความสามารถที่จะสร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้จริงๆ”
ด้านนางสาวอริสรา เบ็ญหมัด นักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาเคมีประยุกต์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า “ผลงานวิจัย ‘เม็ดเชื้อเพลิงอัด น้ำมันชีวภาพและถ่านชีวภาพจากชานอ้อย’ เกิดจากการเล็งเห็นความสำคัญของชานอ้อยหลังหีบคั้นน้ำ ที่ไม่มีมูลค่าและเป็นหนึ่งในปัญหาขยะในภาคใต้ โดยการวิจัยนี้ได้มีการนำเอากระบวนการเคมีความร้อนอย่างไพโรไลซิส มาประยุกต์ใช้ในการต่อยอดชานอ้อยให้เป็นเม็ดเชื้อเพลิงอัด น้ำมันชีวภาพและถ่านชีวภาพ เนื่องจากสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย และเป็นการใช้ประโยชน์จากชีวมวลได้สูงสุด ซึ่งหากงานวิจัยนี้เป็นรูปธรรม เม็ดเชื้อเพลิงอัด น้ำมันชีวภาพและถ่านชีวภาพจากชานอ้อยจะเป็นอีกหนึ่งพลังงานการเผาไหม้ที่สะอาดและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ที่น่าสนใจ สะดวกแก่การขนส่ง และสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย ต้องขอขอบคุณเชลล์ที่เล็งเห็นความสำคัญและช่วยสนับสนุนงานวิจัยนี้ ในฐานะเจ้าของงานวิจัย จะมุ่งมั่นพัฒนาผลงานชิ้นนี้ให้สามารถนำมาใช้ได้จริง และสร้างประโยชน์ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป”
สำหรับ 16 ผลงานวิจัยที่ได้รับทุนในครั้งนี้ได้ผ่านการพิจารณาคัดเลือกโครงการวิจัยตามหลักเกณฑ์ 4 ประการ ได้แก่ โอกาสของผลงานที่ก่อให้เกิดองค์ความรู้หรือนวัตกรรมใหม่ ผลงานสามารถนำไปเผยแพร่และตีพิมพ์ในวารสารระดับนานาชาติได้ อีกทั้งยังมีโอกาสในการประสบผลสำเร็จในระยะเวลาที่กำหนด และสามารถสร้างผลกระทบต่อวงการวิชาการในเชิงพาณิชย์และในเชิงสังคมได้อย่างประสบความสำเร็จ
ผู้ที่สนใจรับทุนการศึกษาจาก มูลนิธิการศึกษาเชล 100 ปี สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ กองกิจการนักศึกษาของทุกมหาวิทยาลัย หรือ ที่เว็บไซต์ของ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม www.mhesi.go.th.
รายชื่อนักศึกษาที่ได้รับทุน
นักศึกษาระดับปริญญาเอก
1.นางสาวโชติกา โกศัลวิจิตร จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี
2.นายกฤษฎา มูลป่า จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
3.นายนรพนธ์ วิเชียรสาร จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นักศึกษาระดับปริญญาโท
4.นางสาวเยาวเรศ ไม้เกตุ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ
5.นางสาวอริสรา เบ็ญหมัด จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
6.นางสาวรจนา นพตะนา จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
7.นางสาวจินต์จุฑา สายสาคเรศ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
8.นางสาวกาญจนา ทายะบวร จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี
9.นางสาวศุจิพร ประสพทรัพย์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี
10.นางสาวปริตรา มั่นเหมาะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี
11.นางสาวนฤภร ตระกูลเดชะ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี
12.นางสาวศุณัฐชา สลัดทุกข์ จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
13.นางสาวมาริสา มาแตง จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี
14.นางสาวรสสุคนธ์ กสิกิจวรกุล จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี
15.นายฉัตรชัย มีนา จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี
16.นายวิศขุกร เดชฤดี จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าธนบุรี