xs
xsm
sm
md
lg

หยุดเผา! ไม่เพิ่มฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 “มิตรผล” รับซื้อใบอ้อยตันละ 1 พันบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น - กลุ่มน้ำตาลมิตรผลไม่หนุนเกษตรกรเผาอ้อย เพิ่มปริมาณฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ประกาศโรงงานทุกแห่งในภาคอีสานและภาคกลางรับซื้อใบอ้อยสดตันละ 1,000 บาท เผยรอบปีผลิต 2561/62 รับซื้อ138,162 ตัน ขณะที่ฤดูหีบนี้ตั้งเป้าซื้อถึง 2 แสนตัน

การเผาอ้อยและการเผาตอซังของเกษตรกรเป็นอีกหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหามลภาวะทางอากาศ ทำให้หลายพื้นที่ในต่างจังหวัดมีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 เกินค่ามาตรฐาน ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน หลายหน่วยงานพยายามรณรงค์ให้เกษตรกรงดการเผาอ้อยก่อนตัดส่งขายโรงงาน

ล่าสุด บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ได้ออกประกาศให้พี่น้องเกษตรกรหยุดเผา โดยทางโรงงานพร้อมจะรับซื้อใบอ้อยและฟางข้าวในราคาตันละ 1,000 บาท/ตัน (ณ หน้าโรงงาน) เปิดรับซื้อ ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม - 30 เมษายน 2563 ในภาคอีสาน ส่งขายได้ที่โรงงานน้ำตาลมิตรภูหลวง จ.เลย, โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์, โรงงานน้ำตาลมิตรภูเขียว จ.ชัยภูมิ และโรงงานน้ำตาลมิตรภูเวียง จ.ขอนแก่น


นายไพฑูรย์ ประภาถะโร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการประจำกลุ่มงานอ้อย บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด เปิดเผยว่า กลุ่มมิตรผลตระหนักดีว่าสาเหตุที่เกษตรกรไทยต้องเผาอ้อยก่อนส่งเข้าโรงงานนั้นเพราะมีปัญหาขาดแคลนแรงงาน และต้องการลดต้นทุนค่าจ้างแรงงาน ทางบริษัทฯ จึงส่งเสริมให้ชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดด้วยการรับซื้อใบอ้อย เพื่อเป็นแรงจูงใจไม่ให้เผาอ้อย ที่สำคัญเกษตรกรเองจะได้ประโยชน์สูงสุดในระยะยาว ทั้งในด้านของรายได้ และการอนุรักษ์ดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ในการทำไร่อย่างยั่งยืน

“เราส่งเสริมชาวไร่อ้อยรายเล็กที่ใช้แรงงานในครอบครัวตัดอ้อย ให้สามารถตัดอ้อยสดและบรรทุกอ้อยมาส่งโรงงาน ผ่านสถานีขนถ่ายที่ให้บริการรับซื้ออ้อย และส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่ม รวมแปลงเพื่อให้สามารถใช้เครื่องจักรกลการเกษตรในการดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ ของการปลูกอ้อยจนถึงเก็บเกี่ยว อย่างเช่น รถตัด เพื่อช่วยชาวไร่อ้อยลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด” นายไพฑูรย์กล่าว และว่า


ขณะที่ชาวไร่อ้อยรายใหญ่ทางบริษัทฯ ก็ส่งเสริมให้ปลูกอ้อยตามหลักเกษตรสมัยใหม่ในรูปแบบมิตรผลโมเดิร์นฟาร์ม เน้นการใช้เทคโนโลยี การบริหารจัดการ และการเตรียมแปลงอ้อยเพื่อรองรับการใช้รถตัดอ้อย และเครื่องจักรกลการเกษตรแบบต่างๆ ตั้งแต่ปลูก บำรุงต้นอ้อย จนถึงเก็บเกี่ยว ช่วยลดการใช้แรงงาน ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพ ปัจจุบัน มิตรผลมีรถตัดอ้อยให้บริการชาวไร่กว่า 400 คัน โดยรถตัด 1 คัน ทดแทนการใช้แรงงานคนได้ 250-300 คน

อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เกษตรกรนำอ้อยที่ผ่านการเผาใบมาขายให้กับโรงงานนั้น ทางบริษัทฯ ก็ใช้มาตรการหักค่าอ้อยไฟไหม้ 30 บาทต่อตัน แล้วนำไปเพิ่มเป็นค่าซื้ออ้อยสด ทั้งยังได้บริหารคิวส่งอ้อยสดในโรงงานให้ชาวไร่สามารถส่งอ้อยสดได้เร็วเป็นพิเศษอีกด้วย

นายไพฑูรย์กล่าวย้ำว่า อยากให้พี่น้องชาวไร่อ้อยตระหนักถึงประโยชน์ของใบอ้อย นอกจากใช้คลุมดิน ป้องกันวัชพืช รักษาความชื้นและย่อยสลายเป็นอินทรีย์วัตถุให้กับดินแล้ว ยังสามารถเก็บรวบรวมมาขายให้โรงไฟฟ้าชีวมวล ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่ม ลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบำรุงดิน ช่วยอนุรักษ์ดินและสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี ทำให้สามารถทำเกษตรกรรมได้อย่างยั่งยืน


“เราส่งเสริมให้ชาวไร่คู่สัญญาในทุกโรงงาน ตัดอ้อยสดและนำใบอ้อยส่วนหนึ่งไว้คลุมดิน ส่วนหนึ่งนำมาขายให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มจากใบอ้อย รัฐบาลเองก็มีนโยบายส่งเสริมเกษตรกรทำไร่แบบดูแลสิ่งแวดล้อมชัดเจน ซึ่งในรอบปีผลิต 2561/2562 โรงงานมิตรผลรับซื้อใบอ้อยทั้งหมด 138,162 ตัน” นายไพฑูรย์กล่าว และบอกอีกว่า ในปีการผลิต 2562/2563 นับตั้งแต่เริ่มเปิดหีบในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โรงงานน้ำตาลในกลุ่มมิตรผล 6 แห่ง คือ สุพรรณบุรี สิงห์บุรี ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ เลย รับซื้อ ใบอ้อยได้แล้วกว่า 97,826 ตัน (เก็บใบอ้อยเฉลี่ยได้ราว 700 กิโลฯ ต่อพื้นที่ 1 ไร่) โดยมีเป้าหมายรับซื้อใบอ้อยในฤดูหีบนี้ประมาณ 200,000 ตัน

สำหรับใบอ้อยและฟางข้าวที่รับซื้อจากเกษตรกรนั้นจะนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชีวมวลของกลุ่มมิตรผล เสริมกับเชื้อเพลิงหลักที่ใช้อยู่แล้วในปัจจุบัน คือ ชานอ้อย โดยใบอ้อย จะผ่านกระบวนการอัดเป็นก้อนส่งโรงไฟฟ้าในแต่ละพื้นที่ซึ่งจะมีกระบวนการย่อยใบอ้อยอีกครั้ง ก่อนลำเลียงเข้าสู่กระบวนการผลิตไฟฟ้าชีวมวลต่อไป ส่วนฟางข้าวและแกลบสามารถนำเข้ากระบวนการผลิตไฟฟ้าได้ทันทีโดยไม่ต้องย่อยแต่อย่างใด


กำลังโหลดความคิดเห็น